
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานของไทยได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งวัฒนธรรมการทอผ้ามัดหมี่ ซึ่งหลายพื้นที่ยังคงอนุรักษ์เทคนิคการทอแบบมัดหมี่และสืบทอดลวดลายโบราณไว้มิให้สูญหาย ซึ่งมีการทอผ้ามัดหมี่ในหลายจังหวัดของภาคอีสาน อาทิ จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร สกลนคร อุดรธานีและนครราชสีมา เป็นต้นคำว่า "มัดหมี่”เป็นภาษาอีสาน ใช้เรียกผ้าทอชนิดหนึ่งที่ใช้เทคนิคการมัดย้อมในการสร้างลวดลายโดยการนำเชือกไปมัดด้ายหรือไหมเป็นเปลาะๆจากนั้นนำไปย้อมสีตามที่ต้องการ ก่อนจะนำมาทอเป็นลวดลายต่างๆตามที่คิดไว้ ซึ่งจะแตกต่างจากการมัดย้อมปกติทั่วไปที่เกิดจากการมัดย้อมผ้าพื้นขาวหรือผ้าสีพื้นที่ทอสำเร็จแล้ว การสร้างลวดลายจึงมีความคมชัด ในขณะเดียวกันก็สามารถมัดย้อมลายที่มีความถนัด มีสีสัน และมีขนาดของลายตลอดไปทั้งผืน
การมัดหมี่สามารถทำได้ทั้งเส้นด้ายและเส้นไหม แต่สำหรับผ้ามัดหมี่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางอย่างผ้ามัดหมี่อำเภอชนบทจังหวัดขอนแก่นใช้เส้นไหมเป็นสำคัญเพราะมีขนาดเล็กกว่าเส้นฝ้ายและการติดสียากกว่าทำให้สามารถมัดลายที่มีความละเอียดและหลากสีได้ ผ้ามัดหมี่ที่ดีนั้นจึงพิจารณาได้จากขนาดของลาย ความคมชัดของลาย และจำนวนสีที่ใช้ในแต่ละผืน เพราะว่ากระบวนการทอนั้นผู้ทอจะต้องสร้างลวดลายด้วยการมัดย้อมสีเส้นพุ่งก่อนการนำไปทอ หากลายมัดย้อมมีขนาดเล็กช่างทอต้องใช้ความอุตสาหะและความชำนาญในการมัดด้วยเส้นเชือกที่มีขาดเล็กลงและแน่นขึ้นการย้อมสีก็เช่นกัน ผ้าที่กำหนดให้ใช้สีมากย่อมมีกระบวนการที่ยากตามไปด้วย การเล่นสีของผ้านั้นผู้ทอจะต้องวางแผนในการสร้างลวดลายเพราะจะต้องย้อมสีเข้มไปสู่สีอ่อนด้วยด้ายชุดเดียวกัน ดั้งนั้นผ้ามัดหมี่ที่มีสีแตกต่างกันจากสีของลวดลายยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งเห็นถึงความรู้ความเชี่ยวชาญของผู้ทอมากขึ้นเท่านั้น เมื่อย้อมสีเส้นแล้วก็จะนำไปทอกับเส้นยืนซึ่งผู้ทอจะต้องควบคุมความต่อเนื่องของการทอเมื่อนำผ้าไปทอ เนื่องจากการมัดด้ายนั้นมัดเป็นกลุ่ม ด้ายแต่ละกลุ่มจะมีส่วนหัวด้ายที่ทำให้ด้ายมีความยาวต่างกัน เมื่อนำไปทอผู้ทอจะต้องปรับแนวของเส้นด้ายให้มีความต่อเนื่องกันคล้ายกับการต่อจิ๊กซอว์ให้มีลายผสานกัน ความคมชัดของลายจึงแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจและความชำนาญของผู้ทอที่สร้างลวดลายขึ้นนั้นเอง
