กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วันสำคัญ
พระปฐมบรมราชวงศ์จักรี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


 

" ตั้งใจจะอุปถัมภก         ยอยกพุทธศาสนา

จะป้องกันขอบขัณฑสีมา            รักษาประชาชนและมนตรี”


            คำกลอนที่ยกมากล่าวถึงข้างต้นนี้ปรากฏอยู่ในนิราศท่าดินแดง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๙ กล่าวถึงหลักการ ๓ ประการ อันเป็นพระราชดำรัสย้ำถึงพระบรมราโชบายในการปกครองแผ่นดินที่เป็นไปตามปฏิญญาที่ได้พระราชทานไว้กับประชาชนชาวสยาม ในพระราชพิธีปราบดาภิเษกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕  ประกอบด้วย การดูแลบำรุงพระพุทธศาสนา ประเทศชาติและประชาชน  ซึ่งพระองค์ก็ทรงยึดถือพระบรมราโชบายนี้เป็นหลักปฏิบัติราชการแผ่นดินเรื่อยมาตลอดรัชกาลของพระองค์

           พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีพระนามเดิมว่า "ทองด้วง” พระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๒๗๙ เป็นบุตรหลวงพินิจอักษร ซึ่งรับราชการเป็นเสมียนตราในกรมมหาดไทย ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี หลังจากโสกันต์แล้วได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพรและหลังจากทรงผนวชแล้วพระชนกได้ทูลขอ "กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์” ซึ่งขณะนั้นมีพระนามว่า "นาค” มีภูมิลำเนาอยู่ที่อัมพวา แขวงเมืองราชบุรี มาเป็นพระชายาเมื่อพระองค์มีพระชนม์ได้ ๒๕ พรรษา ได้เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ครั้งเมื่อพระชันษา ๓๒ ได้เข้ามาถวายราชการในพระเจ้ากรุงธนบุรี มีความชอบได้เป็น พระราชวรินทร์, พระยาอภัยรณฤทธิ์, เจ้าพระยายมราช, เจ้าพระยาจักรี และสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ตามลำดับ ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเมื่อพระชนมายุได้ ๔๖ พรรษา  เมื่อวันเสาร์ เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ ปีขาล จัตวาศกจุลศักราช ๑๑๔๔ ตรงกับวันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๕ อยู่ในราชสมบัติ ๒๗ ปี เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๗ กันยายน  ๒๓๕๒ รวมพระชนมายุได้ ๗๓ พรรษา มีโอรสธิดารวม ๔๒ พระองค์

           ขณะครองราชย์พระองค์ ทรงสร้างพระมหาปราสาทราชมณเฑียรสถานขึ้นมาในขั้นแรก เมื่อสร้างกรุงเทพฯเป็นราชธานี  ได้แก่ พระราชมณเฑียรชั่วคราว เป็นที่ประทับชั่วคราว สร้างขึ้นด้วยไม้ เมื่อก่อสร้างพระมหามณเฑียรสถานเพื่อประทับเป็นการถาวรเสร็จ จึงได้รื้อออก ทรงสร้างพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท จำลองแบบมาจากพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท ในกรุงศรีอยุธยา ภายหลังถูกสายฟ้าฟาด เกิดไฟไหม้เสียหายหลังจากใช้งานเพียง ๕ ปี ทรงสร้างพระมหามณเฑียร มีพระที่นั่งประกอบกันถึง ๗ องค์ คือ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระที่นั่งอัมรินวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน (ใช้เป็นท้องพระโรงมาถึงปัจจุบัน) พระปรัศว์ขวาและพระปรัศว์ซ้าย หอพระสุราลัยมาน หอพระธาตุมณเฑียร และพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ ทรงสร้างพระมหาปราสาท ได่แก่ หมู่พระที่นั่ง ประกอบด้วย พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งพิมานรัถยา และพระปรัศว์  รวมถึงพระที่นั่งพลับพลาสูง  ซึ่งปัจจุบัน คือ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท และพระที่นั่งทอง ซึ่งเป็นพระที่นั่งขนาดย่อม สร้างขึ้นในสวนวนขวา สำหรับประพาสในพระบรมมหาราชวัง

           นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญอีกหลายด้าน อาทิ ในด้านการปกครอง ทรงแบ่งเป็นหัวเมืองชั้นในและชั้นนอก ส่วนตำแหน่งที่รองจากพระมหากษัตริย์คือ ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และในส่วนข้าราชการนั้นมีอัครเสนาบดี ๔ ตำแหน่ง คือ พระสมุหกลาโหม มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาแก่พระมหากษัตริย์ และข้าราชการฝ่ายพลเรือน คือ สมุหนายก มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยทั่วไปในพระนคร
ส่วนตำแหน่งรองลงมาอีก ๔ ตำแหน่ง เรียกว่า เสนาบดีจตุสดมภ์ ประกอบด้วย
เสนาบดีกรมเมืองหรือกรมเวียง มีหน้าที่บังคับบัญชารักษาความปลอดภัยให้แก่ราษฎรทั่วไปทั่วทั้งราชอาณาจักร
เสนาบดีกรมวัง มีหน้าที่บังคับบัญชาการในพระบรมมหาราชวัง และพิจารณาความคดีแพ่ง
เสนาบดีกรมพระคลัง มีหน้าที่ในการรับ จ่าย และเก็บรักษาพระราชทรัพย์ที่ได้จากการเก็บส่วยอากร รวมถึงบังคับบัญชากรมท่า และการค้าขายที่เกี่ยวกับชาวต่างประเทศ และกรมพระคลังต่างๆ เช่น กรมพระคลังสินค้า
เสนาบดีกรมนา มีหน้าที่บังคับบัญชาเกี่ยวกับกิจการนาไร่ทั้งหมด

           ในด้านการบำรุงพระศาสนา ทรงทำนุบำรุงพระศาสนาเป็นอย่างมากและเกิดผลต่อมายังปัจจุบันนี้ รวบรวมได้ ๓ ลักษณะ กล่าวคือ
ประการที่ ๑ ทรงชำระและสถาปนาพระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่ ให้ดำรงสมณศักดิ์รับผิดชอบศาสนจักรให้รุ่งเรืองต่อไป และได้ทรงตราพระราชกำหนดกฎหมายกวดขันการประพฤติของพระสงฆ์อย่างเคร่งครัด
ประการที่ ๒ ทรงชำระประไตรปิฎกให้ถูกต้องบริบูรณ์ เป็นหลักในการศึกษาค้นคว้า
ประการที ๓ มีพระราชศรัทธาก่อสร้างและปฏิสังขรณ์พระอารามน้อยใหญ่ได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การสถาปนาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และวัดสุทัศน์เทพวราราม

           การทำนุบำรุงพระศาสนาที่สำคัญที่สุดคือ การทำสังคายนาชำระพระไตรปิฎกด้วยทุนรอนที่โปรดเกล้าฯให้จ่ายจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แต่ต่อมาปรากฏว่าพระไตรปิฎกที่ชำระจากพระคัมภีร์ไม่ถูกต้อง มีความผิดเพี้ยนอยู่มาก จึงโปรดเกล้าฯให้มีการชำระใหม่ในปีวอก พุทธศักราช ๒๓๓๑ อันเป็นปีที่ ๖ ในรัชกาล ส่วนทางด้าน ศาสนสถานนั้น ทรงสถาปนาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ขึ้นเป็นพระอารามหลวง พร้อมกับสถาปนาพระบรมมหาราชวัง ในปี พุทธศักราช  ๒๕๒๕ เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยนั้นฟื้นฟูแล้ว เมื่อสร้าง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสร็จทรงโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญ พระพุทธมหามณีรัตนศาสดาราม หรือพระแก้วมรกต มาประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตน-ศาสดาราม พุทธศักราช ๒๑๐๗ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองมีอำนาจขึ้น พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเห็นว่า ตั้งอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง จะสู้ศึกพม่ามอญไม่ได้ จึงย้ายราชธานีไปที่เมืองเวียงจันทน์ พร้อมกับอัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นมาด้วย และทรงประดิษฐานอยู่ที่นั้นเป็นเวลาถึง ๒๑๔ ปี จนเมื่อไทยทำสงครามกับกรุงศรีสัตนาคนหุต พระเจ้าตากสินมหาราชทรงโปรดเกล้าฯให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไปตีเมืองเวียงจันทน์ จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาไว้ยังกรุงธนบุรี ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นครองราชย์ ทรงสร้างกรุงรัตน-โกสินทร์ เมื่อ พุทธศักราช ๒๕๒๕ โปรดให้สร้างพระอารามขึ้นมาในพระบรมมหาราชวัง จึงโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานในพระอุโบสถ

           ในด้านวรรณกรรม ทรงