กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “ป่วยเพราะกรรม จริงหรือ?”

วันที่ 25 ม.ค. 2564
 

     พระไพศาล วิสาโล ได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง "ป่วยเพราะกรรมจริงหรือ?” ว่า "ป่วยเพราะกรรม” เป็นคำพูดที่เราได้ยินอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะในแวดวงชาวพุทธ ซึ่งท่านเองก็ตอบว่า มีทั้งจริงและไม่จริง เพราะ "กรรม” สามารถเป็นเหตุให้เกิดความเจ็บป่วยได้ แต่คนที่ไม่ได้ป่วยเพราะกรรมก็มีเหมือนกัน

 
     ท่านกล่าวว่าในพระไตรปิฎกมีหลายพระสูตรที่พูดถึงความเจ็บป่วยที่เกิดจากกรรมชั่ว และได้ยกตัวอย่างที่พระพุทธองค์อธิบายให้สุภมาณพ โตเทยยบุตร ฟังถึงปัจจัยที่ทำให้มนุษย์เกิดมาแตกต่างกันว่า เป็นผลจากการกระทำในอดีต อย่างเช่น คนเหี้ยมโหด หมกมุ่นในการประหัตประหารสัตว์ มักอายุสั้น ส่วนคนที่ไม่ได้ฆ่า แต่ชอบทำร้ายหรือเบียดเบียนผู้อื่น มักเป็นคนมีโรคมาก เช่นนี้ถือเป็นผลกรรมในอดีต
 
     อย่างไรก็ตาม "กรรม” มิใช่เหตุปัจจัยอย่างเดียวที่ทำให้เจ็บป่วย ครั้งหนึ่ง สิวกะพราหมณ์ เคยถามพระพุทธเจ้าถึงเหตุแห่งการเกิดทุกขเวทนา เพราะเชื่อว่าทุกขเวทนาในปัจจุบันเกิดจากกรรมในอดีต แต่พระองค์ทรงเห็นแย้งแล้วอธิบายว่า "เวทนาบางอย่างมีดีเป็นสมุฏฐานก็มี...มีเสมหะเป็นสมุฏฐานก็มี...มีลมเป็นสมุฏฐานก็มี มีร่วมกันเป็นสมุฏฐานก็มี...เกิดแต่เปลี่ยนฤดูก็มี... เกิดแต่รักษาตัวไม่สม่ำเสมอก็มี...เกิดจากถูกทำร้ายก็มี... เวทนาบางอย่างเกิดแต่ผลกรรมก็มี” พุทธพจน์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าทุกขเวทนาหรือความเจ็บป่วยของคนเรามีเหตุปัจจัยหลายอย่าง จำเพาะที่ตรัสในที่นี้ก็มีถึง ๘ อย่างแล้ว โดยกรรมเป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่งเท่านั้น กรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสถึง ก็ไม่ได้เจาะจงถึงกรรมในอดีต อาจเป็นกรรมในปัจจุบันก็ได้ เช่น ไม่รักษาตัวให้สม่ำเสมอ ก็อาจก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ พระไพศาลได้กล่าวถึง ความคิดที่ว่า ความเจ็บป่วยเป็นผลจากกรรมในอดีตสถานเดียว ทุกวันนี้มีอิทธิพลแพร่หลายในหมู่คนไทย ถ้าป่วยเมื่อไร มักคิดว่าเป็นเพราะกรรมชั่วในอดีต ทำให้เกิดการยอมจำนน หรือมิฉะนั้นก็พยายามไปตัดกรรม แก้กรรม หรือไปทำบุญกุศล แม้ว่าจะมีผลดีในทางจิตใจ แต่ก็อาจทำให้มิจฉาทิฐิเพิ่มพูนขึ้นก็ได้ มิจฉาทิฐิที่ว่าก็คือ ความคิดที่ว่าสุขหรือทุกข์ของคนเราเป็นเพราะกรรมเก่าอย่างเดียว ซึ่งหากจะพิจารณาจากพุทธพจน์ที่ยกมาจะเห็นได้ว่า ทรงอธิบายอย่างครอบคลุม กล่าวคือ ทุกขเวทนาหรือความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น มิใช่เกิดจากกรรมอย่างเดียว อาจจะเกิดจากสาเหตุอื่นก็ได้ เช่น ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง ดีหรือเสมหะ ลมในร่างกายแปรปรวน หรือธาตุในร่างกายผิดปกติ
 
