
ผ้าปูมหรือผ้าโฮลเป็นผ้าไหมมัดหมี่ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายเขมร ในพื้นที่อีสานใต้ประกอบด้วย จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ ที่ยังมีการทอและการใช้ผ้าโฮลในชีวิตประจำวัน สำหรับผ้ามัดหมี่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและเป็นเอกลักษณ์ คือ ลายผ้าไหมมัดหมี่โฮล จังหวัดสุรินทร์ "โฮล” เป็นคำในภาษาเขมรซึ่งเป็นชื่อเรียกกรรมวิธีการผลิตผ้าไหมประเภทหนึ่งที่สร้างลวดลายขึ้นด้วยเทคนิควิธีการมัดย้อมเส้นไหมให้เกิดสีสันและลวดลายต่างๆก่อนนำไปทอเป็นผืนผ้า ผ้าไหมมัดหมี่โฮลเปรียบเสมือนงานศิลปะ ที่ศิลปินในอดีตได้จินตนาการและคิดค้นขึ้นมา สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เป็นภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่าจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผ้าโฮลเป็นผ้าพิเศษ ที่จะถูกนุ่งในวันสำคัญ ๆ เท่านั้น เช่น นุ่งในพิธีสำคัญ งานพิธีมงคลต่างๆ ในสมัยโบราณนั้น ผ้าโฮลเปาะห์ (ลายโฮลผู้ชาย ) เรียกว่า ผ้าปูมเขมร เป็นผ้าขนาดใหญ่ ความยาวประมาณ ๔ หลา (๓.๖๐ ม) ราชสำนักใช้เป็นผ้าพระราชทานให้กับข้าราชบริพารตามตำแหน่ง เพื่อให้ขุนนางนุ่งเป็นโจงกระเบนของผู้ชาย ซึ่งจะพระราชทานให้ตามยศ อาทิ สมปักปูม สมปักกรวยเชิง สำหรับข้าราชการชั้นสูง ผ้าสมปักริ้ว ผ้าสมปักลาย สำหรับข้าราชการระดับเจ้ากรมและปลัดกรม ผ้าสมปักล่องจวนที่มีพื้นที่สีขาวสำหรับพราหมณ์นุ่ง ลายนิยมมัดย้อมเพื่อทอนั้นได้แก่ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายก้านแย่ง ลายนาคเกี่ยวและลายอื่นๆอีกมากมาย เมื่อทอเสร็จจะเป็นผ้าที่งดงามมาก
มัดหมี่โฮลเป็นผ้าไหมมัดหมี่ที่ทอจากเส้นไหมน้อยที่มีขนาดเล็กละเอียด โดยใช้ฟืมหรือฟันหวี ๔๒ นิ้วเป็นผ้ามัดหมี่ ๓ ตะกอ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาในการสร้างสรรค์ลายผ้า ๒ ลายด้วยการมัดหมี่ในครั้งเดียว ได้แก่ ผ้าโฮลเปราะย์ ของผู้ชาย และ ผ้าโฮลสะไรย์ของผู้หญิง โดยเมื่อนำมาทอเป็นผ้าโฮลสะไรย์ จะใช้วิธีการดึงลายให้เกิดลวดลายอีกแบบหนึ่งและเพิ่มองค์ประกอบของลวดลายเพิ่มเข้าไปซึ่งทำให้แตกต่างจากลายโฮลเปราะห์ ที่เป็นการอำพรางลายผ้าโฮลแบบของผู้ชายเอาไว้ รูปแบบลายมัดหมี่โฮลเหมือนสายน้ำไหล ซึ่งตามภาษาท้องถิ่นนั้น โฮล แปลว่าน้ำไหล ลายของผืนผ้า มีลักษณะเป็นลายริ้ว คล้ายก้านไผ่ และใบไผ่ คั่นด้วยเส้นไหมหางกระรอก มีความหมายว่า ความกลมเกลียวในหมู่คณะ วิธีการมัดหมี่ผ้าโฮลนิยมมัดหมี่ ๒๑ ลำ ซึ่งการมัดหมี่เพียงหนึ่งลาย สามารถทอได้ถึง ๔ แบบด้วยกัน ได้แก่ ผ้าโฮลเปราะห์ (ลายโฮลผู้ชาย) ผ้าโฮลสะไรย์ (ลายโฮลธรรมดา หรือ โฮลผู้หญิง) ผ้าโฮลเกียรติและผ้าโฮลปะนะ ในการค้นลำมัดหมี่ มัดหมี่โฮลแต่ละลำจะอิสระต่อกัน โดยใช้เทคนิคการทอแบบพิเศษคือการทอผ้าให้ลายเฉียงขึ้น เรียกว่า ปะน๊ะ ส่วนการมัดย้อมจะต้องให้ครูทอผ้ามาสอนวิธีการมัดย้อมเสียก่อนเพราะถือว่าเป็นผ้าครูที่จะต้องผ่านกระบวนการครอบครูเสียก่อนและมีการมัดย้อมหลายครั้งละเอียดทุกขั้นตอน สำหรับสีสันที่ย้อมเส้นไหมจะนิยมใช้สีธรรมชาติที่แสดงเอกลักษณ์ของพื้นถิ่น สีหลักบนพื้นผ้าเป็นสีแดงเข้มที่ย้อมมาจากครั่ง ผสมผสานด้วยสีย้อมธรรมชาติอื่น ๆ ทั้งหมด ๓ สี ได้แก่ เหลือง แดง น้ำเงิน มาผสมให้ได้ ๕ สี คือ เหลือง แดง น้ำเงิน ม่วง (จากการผสมน้ำเงินกับแดง) และ เขียว (จากการผสมเหลืองกับน้ำเงิน) โดยย้อมสีแดงที่ได้จากครั่งเป็นอันดับแรก ตามด้วยสีเหลืองจากแก่นเขหรือแกแล และย้อมสีน้ำเงินด้วยครามเป็นลำดับสุดท้าย ในบางครั้งอาจจะมีการใช้สีย้อมธรรมชาติอื่น ๆ ที่พบได้ในท้องที่ เช่น สีดำได้จากผลมะเกลือ สีเขียวเหลืองได้จากเปลือกประโหด ส่วนใหญ่เนื้อผ้าด้านหนึ่งมักเป็นสีอ่อน อีกด้านหนึ่งเป็นสีเข้มกว่า อันเนื่องมาจาก ใช้ลายขัด ๓ ตะกอในการทอ ไม่ได้ทอด้วยลายขัด ๒ ตะกอแบบทั่วไป
ปัจจุบัน ผ้าโฮลเปราะห์ แทบหาคนผลิตไม่ได้และไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างอีกต่อไป คำว่าโฮล ในปัจจุบันนั้นแทบจะมีความหมายตกไปอยู่ที่โฮลสะไรย์ (โฮลสตรี) เกือบทั้งหมด ดังนั้นคำว่า โฮล โดดๆ ในภาษาเขมรสุรินทร์จึงมีความหมายเฉพาะเจาะจงแค่ผ้าโฮลลายริ้วที่สตรีใช้นุ่งเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีคำเรียกอื่นๆอีก อาทิ โฮลปันเตื๊อด(บรรทัด) โฮลปะนะ โฮลอันลูย เป็นต้น