กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> รู้ไว้ใช่ว่า
รู้ไว้ใช่ว่า…ตอน ‘ตำราองค์ความรู้ภูมิปัญญาไทย’ ในสมุดไทย

วันที่ 2 เม.ย. 2564
 

 

     องค์ความรู้ต่างๆ ในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทยมีอยู่เป็นจำนวนมาก ครอบคลุมเนื้อหาวิทยาการด้านต่างๆ อย่างกว้างขวาง ได้แก่ พงศาวดาร จดหมายเหตุ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี ตัวบทกฎหมาย ที่แสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความเชื่อ และวิถีสังคมไทยในอดีต
 
     สมุดไทยประเภทตำราองค์ความรู้ส่วนมากไม่มีภาพประกอบ เช่น ตำรายา ตำราเวทย์มนตร์คาถา ตำราพรหมชาติ และตำราโหราศาสตร์ เป็นต้น ตำราดังกล่าวมักเก็บรักษาและสืบทอดองค์ความรู้กันอยู่เฉพาะในวงศ์ตระกูล ผู้ที่จะศึกษาหรือเรียนรู้ตำราเหล่านี้ ต้องอาศัยพื้นฐานความรู้ด้านอื่นๆ ประกอบด้วยจึงจะทำให้เข้าใจในรายละเอียดและข้อจำกัดขององค์ความรู้แต่ละด้าน ครั้นเวลาล่วงเลยบริบทของสังคมเปลี่ยนแปลงไป องค์ความรู้แบบดั้งเดิมของไทยจึงค่อยๆเลือนหาย จนทำให้ไม่สามารถเข้าใจองค์ความรู้ ที่บันทึกไว้ในตำราเหล่านั้นได้
 
     สมุดไทยประเภทตำราส่วนหนึ่งมีภาพประกอบที่งดงาม อธิบายเนื้อหาที่เป็นลายลักษณ์อักษรในลักษณะที่เรียกว่า "สมุดภาพ” เป็นตำราที่มีการรวบรวมเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติจำนวนมาก มีทั้ง "ฉบับหลวง” ซึ่งเป็นองค์ความรู้ของราชสำนัก และ "ฉบับราษฎร์” ซึ่งเป็นของวัดวาอารามและของราษฎร
 
     ยกตัวอย่าง สมุดไทย ที่แสดงภาพประกอบให้เห็นได้อย่างสวยงาม เป็นองค์ความรู้สำหรับใช้ประกอบการพิจารณาลักษณะที่ดีของสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย เช่น "ตำราคชลักษณ์” ที่ระบุถึงลักษณะที่ดี ลักษณะร้าย พร้อมกำหนดชื่อไว้ตามลักษณะดังกล่าว โดยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีตำราการดูลักษณะของช้างอยู่หลายฉลับ ซึ่งทุกฉบับมีคติความเชื่อตรงกันว่า ช้างมีกำเนิดจากเทพผู้เป็นใหญ่ ๔ องค์ คือ พระนารายณ์ พระอิศวร พระพรหม และพระเพลิง และจำแนกช้างออกเป็น ๔ ตระกูล ตามกำเนิดของเทพที่ประทานให้ ได้แก่ วิษณุพงศ์ อิศวรพงศ์ พรหมพงศ์ และอัคนีพงศ์
 
     นอกจากตำราการดูลักษณะช้างแล้ว ยังมีตำราการดูสัตว์อื่นที่น่าศึกษา เช่น ตำราอัศวลักษณ์ หรือตำราม้า ตำราแมว เป็นต้น
 
     >>> คลิกชมสมุดภาพ ตำราองค์ความรู้ภูมิปัญญาไทย … http://www.culture.go.th/ewtadmin/ewt/culture_th/images/akasit/020464.pdf 
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)