
ผ้ามีบทบาทสำคัญในราชสำนักของไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ จากหลักฐานพบว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาการค้าขายระหว่างประเทศมีความเจริญรุ่งเรืองมาก ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ต่างมีนโยบายทางด้านการค้ากับพ่อค้าชาวต่างชาติ โดยมีสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ เครื่องถ้วย เครื่องหอม อาวุธยุทโธปกรณ์ ใบชา และหนึ่งในสินค้าที่สำคัญ ได้แก่ "ผ้า" เนื่องจากผ้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศสมัยนั้น เป็นเครื่องบ่งบอกฐานะและอำนาจของผู้ครอบครอง จึงทำให้เกิดรสนิยมการใช้ของฟุ่มเฟือยในกลุ่มชนชั้นปกครอง และสาเหตุที่สำคัญ คือ การเห็นวัฒนธรรมการแต่งกายของแต่ละชนชาติที่เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยา จึงนำผ้าที่เห็นว่ามีความแปลกตา และสวยงาม มาปรับใช้กับรูปแบบ เครื่องแต่งกายในราชสำนัก โดยผ้าที่มีความสำคัญสำหรับการนำมาตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกายในราชสำนักสมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้แก่ ผ้าเยียรบับ ซึ่งนำเข้ามาจากประเทศอินเดียและเปอร์เซีย เพราะประเทศเหล่านี้เป็นแหล่งผลิตสินค้าผ้าที่ใหญ่ที่สุดที่นำมาค้าขายในกรุงศรีอยุธยานั้นเอง และผ้าลวดลายมีความงดงามอีกทั้งมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น
ผ้าเยียรบับ บางทีเรียกว่า ส้ารบับ ซึ่งสันนิษฐานว่ามาจากภาษาเขมร คือ ซ่าระบับ หมายถึง ผ้าที่ทอด้วยทองแล่งกับไหม แต่มีไหมน้อยกว่าทองแล่ง คำดังกล่าวมาจากคำว่า Zar ซึ่งแปลว่า ทอง และคำว่า Baft ที่แปลว่า ผ้าฝ้าย หรือผ้าไหม ดังนั้นคำว่า Zarbaft จึงหมายถึง ผ้าที่ทอยกดอกเงินหรือทอง โดยมีลักษณะการทอ คือ การนำแผ่นเงินกาไหล่ทองมาแผ่นบางๆ หุ้มเส้นไหม ซึ่งเรียกกันว่า ไหมทอง นำไปทอกับไหมสียกเป็นลวดลาย ดอกดวงเด่นชัดด้วยทอง จัดเป็นผ้าชั้นดี ซึ่งผ้าเยียรบับมี ๒ ชนิด ได้แก่ ผ้าเยียรบับมีเชิงใช้เป็นผ้านุ่ง และผ้าเยียรบับไม่มีเชิง ใช้ตัดเสื้อและทำเครื่องใช้ เป็นที่นิยมมากในหมู่ขุนนางและเจ้านายชั้นสูง ในสมัยกรุงศรีอยุธยาพบหลักฐานว่าในครั้งที่คณะราชทูตจากประเทศฝรั่งเศสได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีการบันทึกไว้ในเอกสารจดหมายเหตุฟอร์บัง ว่า "พระนารายน์มหาราชซง เผยพระบัญชรสเด็ดออกไห้เราเฝ้า พระมหากสัตรพระองค์นี้ ซงพระมาลายอดแหลมคล้ายกันกับหมวกยอดที่เราเคยไช้กันไนประเทสฝรั่งเสสไนกาลก่อน แต่ริมไม่กว้างกว่าหนึ่งนิ้ว พระมาลานั้นมีสายรัดทำด้วยไหมทาบไต้พระหนุ ซงฉลองพระองค์เยียระบับสีเพลิงสลับทอง สอดพระแสงกริดไว้ที่รัดพิตรอันวิจิตรงดงาม และซงพระธำมรงค์อันมีค่าทุกนิ้วพระหัถ”
จากข้อมูลดังกล่าวทำให้ทราบว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าเยียรบับ สีแดงแสดงให้เห็นว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้นิยมนำผ้าเยียรบับใช้ตัดเย็บฉลองพระองค์ของพระมหากษัตริย์ส่วน ขุนนางในราชสำนักกรุงศรีอยุธยากำหนดให้ใช้ผ้าเยียรบับตัดเย็บเป็นผ้านุ่ง ตามหลักฐานที่ปรากฏพบว่า ผ้านุ่งจะใช้ผ้าที่ทอด้วยทองแล่งหรือเงินแล่ง ดังนั้นผ้าที่มีลักษณะตรงกับเอกสาร คือ ผ้าเยียรบับ อัตลัด ผ้าเข้มขาบ และผ้าตาด ซึ่งการแต่งกายด้วยผ้านุ่งเยียรบับของ ขุนนางจะใช้ในยามที่จะต้องเฝ้าพระมหากษัตริย์๖ ทั้งนี้ขุนนางจะต้องแต่งกายตามยศที่พระมหากษัตริย์พระราชทาน หรือฐานันดรส่วนบุคคลเท่านั้น โดยบังคับไว้ในกฎมณเฑียร
