กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “ขุนแผน เจ้าเสน่ห์จริงหรือล่อลวงหญิงด้วยมนตรา”

วันที่ 15 มี.ค. 2564
 

    ถ้าจะพูดถึงพระเอกในวรรณคดีที่หล่อเหลา เจ้าชู้ มีเมียแยะ แน่นอนว่า "ขุนแผน” ย่อมเป็นหนึ่งในนั้น กล่าวได้ว่าเขาเป็นชายเจ้าเสน่ห์ที่หนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ทุกยุคทุกสมัยปรารถนาอยากจะเป็น ขนาดพระเครื่องยังมี "รุ่นขุนแผน” อยู่จำนวนไม่น้อย แสดงให้เห็นถึงความเชื่อในเสน่ห์และความเก่งกาจของหนุ่มนักรักผู้นี้
 
     ตามท้องเรื่อง ขุนแผน หรือพลายแก้ว เป็นลูกของขุนไกรพลพ่าย และนางทองประศรี เกิดที่จังหวัดสุพรรณบุรี ครั้นขุนไกรพลพ่ายทำความผิดถูกสมเด็จพระพันวษาสั่งประหารชีวิต นางทองประศรีกลัวความผิดจึงพาลูกชายหนีไปอยู่กับญาติที่เมืองกาญจนบุรี พลายแก้วได้บวชเณรที่วัดส้มใหญ่ จ.กาญจนบุรี ต่อมาได้ย้ายไปเป็นศิษย์ของสมภารมีที่วัดป่าเลไลยก์ และสมภารคงที่วัดแค จ.สุพรรณบุรี ซึ่งทำให้พลายแก้วหรือขุนแผนได้มีโอกาสพบกับขุนช้างและนางพิมเพื่อนเล่นสมัยเด็ก และที่สุพรรรบุรีนี้เอง เรื่องราวของ "ขุนแผนนักรัก” ก็ได้เริ่มต้นขึ้น
 
     กล่าวกันว่า "ขุนแผน” นอกจากจะมีหน้าตาดีแล้ว ยังเป็นคนมีวาจาอ่อนหวานคมคาย เป็นผู้มีวิชาความรู้หลายอย่าง ไม่ว่าในด้านตำรับตำราพิชัยสงคราม วิชาอยู่ยงคงกระพัน เลี้ยงผีพราย สะเดาะโซ่ตรวน เสกใบมะขามเป็นต่อแตน หรือถอนอาถรรพ์ เป็นต้น ตอนเป็นแม่ทัพออกรบครั้งแรก พลายแก้วอายุเพียง ๑๗ ปีเท่านั้น แต่สามารถรบชนะในศึกเมืองเชียงทองได้ สมเด็จพระพันวษาจึงแต่งตั้งให้เป็น "ขุนแผนแสนสะท้าน” ขุนแผนมีเมียทั้งหมด ๕ คน ได้แก่
 
     นางพิมพิลาไลย มักเรียกสั้นๆกันว่า "นางพิม” เป็นลูกของนางศรีประจัน กับพันศรโยธาซึ่งเป็นพ่อค้า แต่ตายไปตั้งแต่นางยังเล็ก นางพิมเป็นผู้หญิงที่มีรูปร่างหน้าตางดงาม เป็นเมียคนแรกของขุนแผน และเป็นเมียที่เขารักที่สุด ขณะเดียวกันก็ทำให้เขาเจ็บแค้นมากที่สุดเช่นกัน นางพิมมีลูกชายกับขุนแผนคนหนึ่ง คือ พลายงาม จะว่าไปแล้ว แม้นางพิมจะปากร้าย แต่ก็เป็นผู้หญิงที่น่าสงสารไม่น้อย เพราะจริงๆนางก็รักเดียวใจเดียวกับขุนแผน แต่ถูกแม่บังคับให้แต่งกับขุนช้าง ซึ่งก็ช้ำใจพออยู่แล้ว หนำซ้ำขุนแผนกลับจากรบยังพาเมียใหม่คือ นางลาวทองมาอีก อีกทั้งก่อนหน้านี้ก็ป่วยหนัก จนต้องเปลี่ยนชื่อเป็น "นางวันทอง” ตลอดเวลาที่นางมีชีวิตอยู่ ล้วนแต่มีคนมากะเกณฑ์ชีวิตให้ ดังนั้น พอสุดท้ายต้องตัดสินใจเองว่าจะเลือกอยู่กับใครระหว่างขุนแผนและขุนช้าง นางจึงขาดความมั่นใจ ลังเล ก็เลยถูกประหารชีวิตในที่สุด
 
