กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “พระเครื่อง”

วันที่ 22 ก.พ. 2564
 

      "พระเครื่อง” มาจากคำว่า "พระเครื่องราง” มีความหมายถึง พระพิมพ์หรือพระหล่อโลหะ มีรูปแทนองค์พระพุทธเจ้าหรือพระสาวก เป็นพระขนาดเล็กที่ใช้ห้อยคอได้สะดวก ซึ่งต่างกับพระพิมพ์ทั่วไปที่มีขนาดใหญ่ อันใช้ตั้งบนหิ้งบูชา พระพิมพ์ที่เป็นพระเครื่องนี้จะเป็นพระองค์เล็กๆ ที่นำไปเข้าพิธีปลุกเสกด้วยเวทมนตร์คาถาแล้วเชื่อว่าสามารถบันดาลให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์แก่ผู้ใช้ เช่น ทำให้เกิดเมตตามหานิยม แคล้วคลาดอันตราย เป็นต้น ขึ้นตามความนิยมของบุคคลที่มีความเชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ และอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ต่างๆ
 
     ในหนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง ได้กล่าวถึงเรื่องพระเครื่องว่า น่าจะมีกำเนิดมาจากพระพิมพ์ซึ่งอาจจะสืบขึ้นไปจนถึงถิ่นเดิมเริ่มแรก คือ อินเดีย แล้วนิยมสร้างกันสืบมาในดินแดนแหลมอินโดจีน รวมทั้งประเทศไทย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้สรุปการสร้างพระพิมพ์ไว้เป็น ๓ ระยะด้วยกันคือ ระยะแรกทำขึ้นเพื่อจำหน่ายเป็นของที่ระลึก ระยะที่ ๒ เพื่อสืบพระพุทธศาสนา และระยะที่ ๓ ทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องรางอันศักดิ์สิทธิ์ พระองค์กล่าวว่า เมื่อตรวจดูเรื่องตำนานของพระพิมพ์ที่มีในประเทศอื่น ได้ความว่า ในลัทธิศาสนาอื่น เช่น ศาสนาพราหมณ์ที่นับถือพระอิศวรพระนารายณ์ เป็นต้น หาปรากฏว่ามีพระพิมพ์ไม่ มีแต่พระพิมพ์ในพระพุทธศาสนาศาสนาเดียว
 
     ในประเทศไทย มีการขุดพบพระพิมพ์ในพื้นที่เกือบทุกภาค ที่ฝังจมอยู่ใต้ดินก็มี ที่พบตามถ้ำต่างๆ ก็มี สำหรับประเภทของเนื้อพระที่นำมาสร้างเป็นพระเครื่อง มีอยู่ด้วยกัน ๔ แบบ คือ ว่าน ดิน ชิน และผง ซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างกัน ดังนี้
 
     พระเครื่องที่สร้างด้วยว่าน จะเป็นการตัดรูปทรงของพระบนว่านสดๆ เมื่อเนื้อว่านแห้งแล้ว ก็จะมีความแข็ง มีรอยย่นตามผิวพระ เพราะเนื้อว่านหดลง พระเนื้อว่านมักนิยมทำกันทางภาคอีสานและประเทศลาว ด้วยมีความเชื่อว่า พระเนื้อว่านมีคุณด้านอยู่ยงคงกระพัน เพราะเนื้อว่านมีคุณสมบัติในการทำให้หนังเหนียว
 
     พระเครื่องเนื้อดิน คือ พระพิมพ์ที่สร้างขึ้นด้วยการกดแม่พิมพ์บนดินเหนียว แล้วเอาเข้าเผาไฟสำเร็จเป็นพระดินเผา มีสีต่างๆ สุดแต่จะใช้ไฟแก่หรือไฟอ่อน ถ้าใช้ไฟอ่อน พระจะมีตั้งแต่สีขาวนวล ขาวปนเหลือง ขาวปนชมพู (ที่เรียกสีเม็ดพิกุล) ถ้าใช้ไฟแก่ มักเป็นพระเนื้อเขียวหรือดำ จะมีความแข็งแกร่งมากที่สุด นอกจากพระเนื้อดินเผาแล้ว ยังมีอีกประเภทที่เรียกว่า "ดินดิบ” กล่าวคือ เป็นพระที่มิได้เข้าไฟ เพียงแต่ตากลมให้แห้ง พระชนิดนี้พบได้น้อย เพราะแค่ถูกน้ำก็ละลายแล้ว ยกเว้นองค์ที่บรรจุในเจดีย์ซึ่งมีความร้อนอบนานๆ ก็จะคล้ายพระเนื้อดินเผา เพราะเนื้อจะแกร่งกว่าเดิม
 