สำหรับผ้าทอที่มีชื่อเสียงที่สุดของอำเภอชนบทคือ ผ้าไหมมัดหมี่ ซึ่งมีจุดเด่น คือความสวยงาม มีลวดลายละเอียดแตกต่างจากที่อื่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะที่บ่งบอกความเป็นผ้าไหมมัดหมี่ชนบท คือ ลาย และเทคนิคการทอผ้าที่มีการสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ เป็นลายต้นแบบที่เก่าแก่ของผ้าทอเมืองขอนแก่น คือ ลายหมี่กงลายขันหมากเบ็งและลายขอพระเทพหรือลายเชิงเทียน และเทคนิค คือการทอ ๓ ตะกอ ซึ่งเลียนแบบได้ยากทำให้ผ้าไหมเมืองขอนแก่นเป็นที่ต้องการของตลาด และได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดในเวทีต่างๆ เป็นประจำ ทั้งในเวทีระดับชาติหรือระดับนานาชาติปัจจุบันอำเภอชนบทคือศูนย์รวมผ้าไหมที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดขอนแก่น มีร้านค้าผ้าไหมกว่า ๕๐ ร้านโรงงานทอผ้าขนาดใหญ่กว่า ๑๐ โรงงานนอกจากนี้ยังมีผ้าไหมมัดหมี่ที่ขึ้นชื่อและมีเอกลักษณ์อีกหลายจังหวัดในภาคอีสาน ได้แก่ ผ้าไหมบ้านเขว้า อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ รองลงมาได้แก่อำเภอจัตุรัสและอำเภอเมือง สำหรับผ้ามัดหมี่ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดชัยภูมิ คือ หมี่ร่าย หมี่หอประสาท หมี่ฟองน้ำ ลักษณะการทอผ้าจะมีความประณีตกว่าหลายท้องที่ ในประเทศไทยและจังหวัดบุรีรัมย์ก็มีการทอผ้าไหมแทบทุกพื้นที่ของจังหวัด แต่ที่มีทอกันมากจนสามารถนำออกจำหน่ายในท้องตลาดได้คือที่อำเภอนาโพธิ์ ซึ่งมีกลุ่มทอผ้าไหมที่เข็มแข็ง กลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มนี้มีสมาชิกถึง ๑๕๐ คน นอกจากผลิตเพื่อจำหน่ายทั่วไปแล้วยังส่งไปให้ศูนย์ศิลปาชีพอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีผ้าไหมจากจังหวัดสุรินทร์ ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นด้านความประณีตในกรรมวิธีการผลิต ที่ทำให้เนื้อผ้าไหมมีความเรียบสม่ำเสมอ สวยงาม นุ่ม น่าสัมผัสเป็นเงาเวลาสวมใส่เย็นสบาย ชาวสุรินทร์เชื้อสายเขมรยังมีศิลปะการมัดย้อมที่แตกต่างจากจังหวัดอื่นๆมากคือ การมัดเป็นรูปสัตว์ รูปคน และรูปสัญลักษณ์อื่นๆ เช่น นครวัตร พนมรุ้ง ฯลฯ อีกทั้งสามารถทอผ้ามัดหมี่ชั้นสูงอันเป็นเครื่องราชบรรณาการ เมื่อครั้งประเทศเขมรสมัยเป็นเมืองขึ้นของไทยเคยนำมาถวายพระเจ้าแผ่นดินสยามอยู่เสมอ และผ้ามัดหมี่ชนิดดังกล่าวยังกลายเป็นเครื่องแต่งกายเพื่อแสดงถึงบรรดาศักดิ์ของขุนนางสมัยนั้นอีกด้วย ผ้าชนิดนั้นคนไทยเรียกว่าผ้า "สมปักปูม” หรือผ้าปูมเป็นผ้าที่สวยงามมากลายที่นิยมมัดย้อมคือ ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายก้านแย่ง ลายนาคเกี่ยวและลายอื่นๆอีกมากมาย
...................................................................
ขอบคุณที่มา :หนังสือ สานด้ายเป็นลายศิลป์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม , ผ้าไหมพื้นบ้าน โดย ศิริ ผาสุก, เบิ่งซิ่นกินแซ่บ ธนาคารกรุงเทพและhttps://qsds.go.th/wpcontent/uploads/2017/pdf/KnowledgeSilk.pdf