     นางสายทอง เมียคนที่สอง เป็นพี่เลี้ยงนางพิม นางเป็นแม่สื่อแม่ชักให้ขุนแผนกับนางพิม และก็คงจะมีใจต่อขุนแผนด้วยเช่นกัน ดังนั้น พอขุนแผนลอบไปหานางพิมและได้เสียกันแล้ว ก็คิดว่า "ครานั้นพลายแก้วคะนึงตรอง ถึงสายทองที่ทวงสินบนนั่น ครั้นว่าจะหาเงินมาให้ปัน ก็เสียชั้นเชิงชาติเจ้าชู้ไป” ว่าแล้วก็แอบไปหา ได้นางเป็นเมียอีกคน แต่ก็ไม่ได้เลี้ยงดูหรือยกย่องเป็นเมียออกหน้าออกตาแต่ประการใด คล้ายๆกับเป็นการตอบแทนคุณที่ช่วยเป็นแม่สื่อ การได้นางสายทองจึงเป็นเพราะความเจ้าชู้และความคึกคะนองประสาวัยหนุ่ม
 
     นางลาวทอง เป็นลูกสาวของแสนคำแมน นายแคว้นบ้านจอมทอง ซึ่งพ่อยกให้ขุนแผนเพื่อตอบแทนบุญคุณที่กองทัพพลายแก้วไม่ได้รุกรานผู้คนในหมู่บ้านให้เดือดร้อน นางจึงนับเป็นเมียคนที่สาม เมื่อขุนแผนชนะศึก พานางกลับไปสุพรรณบุรี ได้เจอกับนางวันทองก็เกิดการหึงหวงกันขึ้น ขุนแผนโกรธนางวันทองจึงพานางลาวทองไปอยู่เมืองกาญจน์ ต่อมานางป่วย ขุนแผนไปเยี่ยม ขุนช้างก็เลยถือโอกาสใส่ความว่าขุนแผนหนีเวร นางจึงถูกพรากให้เข้าไปอยู่ในวัง ระหว่างนี้ด้วยความแค้นขุนแผนจึงหนีไปแสวงหาของดีสามอย่างคือ ดาบฟ้าฟื้น ม้าสีหมอก และกุมารทอง แล้วกลับมาพานางวันทองหนีไป ภายหลังกลับมาสู้คดี จนชนะขุนช้าง และทูลขอนางลาวทองกลับไปอยู่กับตน ทำให้พระพันวษากริ้วคล้ายว่าได้คืบจะเอาศอก จึงสั่งจำคุกขุนแผนเสีย ๑๕ ปี นางวันทองก็ถูกขุนช้างฉุดกลับไปอยู่กับตนอีก จนคลอดพลายงามลูกขุนแผน เมื่อเกิดศึกเชียงใหม่ "พลายงาม” ได้อาสาไปรบพร้อมขอพ่อไปช่วยด้วย ขุนแผนจึงพ้นโทษ ครั้นชนะศึกกลับมา นางลาวทองก็ได้รับอภัยโทษกลับมาอยู่กับขุนแผน ซึ่งช่วงนี้นางวันทองยังต้องอยู่กับขุนช้างเพราะถูกฉุดไปตั้งแต่ตอนขุนแผนติดคุก จนกระทั่งพลายงามลอบจะพาแม่หนี เป็นคดีกัน ในที่สุดนางวันทองก็ถูกประหารชีวิตเพราะตัดสินใจไม่ได้ว่าจะอยู่กับใคร ส่วนขุนแผนภายหลังได้เป็น "พระสุรินทรฤาไชย เจ้าเมืองกาญจน์” อยู่กับเมียที่เหลืออยู่คือ นางลาวทองและนางแก้วกิริยา
 
