กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
เล่าที่มาผ้ายกเมืองนคร

วันที่ 2 ก.พ. 2564
 

     ผ้ายกเมืองนคร หมายถึง ผ้ายกเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นผ้าทอพื้นเมืองของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ ด้วยวิธีการทอยกเพิ่มลวดลายด้วยเส้นพุ่งพิเศษ ทำให้เกิดลายนูนบนผืนผ้าเป็นผ้ายกดอกที่มีลวดลายสีสันวิจิตรงดงาม จนได้รับการยกย่องว่าเป็นผ้าที่สวยงาม เป็นแบบอย่างของผ้าชั้นดีและมีชื่อเสียงรู้จักกันทั่วไป

 
     โดยสันนิษฐานว่าในสมัยอาณาจักรตามพรลิงค์หรือตัมพะลิงค์ ซึ่งเป็นอาณาจักรโบราณที่มีมาตั้งแต่ก่อนสมัยพุทธศตวรรษที่ ๗ และมีศูนย์กลางอยู่ที่นครศรีธรรมราช ยุคนั้นตามพรลิงค์คือเมืองท่าศูนย์กลางการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม จึงมีการแลกเปลี่ยนรับเอาศิลปวัฒนธรรมจากจีน อินเดีย และอาหรับ ชาติต่างๆเหล่านี้คงนำวิชาการทอผ้ามาถ่ายทอดไว้ ทำให้ชาวพื้นเมืองรู้จักการทอผ้าทั้งผืนเรียบและผ้ายกดอก ส่วนการทอผ้าที่มีสีสันวิจิตรงดงาม สันนิษฐานว่าน่าจะเพิ่งเริ่มพัฒนาขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น กล่าวกันว่าชาวเมืองนครศรีธรรมราชได้แบบอย่างการทอผ้ามาจากแขกเมืองไทรบุรี โดยในปีพ.ศ. ๒๓๕๔ เมื่อครั้งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ยกกองทัพไปปราบกบฏ ขากลับได้กวาดต้อนครอบครัวเชลย ซึ่งมีพวกช่างฝีมือมาหลายพวกรวมทั้งช่างทอผ้ายก คงเป็นเหตุนี้เองที่เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมกับความรู้ดั้งเดิมของชาวพื้นเมืองนครศรีธรรมราช โดยใช้กรรมวิธีการทอที่สลับซับซ้อนด้วยความพิถีพิถัน ประกอบกับวัสดุที่นำมาทอเป็นสิ่งที่สูงค่ามีราคา จึงถือได้ว่าผ้ายกเมืองนครเป็นงานหัตถศิลป์อันประณีตชั้นเยี่ยม ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนเป็นเอกลักษณ์ของการทอผ้ายกเมืองนครที่ขึ้นชื่อในเวลาต่อมา
 
     กระทั่งถึงรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นยุคสมัยที่การปกครองบ้านเมืองเป็นปึกแผ่นมั่นคง สภาพเศรษฐกิจดีส่งผลให้การทำนุบำรุงศิลปะในแขนงต่างๆ เจริญรุ่งเรือง ทำให้ผ้ายกเมืองนครเป็นผ้าที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้กับบุคคลสำคัญ เจ้านายและข้าราชบริพารชั้นสูง ใช้สวมใส่เวลาเข้าเฝ้าเป็นการแสดงสถานะของบุคคล โดยลวดลายอันวิจิตรที่ปรากฏอยู่บนผืนผ้านั้น สามารถจำแนกออกได้เป็น ๓ ลักษณะที่แตกต่างกันในการทอและการนำไปใช้งาน เพื่อแสดงถึงสถานะของผู้สวมใส่ดังนี้
 
