กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
ตรานกยูงพระราชทาน ๔ ชนิด บนผ้าไหมไทย แตกต่างกันอย่างไร

วันที่ 16 ก.พ. 2564
 

    
     สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราสัญลักษณ์ "นกยูงไทย”ไว้ เพื่อเป็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย ซึ่งตรวจประเมินและรับรองคุณภาพโดยกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
 
     ตรานกยูงพระราชทาน ๔ ชนิด ได้แก่ นกยูงทอง นกยูงเงิน นกยูงสีน้ำเงิน และนกยูงสีเขียว ซึ่งแต่ละชนิดมีเกณฑ์ตรวจประเมินผ้าไหมไทยเหมือนกันตรงที่ต้องย้อมด้วยสีธรรมชาติหรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีความสม่ำเสมอของสี ลวดลาย และเนื้อผ้าอาจตกแต่งด้วยเส้นเงินหรือเส้นทองที่ได้มาตรฐาน ในกรณีผ้าทั่วไปไม่เกินร้อยละ ๒๐ ส่วนกรณีผ้าจก ขิด ไม่เกินร้อยละ ๕๐ ต่อพื้นที่ตารางวา และต้องเป็นผ้าที่ผลิตในประเทศไทย
 
     สำหรับข้อแตกต่างที่เป็นเอกลักษณ์ของ ตราสัญลักษณ์นกยูงไทย ๔ ชนิด มีดังนี้
 

      ๑.นกยูงสีทอง (Royal Thai Silk) เป็นผ้าไหมที่ผลิตจากเส้นไหมและวัตถุดิบ ตลอดจนกระบวนการผลิตที่เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านดั้งเดิมของไทย โดยใช้เส้นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านทั้งที่เป็นเส้นพุ่งและเส้นยืน เส้นไหมต้องสาวด้วยมือผ่านพวงสาวลงภาชนะทอด้วยกี่ทอมือแบบพื้นบ้านชนิดพุ่งกระสวยด้วยมือ
 

     ๒.นกยูงสีเงิน (Classic Thai Silk) เป็นผ้าไหมที่ผลิตโดยยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้านผสม ผสานกับการประยุกต์ใช้เครื่องมือและกระบวนการผลิตสมัยใหม่ในบางขั้นตอน โดยใช้เส้นไหมไทยพื้นบ้านหรือพันธุ์ไทยปรับปรุงเป็นเส้นพุ่งและ/หรือเส้นยืน เส้นไหมต้องสาวด้วยมือหรือสาวด้วยอุปกรณ์ที่ใช้มอเตอร์ไม่เกิน ๕ แรงม้า ทอด้วยกี่มือกระสวยด้วยมือหรือกี่กระตุกก็ได้
 

     ๓.นกยูงสีน้ำเงิน (Thai Silk) เป็นผ้าไหมที่ผลิตด้วยภูมิปัญญาไทยแบบประยุกต์ ใช้เทคโนโลยีการผลิตเข้ากับสมัยนิยมและเชิงธุรกิจ โดยใช้เส้นไหมแท้เป็นเส้นพุ่งและเส้นยืน ทอด้วยกี่แบบใดก็ได้
 

     ๔.นกยูงสีเขียว (Thai Silk Blend) เป็นผ้าไหมที่ผลิตด้วยกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผสมผสานกับภูมิปัญญาไทย ในด้านลวดลายและสีสันระหว่างเส้นไหมแท้กับเส้นใยอื่นจากธรรมชาติ หรือเส้นสังเคราะห์รูปแบบต่างๆ ตามวัตถุประสงค์การใช้งานหรือตามความต้องการของผู้บริโภค แต่จะใช้เส้นไหมแท้เป็นส่วนประกอบหลัก ขณะที่ใช้เส้นใยอื่นๆเป็นส่วนประกอบรอง โดยระบุส่วนประกอบให้เห็นเป็นเปอร์เซ็นต์อย่างชัดเจน และผ้านั้นจะทอด้วยกี่แบบใดก็ได้
 
     ดั้งนั้น ตราสัญลักษณ์นกยูงจึงเป็นดั่งความภาคภูมิใจสูงสุดของผู้สืบสานผ้าไหมไทย ที่ใส่ใจรายละเอียดทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่แหล่งที่มาของวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และที่สำคัญเป็นผ้าไหมไทยที่ผลิตในประเทศ ซึ่งสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้อย่างแท้จริง โดยสามารถสังเกตได้จาก การสแกน QR Code ที่ติดอยู่ใกล้ๆ กับตราสัญลักษณ์นกยูง ระบบจะตรวจสอบย้อนกลับ ทำให้ทราบถึงข้อมูล ชื่อ และที่อยู่ของผู้ทอผ้าไหมแต่ละผืน
 
ขอบคุณที่มา : หนังสือ เบิ่งซิ่น กินแซ่บ ธนาคารกรุงเทพ
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)