กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “ไม้ตะพดต่างกับไม้เท้าอย่างไร”

วันที่ 17 พ.ค. 2564
 

      แม้ว่า "ไม้ตะพด” และ "ไม้เท้า” จะมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกันจนทำให้หลายคนสับสน แต่แท้จริงแล้วต่างมีวัตถุประสงค์การใช้ไม่เหมือนกัน เพราะ "ไม้เท้า” ถือเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ชนิดหนึ่งที่ใช้เพื่อช่วยในการเดินของผู้ป่วย ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจนเดินไม่สะดวก ใช้ได้ทั้งชายและหญิง ส่วน"ไม้ตะพด” เป็นสิ่งที่ชายไทยสมัยก่อนนิยมถือประจำมือ เพื่อประโยชน์ใช้สอยต่างๆ เช่น ใช้เพื่อเป็นอาวุธป้องกันตัว ใช้คุมวัวควายไปเลี้ยง หรือใช้ไล่สัตว์ร้ายอย่างงู เป็นต้น ที่สำคัญ"ไม้ตะพด” ยังถือว่าเป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นลูกผู้ชาย และแสดงให้เห็นถึงฐานะทางสังคมของผู้นั้นได้อีกด้วย ข้อแตกต่างอีกประการหนึ่ง คือ ส่วนใหญ่ไม้เท้าจะยาวกว่าไม้ตะพด เพราะไม้เท้ามีไว้เพื่อพยุงตัวรับน้ำหนักนั่นเอง
 
     คำว่า "ตะพด” นั้น มีผู้อนุมานว่าน่าจะมาจากชื่อไม้ไผ่พันธุ์หนึ่งที่นิยมมาทำเป็นไม้ตะพด ลักษณะ ของไม้ตะพดจะเป็นไม้ท่อนกลม ยาวประมาณ ๘๐-๑๐๐ ซม. ไม้ที่นิยมนำมากลึงเป็นไม้ตะพดได้แก่ ไม้รวก ไม้มะเกลือ และไม้ไผ่บางพันธุ์ อาทิ ไม้ไผ่เปร็ง ซึ่งจะเลือกไม้ที่แก่จัด มีข้อดี และเนื้อแน่นตัน เพื่อให้ได้น้ำหนักของไม้ โดยทั่วไปไม้ตะพดแบบพื้นบ้านจะเป็นไม้เกลี้ยงไม่มีลวดลาย มักจะใช้ด้ายดิบทำเป็นบ่วงคล้องข้อมือผู้ถือตรงปลายไม้ ส่วนไม้ตะพดที่บรรดาเจ้าขุนมูลนาย บุคคลระดับสูง หรือผู้มีอันจะกินสมัยก่อนใช้ มักไม่ใช้ในเชิงอาวุธ แต่มักจะถือเสมือนเครื่องแต่งกายอย่างหนึ่ง ดังนั้น ส่วนหัวตะพดจึงมักเลี่ยมด้วยวัสดุมีค่าที่บ่งบอกฐานะหรือบรรดาศักดิ์ของผู้ถือ เช่น ทอง เงิน นาค งาฝักมุก หยก และกระดูกสัตว์ เป็นต้น
 
     นอกจากการตกแต่งหัวไม้ตะพดดังกล่าวแล้ว ยังมีเรื่อง "โฉลก” ซึ่งเป็นข้อกำหนดทั้งส่วนดีและส่วนร้าย ที่ผู้มีประสบการณ์ในเรื่องไม้ตะพดได้บัญญัติไว้ สำหรับเลือกไม้ตะพดที่มีสิริมงคลไว้ใช้ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายโฉลก แต่จะขอยกมาเพียงตัวอย่างเดียวคือ โฉลกที่ว่า "กูตีมึง มึงตีกู” โฉลกนี้ใช้นับข้อบนไม้ตะพด โดยให้ขึ้นต้นที่หัวไม้ตะพดข้อแรกว่า "กูตีมึง” ข้อที่สองว่า "มึงตีกู” แล้วว่าซ้ำสลับกันไปจนหมดข้อสุดท้ายที่ปลายไม้ ถ้าตกที่ "กูตีมึง” จัดว่าดี แต่ถ้าตก "มึงตีกู” ย่อมไม่ดี ให้เลือกหาซื้อหรือทำใหม่
 
