
ในสมัยที่ พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ ทรงปรารภถึงพระเทวทัต ผู้แสดงตนเสมอพระองค์ ได้ตรัสอดีตนิทานมายกตัวอย่างให้เห็นชัดๆว่า....
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญาราชสีห์ อาศัยอยู่ในถ้ำทอง ณ ป่าหิมพานต์ วันหนึ่ง ได้ออกจากถ้ำทองไปหาอาหารล่ากระบือใหญ่ได้ตัวหนึ่ง กินเนื้อแล้วจึงไปดื่มน้ำที่สระแห่งหนึ่ง ในระหว่างทางที่เดินกลับถ้ำ ได้พบสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่ง เจ้าสุนัขจิ้งจอกเข้ามาขออาสาเป็นผู้รับใช้พญาราชสีห์ด้วยความกลัวตาย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาสุนัขจิ้งจอกจึงได้กินเศษเนื้อที่เหลือจากราชสีห์อย่างอิ่มหนำสำราญ มันมีหน้าที่ขึ้นยอดเขาไปดูสัตว์ที่จะเป็นอาหาร แล้วกลับลงมาบอกพระยาราชสีห์ว่า
"ข้าพเจ้าอยากกินเนื้อสัตว์ตัวนั้น นายท่านจงแผดเสียงเถิด " พญาราชสีห์ก็จะไปจับสัตว์ตัวนั้นมาเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์อะไรก็ตามหรือแม้กระทั่งช้าง
ครั้นเวลาผ่านไปหลายปี สุนัขจิ้งจอก เกิดกำเริบคิดการใหญ่ ว่า "อันตัวเราก็เป็นสัตว์ มี ๔ เท้าเหมือนกัน เหตุใดต้องให้ผู้อื่นเลี้ยงอยู่ทุกวันเล่า นับแต่นี้เป็นต้นไป เราจะฆ่าช้างเป็นอาหารกินเนื้อเอง แม้แต่พญาราชสีห์ก็ยังอาศัยเราบอกว่า นายขอรับเชิญท่านแผดเสียงเถิด เท่านั้น ก็จึงฆ่าสัตว์ต่างๆได้ ต่อแต่นี้ เราจะทำอย่างพญาราชสีห์บ้าง" จึงได้เข้าไปบอกความต้องการของตนต่อพญาราชสีห์
แม้จะถูกพญาราชสีห์พูดเยาะเย้ยว่า "เป็นไปไม่ได้" แต่ยังคงตามคงเซ้าซี้กวนใจอยู่ พญาราชสีห์เมื่อไม่อาจห้ามปรามได้ จึงรับคำยอมให้เจ้าสุนัขจิ้งจอกเข้าไปนอนในที่ของตน ส่วนตัวพญาราชสีห์ไปคอยเฝ้าดูช้างตกมันที่เชิงเขา เมื่อพบจึงกลับมาบอกสุนัขจิ้งจอกว่า "จิ้งจอกเอ๋ย เชิญแผดเสียงเถิด"
สุนัขจิ้งจอกออกจากถ้ำทอง สลัดกาย มองทิศทั้ง ๔ หอนขึ้นสามคาบ วิ่งกระโดดเข้างับช้างหวังที่ก้านคอช้าง กลับพลาดไปตกที่ใกล้เท้าช้าง ช้างจึงยกเท้าขวาขึ้นไปเหยียบหัวจิ้งจอก จนหัวกะโหลกแตกเป็นจุน แล้วเอาเท้าคลึงร่างของมันทำเป็นกองไว้แล้วเยี่ยวรดข้างบน ร้องกัมปนาทเข้าป่าไป พญาราชสีห์เห็นเช่นนั้นแล้ว จึงกล่าวคาถานี้ว่า
" มันสมองของเจ้าทะลักออกมา กระหม่อมของเจ้าก็ถูกทำลาย ซี่โครงของเจ้า ก็หักหมดแล้ว วันนี้ เจ้าช่างรุ่งโรจน์เหลือเกิน "
นิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า..
"อย่าคิดทำอะไรที่เป็นไปไม่ได้ เกินกำลังความสามารถของตนเอง”
นอกจากจะไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการกลับส่งผลเสียหายร้ายแรง แทนที่จะรุ่งโรจน์กลับกลายเป็นรุ่งหริ่ง เขาทำนองสำนวนที่ว่า "แมงเม่าบินเข้ากองไฟ” คือ คนที่หลงสิ่งลวงตา มองเห็นแต่ด้านดี จึงวิ่งเข้าไปหา โดยไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอันตรายแก่ตนเหมือนแมงเม่าที่ชอบแสงไฟสวยงามจึงบินเข้าไปตายในกองไฟ ฉะนั้น ก่อนที่จะลงมือทำอะไรควรคิดใคร่ครวญ ใช้เหตุและผล ประเมินความเป็นไปได้ก่อนที่จะลงมือทำอะไร นั่นเอง
ที่มา : สุนัขจิ้งจอกอยากเป็นผู้นำ หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๑ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม เว็บไซต์ธรรมะไทย.org