     นอกจากนี้ พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสถึง "นิยาม” อันหมายถึง ความเป็นไปอันมีระเบียบแน่นอนของธรรมชาติ หรือกฎธรรมชาติที่ส่งผลต่อชีวิตคนเราทุกคนว่า มีด้วยกัน ๕ ประการ คือ
 
     ๑.อุตุนิยาม คือ กฎธรรมชาติเกี่ยวกับอุณหภูมิและปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ โดยเฉพาะ ดิน น้ำ อากาศ และฤดูกาล
 
     ๒.พีชนิยาม คือ กฎธรรมชาติเกี่ยวกับพันธุกรรม กระบวนการถ่ายทอดข้อมูลของสิ่งมีชีวิตทั้งพืช สัตว์ ผ่านการสืบพันธุ์
 
     ๓.จิตนิยาม คือ กฎธรรมชาติเกี่ยวกับกลไกการทำงานของจิต
 
     ๔.กรรมนิยาม คือ กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการกระทำและผลการกระทำของมนุษย์
 
     ๕.ธรรมนิยาม คือ กฎธรรมชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ และความเป็นเหตุเป็นผลของสิ่งทั้งหลาย
 
     นิยามหรือกฎธรรมชาติทั้งห้านี้ อ่านแล้วจะพบว่า ความเป็นไปของคนเราไม่ได้เป็นผลจาก "กรรมนิยาม” หรือ "กฎแห่งกรรม” แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีกฎธรรมชาติอื่นๆมาเกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อเราได้เช่นกันอาทิ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ก็เป็นอุตุนิยาม ส่วนโรคระบาดก็อาจจะเกิดจากพีชนิยาม หรือกรรมนิยามผสมกัน เช่น เมื่อเกิดโรคระบาด บางคนป่วย บางคนไม่ป่วย ทั้งนี้ ก็เพราะบางคนมีการใช้ชีวิตอย่างสมดุล บริหารร่างกายสม่ำเสมอ จึงมีภูมิคุ้มกัน แม้จะมีเชื้อโรคที่เป็นปัจจัยภายนอก แต่ภูมิคุ้มกันอันเป็นปัจจัยภายในเป็นสิ่งสำคัญกว่า กรณีอย่างนี้จะเรียกว่า มีสุขภาพดีเพราะกรรม หรือเป็นเพราะกฎแห่งกรรมก็ว่าได้ เพราะกรรมในที่นี้ หมายถึง การกระทำ คือ การดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ในทางตรงข้ามถ้าสูบบุหรี่มากๆ ก็อาจป่วยเป็นมะเร็ง ซึ่งการเจ็บป่วยดังกล่าวถือเป็นผลของ "กรรม” อันมิใช่เกิดจากกรรมชั่วในอดีตชาติ แต่เป็นพฤติกรรมของเราในปัจจุบัน พระไพศาลได้กล่าวอีกว่า คำว่า "กรรม” อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องของคุณธรรมหรือจริยธรรม เช่น กรรมดี กรรมชั่วเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการกระทำที่ถูกต้องตามเหตุตามปัจจัยด้วย ถ้าหากกระทำไม่ถูกตามกฎธรรมชาติ ก็นับว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะเกิดเจ็บป่วยหรือผลอื่นตามมา
 