     นางบัวคลี่ เป็นเมียคนที่สี่ของขุนแผน เป็นแม่ของกุมารทอง หนึ่งในของดีที่ขุนแผนได้มาตอนหนีคดีที่ถูกขุนช้างใส่ร้าย นางบัวคลี่เป็นลูกสาวของหมื่นหาญซึ่งมีอาชีพทำไร่ ล่าสัตว์และยังเป็นโจรด้วย นางเป็นคนสวยคนหนึ่ง เมื่อขุนแผนออกเสาะแสวงหาของดีสามอย่าง มาพบกับบัวคลี่ก็มีความพึงพอใจ และดูลักษณะก็รู้ว่านางจะให้ลูกชายเป็นคนแรก ดังนั้น จึงฝากตัวเป็นสมุนของพ่อนาง และได้ช่วยงานหมื่นหาญ จนพ่อนางยกนางให้เป็นภรรยา ต่อมา หมื่นหาญเกิดระแวงกลัวขุนแผนจะยึดอำนาจเพราะมีวิชาอาคมเก่งกว่า จึงวางแผนให้นางบัวคลี่วางยาพิษผัว นางก็เชื่อพ่อ แต่ผีพรายของขุนแผนได้มากระซิบบอก ขุนแผนรู้ตัวก็แค้นเคืองนางที่ไม่ซื่อ จึงแกล้งทำเป็นถูกยาพิษ ไม่สบาย ครั้นนางนอนหลับก็ใช้มีดผ่าท้อง ควักลูกออกมาทำพิธีปลุกเสกเป็นกุมารทอง ซึ่งแต่เดิมแม้ขุนแผนอยากจะได้กุมารทอง ก็คงไม่คิดว่าจะทำเช่นนี้ แต่บังเอิญนางมาคิดทรยศเพราะเชื่อพ่อซะก่อน ก็เลยต้องมาตาย อย่างน่าอนาถ และเชื่อว่านางบัวคลี่ก็รักขุนแผนไม่น้อย แต่ความกตัญญูต่อพ่อ ทำให้ต้องทำ
 
     นางแก้วกิริยา เป็นเมียคนที่ห้า และคนสุดท้ายของขุนแผน นางเป็นลูกพระยาสุโขทัยกับนางเพ็ญจันทร์ พ่อพานางมาขายฝากเป็นทาสของขุนช้างเพื่อใช้หนี้ ขุนช้างนึกเอ็นดูจึงเลี้ยงนางไว้เหมือนน้องสาว ตอนที่ขุนแผนหาของดีได้แล้ว ได้กลับมาเรือนขุนช้างจะพานางวันทองหนี แต่เข้าห้องผิด ไปเข้าห้องของนาง จึงได้นางเป็นเมียอีกคน พร้อมทั้งให้เงินไถ่ตัวไว้ด้วย นางแก้วกิริยาถือได้ว่าเมียที่ดีและซื่อสัตย์ยิ่ง เพราะตอนขุนแผนต้องโทษจำคุก ๑๕ ปี นางก็คอยไปเยี่ยมเยียนและปรนนิบัติดูแลจนพ้นโทษ นางมีลูกกับขุนแผนหนึ่งคน คือ พลายชุมพล
 
     "ขุนแผน” ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้มีวิชาอาคม และหนึ่งในคาถาอาคมที่สามารถสะกดสาวใหลหลงได้ คือ คาถามหาละลวย และคาถาเทพรำจวน ซึ่งตามเรื่องก็ได้กล่าวถึงเมียทั้งห้าคนว่า ตอนต้นก็ต้องมนต์ที่ว่านี้เช่นกัน กระนั้นเมียแต่ละคนขุนแผนก็ยังได้มาด้วยเหตุที่ต่างกัน กล่าวคือ ได้นางพิมด้วยเป็นรักแรก ได้นางสายทองเพราะตอบแทนแม่สื่อด้วยเชิงชายเจ้าชู้ ได้นางลาวทองเพราะรับการตอบแทนคุณของนายแคว้นบ้านจอมทอง ได้นางบัวคลี่เพราะไปช่วยงานหมื่นหาญตอนหนีคดีจนเขายกลูกสาวให้ และสุดท้ายได้นางแก้วกิริยาเพราะเข้าห้องผิดจึงเลย ตามเลย อย่างไรก็ดี หากจะกล่าวว่า นอกจากมีคาถาที่ช่วยเสริมความเจ้าชู้แล้ว ขุนแผนเองก็ต้องมีเสน่ห์ไม่น้อย โดย "เสน่ห์” ที่ว่านี้คงมาจากบุคลิกหน้าตา ความเป็นผู้นำ วาจาที่ไพเราะอ่อนหวานและความชาญฉลาด ซึ่งเจ้าตัวคงรู้ดีจึงสามารถใช้ "มัดใจสาว” ได้อย่างเหมาะเจาะ เพราะโดยปกติสาวๆไม่ว่ายุคใดสมัยไหน ล้วนแพ้ทางหนุ่มหล่อ วาจาคมคายทั้งนั้น
........................................
 
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ภาพ : "พลายแก้วเข้าห้องนางสายทอง” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่อง ขุนช้างขุนแผน
ที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร จังหวัดสุพรรณบุรี
จิตรกร : เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)