กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
ผ้าลายอย่างผ้าพิมพ์ลายอันงดงามของกรุงศรีอยุธยา

วันที่ 25 พ.ค. 2564
 

     ผ้าลายอย่างจะเป็นผ้าทรงสำหรับกษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ชั้นสูง ข้าราชสำนัก ส่วนสามัญชนจะนุ่งได้ก็ต่อเมื่อได้รับพระราชทานตามบรรดาศักดิ์เท่านั้น ไม่สามารถซื้อหามานุ่งได้ตามอำเภอใจ ผ้าลายอย่าง เป็นผ้าที่ใช้ในราชสำนักในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นผ้าฝ้ายที่เขียนหรือพิมพ์ลายตามอย่าง ออกแบบโดยราชสำนักสยามและส่งไปพิมพ์ที่อินเดียเพราะเป็นแหล่งผลิตผ้าทอที่มีคุณภาพเยี่ยมในสมัยนั้น คำว่า "ลาย” ในสมัยอยุธยา หมายถึง "ผ้าพิมพ์ลาย” ส่วนคำว่า "อย่าง” หมายถึง ผ้าตัวอย่าง ผ้าลายอย่างจึงหมายถึง ผ้าที่ราชสำนักคิดค้นลายขึ้นมา วาดลายลงบน ผ้าให้อย่าง ซึ่งหมายถึง ผ้าตัวอย่างและด้วยสมัยนั้นอยุธยาไม่มีเทคโนโลยีเรื่องการพิมพ์ผ้า จึงต้องส่งไปพิมพ์ลายที่อินเดีย ส่วนมากลายที่พิมพ์จะเป็น

     ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายก้านแย่ง หรือลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายก้านแย่ง หรือลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง ในสมัยกรุงศรีอยุธยามักเป็นลายเทพพนม และก้านแย่งเทพรำ ซึ่งชนิดของผ้าลายอย่างมี ๔ ชนิด ได้แก่ ๑. ผ้าพื้นสี (กลางผืนผ้าเป็นสีใดสีหนึ่ง เช่น สีแดง สีขาว) และชายผ้ามีลายกรวยหลายชั้น ๒. ผ้าท้องลาย (กลางลายผืนผ้าทำเป็นลวดลายเต็มทั้งผืน) และชายผ้ามีลายกรวยหลายชิ้น ๓. ผ้าท้องลายและชายผ้ามีลายกรวยชั้นเดียว ๔. ผ้าท้องลายและเชิงชายผ้ามีลายกรวยรอบ ส่วนผ้าลายนอกอย่าง เป็นลายที่ช่างอินเดียคิดขึ้นมาเพื่อเลียบแบบผ้าลายอย่างของราชสำนักสยาม เนื่องจากเห็นว่าผ้าลายอย่างนี้ขายดีมากจึงคิดลวดลายเลียนแบบขึ้นมา โดยการผสมผสานลวดลายของทางอินเดียเพิ่มเข้าไปแต่พยายามปรับลายให้เข้ากับลายไทย แล้วส่งกลับมาขายที่อยุธยาซึ่งดูคล้ายลายของเรา จึงเรียกว่า "ลายนอกอย่าง” ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ข้าหลวงในวังและชาวบ้านที่มีฐานะนิยมซื้อหามานุ่งกัน ผ้าลายอย่างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ก็ยังใช้กันอยู่บ้างแต่ไม่ได้รับความนิยมมากเหมือนสมัยอยุธยา เพราะในสมัยรัชกาลที่ ๕ ข้าราชการเริ่มแต่งกายเป็นสากลมากขึ้น เหมือนเปลี่ยนชุดยูนิฟอร์มใหม่ ยูนิฟอร์มเก่าจึงกลายเป็นของสะสมเป็นมรดกตกทอด บ้างถวายวัด บ้างก็เปื่อยเสื่อมสภาพไปตามเวลา อีกทั้งขั้นตอนการทำก็ยุ่งยาก ทำให้ผ้าลายอย่างมีให้เห็นน้อยมากส่วนใหญ่จะพบเพียงในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น ปัจจุบันผ้าลายอย่างมีให้เห็นบ้างเช่นในละครบุพเพสันนิวาสที่เคยโด่งดังเป็นพุแตก เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ที่ละครได้ออกอากาสตอนแรก โดยรวมเนื้อเรื่องเป็นการย้อนอดีตไปยังสมัยกรุงศรีอยุธยา

     ในสมัยขุนหลวงนารายณ์ที่มั่งคั่งและรุ่งเรืองอย่างถึงที่สุด เพราะแม้แต่อาภรณ์ที่ใช้นุ่งห่มกายก็ยังมีการคิดกระบวนลายที่ซับซ้อน อีกทั้งขั้นตอนกว่าจะเป็นผ้าลายอย่างก็ไม่ง่าย เพราะแม้ผ้าชนิดนี้จะเป็นผ้าในราชสำนักของกรุงศรีอยุธยาที่ออกแบบลายโดยช่างชาวกรุงศรีอยุธยา ทว่าได้เลือกใช้ฝ้ายเนื้อดีที่สุดจากเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ มาทอเป็นผ้าพื้นสีขาว จากนั้นจึงส่งไปพิมพ์ลายที่ประเทศอินเดีย ก่อนจะนำกลับมาใช้ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา โดยเสื้อผ้าที่นางเอกอย่าง เบลล่า ราณี แคมเปน รับบท ‘แม่หญิงการะเกด’ซึ่งเป็นธิดาอดีตเจ้าเมืองพิษณุโลก ที่ผ้านุ่งส่วนใหญ่เป็นผ้าลายอย่างอันสวยงามวิจิตรบรรจง อาทิ ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง ลายดอกไม้ร่วง ลายสมปักริ้ว ลายประจำยามเล็ก เป็นต้น ซึ่งสวมใส่ออกมาได้อย่างสวยงาม เป็นการปลุกกระแสผ้าไทยให้กลับมาเป็นที่นิยมมีชีวิตชีวาอีกครั้ง ไปไหนมาไหนมีแต่ผู้คนที่ลุกขึ้นมาใส่ผ้าไทยแม้กระทั่งพนักงานบริษัท หน่วยงานราชการ จนทำให้พ่อค้าแม่ค้าลืมตาอ้าปากได้เพราะผ้าไทยขายดิบขายดี เนื่องจากคนนิยมหาซื้อผ้าไทยมาใส่กันทั่วประเทศ
 
....................................................
 
ขอขอบคุณที่มา www.silpa-mag.com/uncategorized/article_16379 ,
https://tinyurl.com/3h8842dn, www.gotoknow.org/posts/660446 , Facebook ภูษาผ้าลายอย่าง
ภาพ : Facebook ภูษาผ้าลายอย่าง
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)