     ในปัจจุบัน ท่านว่ามีความเข้าใจคลาดเคลื่อนมากว่า ถ้าเจ็บป่วย โดยเฉพาะเป็นโรคร้ายก็เหมาว่าเป็นกรรมในอดีต หรือกรรมแต่ชาติปางก่อน มักไม่ได้สำรวจใคร่ครวญว่าเป็นเพราะกรรมในปัจจุบันหรือเปล่า พอเข้าใจแบบนี้ ก็เกิดแนวคิดหนึ่งขึ้นมาคือ เรื่องเจ้ากรรมนายเวร เชื่อว่าเราทำกรรมชั่วในอดีต เจ้ากรรมนายเวรจึงตามมาล้างผลาญ ทำให้ล้มป่วย ท่านว่าเรื่องนี้จะเรียกว่าเป็นความคิดสมัยใหม่ก็ได้ เพราะในพระไตรปิฎกไม่มีคำนี้ แม้แต่คัมภีร์รุ่นหลังๆก็ใช้คำว่า "คู่กรรมหรือคู่เวร” ซึ่งหมายถึง คนที่ได้ทำเวรต่อกัน ทำให้เกิดการจองเวรกัน ในบางกรณีก็จองเวรกันในปัจจุบันชาติ บางกรณีก็ตามไปจองเวรกันภพหน้า ซึ่งคู่เวรเหล่านี้อาจจะเป็นคนหรือสัตว์ที่มีเวรต่อกันก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้ เมื่อพูดถึงเจ้ากรรมนายเวร ในความคิดของคนสมัยนี้คือ สิ่งที่มองไม่เห็น เหมือนมีพลังลึกลับ หรือผีปีศาจที่ทำให้เจ็บป่วยเดือดร้อน อยากให้หายต้องทำบุญอุทิศให้กับเจ้ากรรมนายเวร ซึ่งท่านว่าการทำแบบนี้ก็ช่วยทำให้สบายใจขึ้น แต่ถ้าหากเราปักใจเชื่อแบบนี้ ก็อาจจะทำให้เราลืมการแก้ปัญหาที่ตรงจุดหรือตรงตามเหตุปัจจัย เช่น การเยียวยารักษาร่างกายหรือปรับพฤติกรรม เพราะโรคที่เกิดอาจจะเกิดจากการใช้ชีวิตไม่ถูกสุขลักษณะ พักผ่อนไม่พอ มีปัญหาบีบคั้นจิตใจทำให้เกิดความโกรธ ความเครียดสะสม ฯลฯ
 
     จากข้างต้น อาจกล่าวสรุปได้ว่า "ป่วยเพราะกรรม” มีสาเหตุมาจาก
 
     -กรรมเก่าในอดีตชาติ ที่เกิดจากการกระทำชั่ว เช่น เบียดเบียนทำร้ายคนและสัตว์
 
     -กรรมเก่าและกรรมใหม่ในชาตินี้ อันหมายถึง พฤติกรรมที่ประพฤติปฏิบัติ เช่น กินเหล้าสูบบุหรี่เป็นประจำ เจ้าอารมณ์เป็นนิจ ก็ทำให้เกิดเจ็บป่วยได้
 
     -กฎธรรมชาติที่เรียกว่า "นิยาม” ทั้ง ๕ ประการ ซึ่งหมายรวมถึงสองข้อข้างต้นด้วย
 
     อย่างไรก็ดี ท่านว่ามีข้อพึงพิจารณาอีกอย่างคือ เมื่อคนเราล้มป่วย บางครั้งก็ยากจะหาสาเหตุที่แท้จริงได้ เพราะเราเป็นปุถุชน ไม่สามารถหยั่งรู้ได้ว่า ความเจ็บป่วยนั้นเป็นเพราะกรรมในอดีต กรรมปัจจุบัน หรือเพราะอะไรกันแน่ เช่น บางคนไม่สูบบุหรี่ แต่เป็นมะเร็ง ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ท่านก็สอนว่า แม้ในขณะที่เราป่วย ทุกข์หรือสุขก็ยังอยู่ที่กรรมในปัจจุบัน ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึง พฤติกรรมการบริโภคหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตเท่านั้น แต่หมายถึง การวางจิตวางใจด้วย ตรงนี้เป็นความวิเศษของคำสอนของพระพุทธเจ้า เรื่อง กฎแห่งกรรมว่า ไม่ว่าเราจะเจออะไรมา แต่ก็ยังแพ้กรรมในปัจจุบัน โดยเฉพาะการวางจิตวางใจ พูดอีกอย่างก็คือ ป่วยอะไรก็ตาม ก็ยังแพ้ใจ ถ้าฝึกวางจิตวางใจไว้ดี ความเจ็บป่วยนานาชนิดก็ทำให้ทุกข์ใจไม่ได้ มันแค่ทำให้ทุกข์กายเท่านั้น ดังนั้น เวลาเจ็บป่วยหรือเป็นโรคใดก็ตาม สิ่งที่ควรทำคือ รักษาใจไม่ให้ทุกข์ และหาประโยชน์จากมันให้ได้ (เรียนรู้ธรรมะและสัจธรรมจากความเจ็บป่วย)
 
.................................................
 
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)