กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่า…ตอน “ตำนานพระเจ้าห้าพระองค์”

วันที่ 7 พ.ค. 2564
 

     มีตำนานพื้นบ้านที่แพร่หลายอยู่ในทุกภูมิภาคของไทย บ้างก็เรียกกันว่า ตำนานพญากาเผือก ในภาคเหนือบางถิ่นเรียกว่า อานิสงส์ผางประทีป แม่กาเผือก พระเจ้าห้าตน ตำนานเวียงกาหลง ตำนานดอยสิงคุตตระ เป็นต้น ภาคอีสานบางถิ่น เรียกว่ากาเผือก ตำนานพระธาตุเชิงชุม ภาคกลางบางถิ่นเรียกว่า กาขาว ต้นเหตุลอยกระทง ปัญจพุทธพยากรณ์ เป็นต้น และในภาคใต้บางถิ่น เรียกว่า พระเจ้าสามเณร

 
     สาระสำคัญของตำนานพระเจ้าห้าพระองค์ คือการเล่าเรื่องประวัติของพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ ในภัทรกัปป์หรือกัปป์ปัจจุบัน แบ่งเป็น พระอดีตพุทธเจ้า ๓ พระองค์ คือ พระกุกกุสันธะ พระโกนาคม และพระกัสสปะ พระปัจจุบันพุทธเจ้า ๑ พระองค์ คือ พระโคตมะ และพระอนาคตพุทธเจ้า ๑ พระองค์ คือ พระศรีอาริยเมตไตรย
 
     ตำนานพระเจ้าห้าพระองค์จะพรรณนาประวัติของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ตั้งแต่ก่อนเป็นพระพุทธเจ้าจนถึงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์นี้ ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เคยเกิดมาเป็นพี่น้องกันในพระชาติหนึ่ง โดยมาเกิดเป็นลูกแม่กาเผือกซึ่งได้ออกและฟักไข่ ๕ ฟอง ไว้ที่ต้นไม้ใหญ่ ภายหลังเกิดพายุใหญ่ พัดรังกากระจัดกระจายไป ไข่กาทั้ง ๕ ฟองตกลงมา จากต้นไม้นั้น และถูกพายุพัดไหลไปตามนํ้า แม่กาเผือกเห็นดังนั้นเข้าใจว่าลูกตาย จึงตรอมใจตาย และไปเกิดเป็นท้าวพกาพรหม ส่วนไข่ทั้ง ๕ ฟองนั้น ก็มีแม่สัตว์ต่างๆ เก็บได้และนำไปเลี้ยงเป็นบุตร
 
     แม่สัตว์ที่เก็บไข่ไปเลี้ยง ได้แก่ แม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โค และแม่สิงห์ เมื่อครบกำหนด ไข่ก็แตกออกมาเป็นมนุษย์เพศชาย ๕ คน ต่อมาเมื่อทารกทั้ง ๕ เจริญวัยขึ้น ก็ออกบวชเป็นฤๅษีอยู่ในป่า ครั้งนั้น ร้อนไปถึงพระอินทร์ จึงทรงให้พระวิษณุกรรมนิมิตอาศรมแก่ฤาษีทั้ง ๕ ตนนั้น วันหนึ่งพระฤๅษีทั้ง ๕ ตนเดินทางมาพบกันโดยบังเอิญ จึงได้ทราบว่าเป็นพี่น้องกัน เมื่อทราบเรื่องแล้วต่างก็พากันรำลึกถึงพระคุณแม่กาเผือก และประสงค์จะพบแม่กาเผือก ครั้งนั้นท้าวพกาพรหมจึงลงมาบอกว่าให้เอาฝ้ายไปทำเป็นตีนกา ใส่ในผางหยอดนํ้ามัน แล้วจุดไฟบูชา กุศลนั้นจึงจะไปถึงแม่ และเป็นการแทนพระคุณแม่กาเผือกได้ด้วย
 
     ตำนานพระเจ้าห้าพระองค์ นับเป็นตำนานพุทธศาสนาของไทยที่สร้างสรรค์ขึ้นในวัฒนธรรมไทย เป็นภูมิปัญญาในการเชื่อมความสัมพันธ์ในฐานะพี่น้องระหว่างพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ นอกจากนี้ ยังมีบทบาทอยู่ในสังคมมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง อาทิ การเป็นต้นกำเนิดประเพณีต่างๆ เช่น ประเพณีไหลเรือไฟ ประเพณียี่เป็ง ประเพณีไต้ประทีป ประเพณีทานตุง อีกทั้งยังมีบทบาทในทางการเมือง หรือการนำไปใช้อ้างอิงในกฎหมายตราสามดวง และมีบทบาทเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระศรีอาริย์อีกด้วย
 
     ตำนานพระเจ้าห้าพระองค์ เป็นหนึ่งในวรรณกรรมพื้นบ้านเรื่องสำคัญ ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๓ ในสาขาวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา จัดอยู่ในประเภทประวัติศาสตร์บอกเล่า เพื่อให้ได้รับการสงวนรักษาและสืบสานต่อไป
 
     ที่มา : เว็บไซต์กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (ich.culture.go.th)
     ภาพ : http://nitandham.blogspot.com/2016/07/5.html
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)