     พระเครื่องเนื้อชิน คือ พระที่ใช้โลหะผสมโดยมีตะกั่วเป็นหลักหรือเป็นตัวยืนพื้น ถ้ามีเนื้อตะกั่วอยู่มาก ก็เรียกว่า ชินตะกั่ว ถ้ามีเนื้อเงินผสมอยู่มากก็เรียก ชินเงิน เป็นต้น พระเนื้อชินมักจะเป็นพระประเภทอยู่ยงคงกระพัน เพราะเนื้อชินหรือเนื้อโลหะเป็นเครื่องหมายของความแข็งแกร่ง อย่างไรก็ดี พระเนื้อชินก็มักผุกร่อนได้ง่าย นักสร้างพระโบราณจึงมักเอาปรอทเคลือบหรืออาบปรอทเสีย ดังนั้น แม้จะถูกบรรจุอยู่ในกรุนานๆ เป็นร้อยปี เมื่อถูกขุดเจอมักจะพบว่าพระเครื่องดังกล่าวมีสีปรอท แวววับราวกับพระเครื่องที่สร้างใหม่ๆ ตัวอย่างเช่น พระเนื้อชินกรุวัดราชบุรณะ อยุธยา เป็นต้น
 
     พระเครื่องเนื้อผง คือ พระพิมพ์ที่สร้างด้วยเนื้อปูนขาวที่ทำจากเปลือกหอยเผา เอามาตำในครก แล้วกดด้วยแม่พิมพ์แบบต่างๆ แล้วเอาไปผึ่งลมจนแห้งสนิท เนื้อพระจะมีความแข็งพอประมาณ ถ้ามิได้บรรจุในกรุ เนื้อพระจะดูนุ่มนวล และเมื่อแห้งสนิทเป็นเวลานาน เนื้อพระจะหดตัวลงเล็กน้อย ถ้าเป็นพระเนื้อปูนขาวละเอียด เมื่อถูกขัดถูเบาๆจะมีความมันละเลื่อมคล้ายเครื่องถ้วยชาม (Porcelain) ที่สร้างจากดินขาว บางทีก็มีลายแตกระแหงบางๆ เรียกว่า แตกลายงา และแตกลายกังไส ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็โดยการลงรัก (จะปิดทองหรือไม่ก็ได้) พอรักแห้งก็จะรัดผิวพระให้หดตัว และเมื่อรักหรือทองล่อนออกหมดจึงทิ้งลายเอาไว้
 
     การสร้างพระเนื้อผงมีหลักฐานว่ามีมาแต่สมัยสุโขทัย แต่มีอยู่เพียงกรุเดียวคือ กรุวัดทับข้าวในเมืองสุโขทัย ไม่ปรากฏอยู่ในกรุอื่น ส่วนในสมัยต้นอยุธยา แม้จะมีการขุดพบพระพิมพ์ในเจดีย์สำคัญๆ ก็เป็นพระเนื้อดินมิใช่พระเนื้อผง นอกจากนี้ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นเนื้อชิน จนมาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์จึงมีการสร้างพระเนื้อผงขึ้น และได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางเรื่อยมาจนปัจจุบัน
 
     พระเนื้อผงที่เริ่มสร้างกันอย่างจริงจังในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รุ่นแรก คือ พระสมเด็จอรหัง และพระวัดพลับพิมพ์ต่างๆ ผู้สร้างคือ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) หรือ พระญาณสังวร ซึ่งเป็นพระวิปัสสนาที่มีชื่อเสียงในรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ แต่การสร้างพระผงที่มีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่นิยมมากที่สุดจนเป็นแบบยึดถือกันมาจนปัจจุบันก็คือ พระที่เรียกขานโดยทั่วไปว่า "พระสมเด็จ” ซึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นผู้สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ในปัจจุบันมีผู้จำกัดความหมายของพระสมเด็จไว้เป็น ๓ อย่างคือ
 
     ๑.พระสมเด็จวัดระฆัง กล่าวกันว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เป็นผู้สร้างและแจกแก่คนทั้งหลายในโอกาสต่างๆ ไม่มีการบรรจุลงกรุแต่อย่างใด
 
     ๒.สมเด็จบางขุนพรหม กล่าวกันว่า เสมียนตราด้วงเป็นผู้สร้าง และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เป็นผู้ปลุกเสกที่วัดอินทรวิหาร เสร็จแล้วบรรจุลงในกรุพระเจดีย์วัดใหม่อมตรส และมาเปิดกรุเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐
 