แต่ในสมัยกรุงธนบุรีบ้านเมืองไม่ได้ว่างจากศึกสงคราม ทำให้ในสมัยนี้ราชสำนักเน้นการฟื้นฟูสุขภาพจิตใจของราษฏรและพระพุทธศาสนาเป็นหลักมากกว่าที่จะพัฒนาด้านอื่นๆ ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นยังคงนำรูปแบบราชสำนักที่สืบทอดมาจากกรุงศรีอยุธยา โดยนำแบบของวัฒนธรรมและประเพณีที่คุ้นเคยนำมาปฏิบัติต่อในสมัยรัตนโกสินทร์ ในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๑ ไม่ปรากฏการนำผ้าเยียรบับใช้ตัดเย็บฉลองพระองค์สำหรับพระมหากษัตริย์ แต่ยังคงกำหนดให้ใช้ผ้าเยียรบับสำหรับตัดเย็บเครื่องแต่งกายสำหรับขุนนาง ส่วนในสมัยรัชการที่ ๒ พระมหากษัตริย์ไม่นิยมนำผ้าเยียรบับนำมาตัดเย็บฉลองพระองค์ แต่นิยมผ้าชนิดอื่นสำหรับตัดเย็บเครื่องแต่งกายในราชสำนัก ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ค่อยทรงโปรดฉลองพระองค์ ทรงฉลองพระองค์ที่เห็นสมควรเท่านั้น ส่วนขุนนาง กำหนดเครื่องแต่งกายให้ตัดเย็บด้วยผ้าเข้มขาบ และผ้าอัตลัด สำหรับสวมใส่เพื่อเข้าเฝ้าและใช้ในงานพระราชพิธี ในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นช่วงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองทางด้านวัตถุและขนบธรรมเนียมการแต่งกายให้ใช้เสื้อผ้าอาภรณ์ต่างๆ ให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ จึงกำหนดให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ สวมเครื่องแต่งกาย โดยตัดเย็บด้วยผ้าเยียรบับผ้าเข้มขาบและผ้าอัตลัดสำหรับในพระราชพิธีสำคัญๆต่อมาในสมัยรัชกาลที่๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีนโยบายให้นำผ้าอินเดียที่มีราคาสูงสำหรับใช้ในการแต่งกายในราชสำนัก โดยเฉพาะการใช้ผ้าเยียรบับนำมาตัดฉลองพระองค์และเครื่องแต่งกายของเจ้านายชั้นสูง และในช่วงปลายของรัชกาลที่ ๕ ได้มีสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศมากขึ้น จึงโปรดให้แบบฉลองพระองค์เปลี่ยนแปลงไปตามแบบยุโรปมากขึ้น และทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการปรับปรุงเครื่องแต่งกายเข้าเฝ้าของขุนนาง ทั้งนี้ การใช้ผ้าเยียรบับคงใช้ตัดเสื้ออยู่แต่แบบของเสื้อได้ทรงโปรดให้เปลี่ยนแปลงไปตามแบบยุโรปมากยิ่งขึ้นจนกระทั้งถึงรัชกาลที๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทำให้การแต่งกายในราชสำนักค่อยๆ เปลี่ยนแปลงจากการใช้ผ้าที่มีราคาสูง เนื่องจากกรรมวิธีการทอต้องประกอบด้วยเส้นเงิน เส้นทอง จึงเปลี่ยนมาใช้ผ้าที่มีลักษณะเรียบง่ายขึ้น เช่น ผ้าไหม เป็นต้น
กล่าวได้ว่าในราชสำนักไทยในอดีต ผ้าเยียรบับ เป็นผ้าที่นิยมใช้ตัดเย็บเครื่องแต่งกายของชนชั้นสูงได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ เจ้านายชั้นสูง ขุนนาง เนื่องจากเนื่องจากเป็นผ้าที่มีลวดลายที่วิจิตร งดงามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์จนกระทั่งรัชกาลที่ ๘ ได้เปลี่ยนแปลงการแต่งกายในราชสำนักมาใช้ผ้าที่มีลักษณะเรียบง่ายขึ้น ปัจจุบันการใช้ผ้าเยียรบับยังคงมีอยู่ในราชสำนัก แต่เป็นการใช้ในรูปแบบอื่นๆ เช่น ใช้เป็นผ้าคลุมพระแท่นทรงกราบ คลุมพระราชอาสน์ ผ้าปูโต๊ะ สำหรับพระมหากษัตริย์และพระราชินี เป็นต้น
........................................................................................................
ภาพ : หนังสือผ้าเขียนทอง : พระภูษาทรงบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์สยามสำนักพิมพ์มติชน