     ในสมัยก่อนขึ้นชื่อว่าลูกผู้ชายจะต้องมีไม้ตะพดถือติดมือกันทุกคน โดยเฉพาะการเดินทางไปต่างถิ่น เช่น ไปงานบวช งานแต่ง หากไปมือเปล่า เจ้าถิ่นจะคิดว่ามาลองดีหรือท้าทาย อาจจะถูกทำร้ายให้เจ็บตัวได้ง่ายๆ นอกจากนี้ ไม้ตะพดยังถือเป็นอาวุธที่ใช้แทนดาบ เนื่องจากสมัยนั้นถือว่าดาบเป็นอาวุธร้ายแรง ชาวบ้าวจะถือดาบออกไปนอกบ้านเรือนหรือถือดาบเปลือยฝักในที่สาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควรมิได้ ด้วยมีพระราชกำหนดห้ามไว้ ยกเว้นพวกทหาร ตำรวจที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ต่อมาเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป คนที่อยู่ในเมืองหลวงและหัวเมืองใหญ่เกิดตั้งข้อรังเกียจว่า พวกผู้ชายที่ถือไม้ตะพดติดมือเป็นพวกนักเลงหัวไม้ เป็นอันธพาล ผู้ชายตามเมืองใหญ่จึงหันไปนิยมถือ "ไม้ถือ” ซึ่งก็คือ ไม้เท้าที่สั่งจากต่างประเทศมาแทน ไม่ก็ทำไม้ถือขึ้นใช้เองจากเนื้อไม้ที่มีลายต่างๆในตัว เช่น ไม้แก้ว เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ต่อมา "ไม้ถือ” จึงได้รับความนิยมเป็นเครื่องประดับที่ช่วยส่งเสริมฐานะและหน้าตาของผู้ถือให้ดูเป็นสุภาพบุรุษตามคุณค่าและราคาแห่งไม้ถือนั้นๆ ซึ่งก็คงเหมือนกับการใช้สินค้าแบรนด์เนมในสมัยนี้
 
     อันที่จริงคำว่า "นักเลง” ในสมัยก่อนตามความหมายเดิมหมายถึง คนจริงหรือ คนที่เอาจริงเอาจังต่อเรื่องหนึ่งๆ เช่น นักเลงพระ นักเลงปืน เป็นต้น คล้ายกับว่า "เซียน” ในยุคนี้ที่แปลว่าผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ส่วนคำว่า "นักเลงหัวไม้” ซึ่งแรกๆน่าจะหมายถึง ลูกผู้ชายที่นิยมและรู้เรื่องไม้จำพวกตะพด และคมแฝกเช่นเดียวกับพวกนักเลงพระ นักเลงปืน แต่ต่อมากลับกลายเป็นคำเรียกพวกเกกมะเหรกเกเรไปได้นั้น เดาว่าน่าจะมาจากคนที่ใช้ไม้ตะพด หรือไม้คมแฝกบางกลุ่มชอบมีเรื่องตีรันฟันแทงกัน จนสร้างความเดือดร้อนไปทั่ว จึงเป็นที่รังเกียจและกลายมาเป็นคำที่มีความหมายลบในที่สุด
 
     ปัจจุบันแม้ "ไม้ตะพด” และ "ไม้ถือ” จะยังคงหาได้อยู่ แต่ก็มิได้ถูกใช้เป็นอาวุธหรือเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายเช่นอดีตที่ผ่านมา อีกทั้งบางส่วนยังกลายเป็น "ของสะสม” ของผู้ที่นิยมของเก่าในสมัยนี้ แต่ทั้งไม้ตะพดและไม้ถือ ต่างก็ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงค่านิยมของหนุ่มไทยสมัยก่อน ซึ่งใครจะรู้ว่าในอนาคต มันอาจกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งก็ได้
 
......................................................
 
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ภาพ :  www.etsy.com 
ภาพ : Facebook : กิตติเดช อ้นภา
ภาพ : Facebook : ไม้ตะพด ไม้มงคล ไม้ลายสวย
ภาพ : www.flickr.com
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)