     ๓.พระสมเด็จวัดไชโย จ.อ่างทอง เรียกโดยทั่วไปว่า พระสมเด็จวัดเกศไชโย กล่าวกันว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เป็นผู้สร้าง
 
     การพิจารณาพระเครื่องว่าเก่าแก่ขนาดไหน และเป็นพระแท้หรือไม่ นั้น จะดูได้จากองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น ดูที่เนื้อพระ ว่ามีเนื้ออย่างไร มีส่วนผสมอะไร ดูที่พิมพ์ทรงหรือรูปร่างลักษณะของพระนั้นๆ ว่าเป็นทรงอะไร ถ้าผิดทรงก็อาจเป็นพระปลอม หรือเป็นพระที่สร้างรุ่นหลังก็ได้ นอกจากนี้ก็ยังมีการดูที่คราบกรุ และขี้กรุ ซึ่งคราบกรุ จะหมายถึง ฝ้าสีขาวหรือสีนวลที่จับอยู่บนพื้นผิวของพระ อันจะทำให้ทราบว่าพระนั้นมีความเก่าแค่ไหน ส่วนขี้กรุ จะหมายถึง ฝุ่นละออง เม็ดทรายหรือสิ่งสกปรกที่อยู่ในกรุ ซึ่งเกาะติดองค์พระมาช้านาน จะมากหรือน้อยก็ขึ้นกับกาลเวลาที่พระถูกเก็บอยู่ในกรุ
 
     พระเครื่องเป็นวัตถุมงคลที่มีผู้นิยมกันมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน การสร้างพระเครื่องจึงกระทำต่อเนื่องเรื่อยมา ซึ่งพบว่าสร้างพระเครื่องกระทำกันในท้องถิ่นภาคกลางมากกว่าท้องถิ่นอื่นๆ วัตถุประสงค์ก็เพื่อแจกเป็นที่ระลึกบ้าง เพื่อจำหน่ายเอาเงินมาทำประโยชน์แก่วัดบ้าง อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตว่า การสร้างพระเครื่องในสมัยโบราณ ส่วนใหญ่เป็นพระบรรจุกรุทั้งสิ้น เพราะคนไทยสมัยก่อนไม่นิยมเก็บพระไว้ในบ้าน แม้แต่พระที่สร้างขึ้นเพื่อใช้บำรุงขวัญทหารในยามศึกสงคราม เพื่อเสร็จศึกก็มักจะเอากลับคืนไปไว้ที่วัด ครั้นต่อมาบ้านเมืองว่างจากศึก ทางวัดก็จะรวบรวมเก็บบรรจุกรุเพื่อรักษาไว้เป็นสมบัติของพุทธศาสนาสืบไป พระเครื่องสมัยก่อนๆ มักเป็นพระที่พระอาจารย์ต่างๆ สร้างขึ้น เพื่อแจกจ่ายแก่คนทั้งหลายโดยไม่คิดมูลค่า เป็นของที่ให้เปล่าด้วยเจตนารมณ์อันดี พระเครื่องจึงไม่มีราคาเพราะไม่มีการซื้อขายกัน แต่ปัจจุบันอุดมคติในการสร้างพระเครื่องได้แปรเปลี่ยนไป พระเครื่องได้กลายเป็นสินค้าอีกอย่างหนึ่งที่มีการโฆษณาในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่เริ่มสร้าง รวมทั้งมีการสั่งจองเหมือนสินค้าขายดีทั่วไป จนมีคำที่เรียกการนี้โดยเฉพาะว่า "พุทธพาณิชย์” และเมื่อพระเครื่องรุ่นใหม่มีราคา ในขณะที่พระเครื่องรุ่นเก่านับวันยิ่งหายากขึ้น จึงมีการซื้อขายกันด้วยราคาแพงจนถึงหลักล้านก็มี เลยเกิดบุคคลอาชีพใหม่ที่เรียกว่า "เซียนพระ” ขึ้น ที่กล่าวกันว่า เป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญในการดูพระแท้ พระปลอม อีกทั้งยังเป็นตัวแทนในการติดต่อซื้อขายพระเครื่องอันเป็นจักรกลสำคัญในตลาดพระเครื่องทุกวันนี้
 
     อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นพระจริงหรือพระปลอม หากผู้สวมใส่มิได้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีลในสัตย์แล้ว คงยากที่พระพุทธคุณหรือกฤตยคมที่บรรจุในพระเครื่องนั้นๆจะคุ้มครองตนได้ เพราะ "ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารี ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”
 
..........................................
 
น.ส. ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)