     ๑.กรวยเชิงซ้อนหลายชั้น หมายถึง ผ้าสำหรับเจ้าเมือง ขุนนางชั้นสูงและพระบรมวงศานุวงศ์ นิยมทอด้วยเส้นทอง ลักษณะเชิงกรวยมีความละเอียดอ่อนช้อย มีลวดลายหลายลักษณะประกอบกัน ริมผ้าจะมีลายขอบผ้าเป็นแนวยาวตลอดทั้งผืน กรวยเชิงส่วนใหญ่มีตั้งแต่ ๒ ชั้นและ ๓ ชั้น ลักษณะพิเศษของกรวยเชิงรูปแบบนี้ คือ พื้นผ้าจะมีการทอสลับสีด้วยเทคนิคการมัดหมี่เป็นสีต่างๆ เช่น สีแดง น้ำเงิน ม่วง ส้ม น้ำตาล ลายท้องผ้าพบนิยมทอผ้าพื้นและยกดอก อาทิ ยกดอกลายเกร็ดพิมพ์เสน ลายดอกพิกุล เป็นต้น
 
     ๒.กรวยเชิงชั้นเดียว หมายถึง ผ้าสำหรับคหบดีและเจ้านายลูกหลานเจ้าเมือง นิยมทอด้วยเส้นทองหรือเส้นเงิน ลักษณะกรวยเชิงจะสั้น ทอคั่นด้วยลายประจำก้ามปู ลายประจำก้ามเกลียวใบเทศ ไม่มีลายขอบของลายท้องผ้า นิยมทอด้วยเส้นไหมลวดลายต่างๆ เช่น ลายดอกพิกุล ลายก้านแย่ง ลายดอกเขมร ลายลูกแก้วฝูง
 
     ๓.กรวยเชิงขนานกับริมผ้า หมายถึง ผ้าสำหรับสามัญชนทั่วไปใช้นุ่ง ลวดลายกรวยเชิงถูกดัดแปลงมาไว้ที่ริมผ้าด้านใดด้านหนึ่ง โดยการดัดแปลงนำลายอื่นมาเป็นลายกรวยเชิงเพื่อสะดวกในการทอผ้าและการเก็บลายสามารถทอได้เร็วขึ้น ผ้าลักษณะนี้มีทั้งทอด้วยไหม ทอด้วยฝ้ายหรือทอผสมฝ้ายแกมไหมที่พบเป็นผ้านุ่ง สำหรับสตรีหรือใช้เป็นผ้านุ่งสำหรับเจ้านาคในพิธีอุปสมบท
 
     เสน่ห์สำคัญของผ้ายกเมืองนคร คือ การสร้างลวดลายที่มีความซับซ้อน เนื่องจากเป็นผ้านุ่งตามขนบโบราณ ต้องมีความยาวต่อเนื่องอย่างน้อย ๓ เมตร ในแต่ละผืนมีการแบ่งช่วงลายไม่เหมือนกันตลอดทั้งผืน ช่างผู้ทอจึงต้องมีความชำนาญและมีความอุตสาหะ ในการเปลี่ยนลายไปตามช่วงต่างๆของผ้า ดังนั้นจึงทำให้ผ้ายกเมืองนครเป็นที่ต้องการอย่างกว้างขวางนั้นเอง ปัจจุบันการทอผ้ายกเมืองนครยังพอมีทอกันอยู่บ้างแต่ผู้ทอก็มีอายุมากแล้ว ประกอบกับไม่มีใครรับช่วงถ่ายทอดวิชา คงเหลือผู้เฒ่าผู้แก่อยู่ไม่มากนักที่ยังคงทอผ้ายกเมืองนครที่มี เสน่ห์และงดงามนี้อยู่
 
.......................................
 
ขอบคุณที่มา : หนังสือสานด้ายเป็นลายศิลป์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, หนังสือลวดลายและสีสันบนผ้าทอพื้น มหาวิทยาลัยศิลปากร และ https://sites.google.com/site/phathiy4phakh/pha-thiy-phakh-ti/pha-yk-meuxng-nkhrsrithrrmrach
ภาพ : www.bangkoklifenews.com
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)