
ในสมัยพุทธกาล มีหนุ่มลูกเศรษฐีคนหนึ่งไม่อยากแต่งงาน แต่ขัดพ่อแม่ไม่ได้ เลยยื่นสเปกว่าที่เมียว่าต้องงามแบบ "เบญจกัลยาณี" เท่านั้น ถึงจะยอมแต่งด้วย ข้างพ่อแม่ก็ใช่ย่อยเชิญพราหมณ์ที่เชี่ยวชาญด้านสตรีมาปรึกษาหารือว่า ผู้หญิงงามแบบที่ลูกชายว่ามีหรือไม่ พราหมณ์ตอบว่ามี มิคารเศรษฐี แห่งเมืองสาวัตถีก็เลยส่งพวกพราหมณ์ไปเสาะหาสาวในสเปกให้บุตรชายคือ ปุณณวัฒนกุมาร
สาวงามแบบ "เบญจกัลยาณี" อย่างที่ปุณณวัฒนกุมารประสงค์จะแต่งงานด้วยนั้น หมายถึง สตรีที่มีลักษณะงาม ๕ ประการ ซึ่งสมัยโน้นคงหากันมิใช่ง่ายๆ เพราะเป็นความงามตามธรรมชาติ หรือต้องบอกว่าสั่งสมบุญมาก่อน ลักษณะดังกล่าว ได้แก่
๑.ผมงาม คือ มีผมเหมือนหางนกยูง ดำสลวยเป็นเงางาม เมื่อสยายออกจะทิ้งตัวลงมาถึงชายผ้า
๒.เนื้องาม คือ มีเหงือกและริมฝีปากงาม ปากแดงเหมือนผลตำลึงสุก และเรียบสนิทมิดชิดดี
๓.ฟันงาม คือ ขาวเหมือนสังข์ และเรียบเสมอเหมือนเพชรเรียง
๔.ผิวงาม คือ มีผิวละเอียด ถ้าผิวดำก็ดำสม่ำเสมอเหมือนดอกบัวเขียว ถ้าขาวก็ขาวเหมือนดอกกรรณิการ์
๕.วัยงาม คือ งามทุกวัย แม้จะคลอดบุตรแล้ว ๑๐ ครั้ง ก็ยังดูสาวพริ้งตลอด
แม้สาวงามดังกล่าวฟังดูจะหาได้ยาก แต่ก็ไม่พ้นความพยายามของพวกพราหมณ์ที่เที่ยวแสวงหาไปยังเมืองต่างๆ จนได้พบ "นางวิสาขา” ที่เมืองสาเกต ขณะที่นางพาบริวารหญิงมาเล่นน้ำที่ท่าน้ำ ซึ่งดูจากรูปลักษณ์ภายนอกแล้วต้องตามตำราอิตถีลักษณะทุกประการ บังเอิญเวลานั้นเกิดฝนตกหนัก บริวารหญิงเหล่านั้นพากันวิ่งหนีหลบฝน แต่นางวิสาขากลับเดินช้าๆตามไป ทำให้เนื้อตัวเปียกปอนไปหมด พราหมณ์ทั้งหลายเห็นดังนั้นก็เกิดความสงสัย กอปรกับอยากเห็นลักษณะฟันของนาง จึงได้ถามถึงสาเหตุที่ไม่วิ่งหลบฝน นางจึงตอบว่ามีชนอยู่ ๔ พวก ถ้าวิ่งแล้วจะดูไม่งาม ได้แก่ ๑.พระราชาผู้ทรงประดับด้วยเครื่องอาภรณ์พร้อมสรรพ ๒.บรรพชิตผู้ครองผ้ากาสาวพัสตร์ ๓.ช้างทรง ที่ประดับด้วยเครื่องคชาภรณ์ และ ๔.สตรี เพราะนอกจากจะดูไม่งามแล้ว ยังอาจพลาดพลั้งหกล้มบาดเจ็บหรือพิการ ทำให้พ่อแม่เสียใจได้ เหล่าพราหมณ์ได้ฟังดังนั้นก็เห็นชัดถึงสติปัญญาอันชาญฉลาดของนาง และเมื่อสืบปูมหลัง ก็ยิ่งเห็นถึงความไม่ธรรมดา เพราะนางมาจากตระกูลร่ำรวยไม่แพ้กัน พ่อคือ ธนญชัยเศรษฐี (บุตรคนโตของเมณฑกเศรษฐี) ส่วนแม่คือ นางสุมนาเทวี(ธิดาอนาถบิณฑิกเศรษฐี) เมื่ออายุ ๗ ปี ปู่ได้มอบหมายให้นำบริวาร ๕๐๐ คน ไปต้อนรับพระพุทธเจ้า พอพระองค์ได้ทรงแสดงธรรม
