เรื่องชาดกและพุทธประวัติที่ปรากฏในสมุดไทยมักเป็นภาพคั่นที่แทรกอยู่ในสมุดสวดพระอภิธรรมย่อ หรือบทสวดอื่นๆ ที่เขียนด้วยอักษรขอม ภาษาบาลี อาจเป็นภาพประกอบที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาของบทสวด
ชาดก หมายถึง เรื่องของพระโพธิสัตว์ (ผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต) หรือเรื่องราวในอดีตชาติก่อนที่พระโพธิสัตว์จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ปรากฏในพระไตรปิฎก เรียกว่า "นิบาตชาดก” มีทั้งหมด ๕๔๗ เรื่อง แบ่งเป็นหมวดๆ ตามจำนวนคาถาหรือบทประพันธ์ที่มีอยู่ในแต่ละเรื่อง โดยชาดกที่มีจำนวนคาถาเกินกว่า ๘๐ คาถาขึ้นไป เรียกว่า มหานิบาตชาดก ทีทั้งหมด ๑๐ เรื่อง แต่ละเรื่องแสดงถึงการบำเพ็ญบารมีขั้นประเสริฐสุดของพระโพธิสัตว์ ที่เรียกว่าบารมี ๑๐ ทัศ หรือ ทศบารมี อันได้แก่
๑.เตมียชาดก การสร้างเนกขัมมบารมี (การออกบวช) การละชีวิตทางโลกหรือออกจากกาม การออกบวชเป็นพระหรือนักบวช
๒.มหาชนกชาดก การสร้างวิริยบารมี (ความเพียร) การกระทำที่ใช้ความเพียรเป็นที่ตั้ง
๓.สุวรรณสามชาดก การสร้างเมตตาบารมี (ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีสุข) การมีความรักความปรารถนาดีต่อสัตว์ทั้งหลายในโลกอย่างเท่าเทียม
๔.เนมิราชชาดก การสร้างอธิษฐานบารมี (ความตั่งใจมั่น) การตั้งมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง ตั้งจิตมั่นในการทำความดี
๕.มโหสถชาดก การสร้างปัญญาบารมี (ความฉลาดรอบรู้) การกระทำเพื่อเพิ่มพูนปัญญา
๖.ภูริทัตชาดก การสร้างศีลบารมี (ความสำรวมกาย วาจา ใจ) การรักษาศีลให้เป็นปกติ
๗.จันทกุมารชาดก การสร้างขันติบารมี (ความอดกลั้น) การอดทนอดกลั้นต่อสิ่งต่างๆ
๘.นารทชาดก การสร้างอุเบกขาบารมี (ความวางเฉย) การวางเฉย มีใจเป็นกลาง การปล่อยวางในสิ่งที่ผิดพลาด ในสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ การวางเฉยในความทุกข์ของตนและสัตว์ที่ไม่สามารถช่วยได้
๙.วิธุรชาดก การสร้างสัจจบารมี (ความรักษาวาจาจริง) การรักษาคำพูด
๑๐.เวสสันดรชาดก การสร้างทานบารมี (การบริจาค) การสละออก การให้ต่างๆ โดยมีเจตนาช่วยเหลือผู้อื่นเป็นสำคัญ จิตกรไทยนิยมนำชาดกทั้ง ๑๐ เรื่อง หรือที่เรียกว่า ทศชาติ หรือพระเจ้าสิบชาติมาเขียนเป็นจิตรกรรมฝาผนังและบนสมุดข่อย หรือ สมุดไทย
ในส่วนพุทธประวัติ มีคัมภีร์ที่แสดงเรื่องพุทธประวัติหรือประวัติของพระพุทธเจ้า คือ คัมภีร์ปฐมสมโพธิ หรือ ปฐมสมโพธิกถา ซึ่งแสดงเรื่องราวตั้งแต่ประสูติจนถึงปรินิพพาน และตอนท้ายของคัมภีร์ดังกล่าวยังอธิบายต่อเนื่องไปถึงเหตุการณ์หลังพุทธปรินิพพานซึ่งเนื้อหาทั้งหมดมาจากข้อมูลที่ปรากฏในพระไตรปิฎก
โดยพุทธประวัติตามคัมภีร์ปฐมสมโพธิที่พบในสมุดภาพจิตรกรรมไทยสามารถแบ่งเนื้อหาได้เป็น ๒ ภาค คือ ภาคก่อนการตรัสรู้ตั้งแต่ประสูติจนถึงตรัสรู้ ตอนที่นิยมนำมาเขียนภาพ เช่น ตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ตอนมารผจญ และตอนเสวยวิมุติสุข และภาคหลังการตรัสรู้จนถึงปรินิพพาน ตอนที่นิยมได้แก่ ตอนแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนยมกปาฏิหาริย์ ตอนโปรดพุทธมารดาและตอนเสด็จดับขันธปรินิพพาน เป็นต้น