
แพรวา หรือผ้าไหมแพรวา เป็นผ้าทออันเป็นเอกลักษณ์ของชาวผู้ไทยหรือภูไท ที่มีลวดลายและสีสันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เดิมใช้เป็นผ้าพาดบ่าของชาวภูไท มีความยาวขนาด ๑ วา (๒ เมตร) ผู้หญิงภูไทนิยมนำมาใช้คลุมไหล่หรือห่มเฉลียงไหล่คล้ายๆผ้าห่มสไบ เรียกว่า ผ้าเบี่ยงหรือผ้าแพรเบี่ยง โดยจะใช้ในโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น เทศกาล งานบุญ ประเพณีหรืองานพิธีสำคัญ แต่ปัจจุบันมีการทอเป็นผืนผ้าหน้ากว้าง สำหรับนำไปตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกายร่วมสมัยสวมใส่อย่างแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ผ้าแพรวา เป็นผ้าที่นิยมทอกันมากในกลุ่มชนเชื้อสายภูไท ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ระหว่างรอยต่อจังหวัดอุดรธานี จังหวัดสกลนคร และจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งปัจจุบันนิยมทอกันมากที่บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผ้าแพรวาที่มีความประณีตงดงามและมีฝีมือในการทอและเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้มีการทอประปรายในจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดนครพนม โดยผ้าแพรวาประกอบด้วยลายทั้งหมด ๓ ส่วน ได้แก่
๑. ลายหลัก คือ ลายที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งปรากฏอยู่ในพื้นผ้าในแนวนอน โดยลายหลักแต่ละลายมีความกว้างของลายสม่ำเสมอกัน คือ กว้างประมาณแถวละ ๘-๑๒ เซนติเมตร ในแพรวาผืนหนึ่งๆจะมีลายหลักประมาณ ๑๓ แถว เช่น ลายนาคสี่แขน ลายพันมหา ลายดอกซ่าน ฯลฯ ส่วนประกอบสำคัญของลายหลัก ได้แก่ ลายนอก คือ ส่วนที่มีลักษณะเป็นตารางสามเหลี่ยม ประกอบสองข้างของลายใน มีลวดลายครึ่งหนึ่งของลายในตลอดความกว้างของผืนผ้า ลายใน คือ ส่วนที่อยู่ตรงกลางของแถวหลักมีลวดลายเต็มรูปอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนตลอดความกว้างของผืนผ้าเช่นกัน และ ลายเครือ คือ ส่วนที่อยู่ในแถวบนของกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนในแต่ละแนว มีกึ่งกลางของลายหลักเป็นส่วนยอดของลายเครือ
๒. ลายคั่นหรือลายแถบ คือ ลายที่มีขนาดเล็กอยู่ในแนวขวางผืนผ้า ความกว้างของลายประมาณ ๔-๖ เซนติเมตร ทำหน้าที่เป็นตัวแบ่งลายใหญ่ออกเป็นช่วง ๆสลับกันไป เป็นลายที่ใช้แต่งชายผ้าและขาดไม่ได้ในลายผ้าแพรวา เช่น ลายขาเข ลายงูลอย ลายตาไก่ ลายดอกส้มป่อย ฯลฯ
๓. ลายช่อปลายเชิง หรือลายเชิงผ้า คือ ลายที่ปรากฏช่วงปลายของผ้าทั้งสองข้างที่เป็นตัวริเริ่มและตัวจบปลายผ้ามีความกว้างประมาณ ๔-๑๐ เซนติเมตร เช่น ลายช่อขันหมาก ลายดอกบัวน้อย ลายหางปลาวา ลายดอกผักแว่น ลายงูลอย ฯลฯ
ผ้าแพรวาเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จัก เมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงฉลองพระองค์สีแดงที่ตัดจากผ้าแพรวาที่มีความงดงามยิ่ง ทั้งลวดลายและสีสัน ทำให้ผ้าแพรวาได้รับความสนใจและนิยมนำมาตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกายร่วมสมัยอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน เนื่องจากผ้าแพรวามีเสน่ห์แตกต่างจากผ้าชนิดอื่น เพราะลวดลายที่ทอจะปรากฏด้านล่างของกี่ โดยมีไม้คันผังยึดผ้าที่ทอแล้วไว้ให้ตึงตลอดเวลา ทำให้ลวดลายบนผ้าสวยงามชัดเจนมากยิ่งขึ้นรวมทั้งสีสันของผ้าที่เป็นโทนสีแดง และใช้เส้นไหมสีเขียว เหลือง ขาว หรือสีน้ำเงินในการขิดลาย ทำให้เกิดสีสันที่งดงามบนผืนผ้า จนได้รับการขนานนามว่าราชินีแห่งไหมไทย เพราะใช้เส้นไหมในการทอจนเกิดคุณค่าทางงานหัตถศิลป์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
....................................................
ขอบคุณที่มา : หนังสือสานด้ายเป็นลายศิลป์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, หนังสือลวดลายและสีสันบนผ้าทอพื้น มหาวิทยาลัยศิลปากร