นางวิสาขาและบริวารทั้งหมดก็บรรลุโสดาบัน ด้วยรูปสมบัติ คุณสมบัติที่เพียบพร้อมดังกล่าว จึงได้มีการสู่ขอและแต่งงานกันต่อมา นางวิสาขา แต่งงานเมื่ออายุ ๑๖ ปี มีบุตรชายหญิงรวม ๒๐ คน ครั้นลูกแต่งงานต่างก็มีลูกอีกคนละ ๒๐ คน เมื่อหลานแต่งงานก็มีลูกอีกคนละ ๒๐ คน สุดท้ายลูกหลานเหลนทั้งหลายนับรวมกันได้กว่า ๘,๐๐๐ คน ด้วยนางเป็นผู้มีวัยงาม แม้จะอายุถึง ๑๒๐ ปีแล้ว ก็ยังดูสาวราวกับอายุ ๑๖ ปี เมื่อนั่งอยู่กับลูก หลาน เหลน แทบจะมองไม่ออก ยกเว้นเวลาลุกนั่งที่จะลำบากเช่นคนสูงวัยทั่วไป (ที่ลุกโอย นั่งโอย) นางวิสาขาได้ชื่อว่าเป็นมหาอุบาสิกาผู้ยิ่งใหญ่ เป็นยอดแห่งอุปัฎฐายิกา ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยวัตถุปัจจัยไทยทานต่างๆทั้งที่ถวายเป็นของสงฆ์ส่วนรวมและส่วนบุคคลคือแก่พระภิกษุแต่ละองค์ๆ นางเป็นผู้สร้างวัดบุพพาราม เป็นผู้ริเริ่มการถวายผ้าอาบน้ำฝน ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เป็นเอตทัคคะด้านทายิกา (ผู้เป็นเลิศในการให้ทาน)
กล่าวกันว่า เหตุปัจจัยที่ทำให้นางวิสาขาได้ความงามแบบเบญจกัลยาณี ก็เพราะในอดีตชาติ นางเคยทำนุบำรุงซ่อมแซมพระพุทธรูปที่เก่าคร่ำคร่า มีสภาพไม่ดี ให้กลับมามีสภาพสวยสดงดงามดังเดิม อีกทั้งยังได้ปลูกโรงสร้างหลังคาบังแดดบังฝนให้พระพุทธรูปนั้น อานิสงส์ดังกล่าวจึงส่งผลให้นางมีลักษณะความงาม ๕ ประการข้างต้น นอกจากนี้ เชื่อว่านางคงสั่งสมบุญจากชาติก่อนๆมามาก จึงเป็นสาวที่มีรูปสวย รวยทรัพย์ และชาญฉลาดเช่นนี้
อันที่จริง ถ้าพิจารณาความงามแบบ "เบญจกัลยาณี” ตามที่กล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าเป็นความงามภายนอกทั้งสิ้น ซึ่งหากเป็นสมัยปัจจุบันคงหาได้ไม่ยาก เพราะสาวๆสมัยนี้สามารถ "สวยด้วยแพทย์” ตั้งแต่หัวจรดเท้า รวมถึงหนุ่มๆเองก็เช่นกัน ถ้ามีกำลังทรัพย์พอ อย่างไรก็ดี การหาคู่ครอง นอกจากจะดูเรื่องรูปร่างหน้าตาแล้ว เรื่องนิสัยใจคอก็เป็นส่วนสำคัญที่ต้องคำนึงถึง เพราะเมื่ออยู่ด้วยกันไปนานๆ ความสวยความหล่อก็ผูกใจได้ ไม่สู้ความดี
...............................................................
น.ส. ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม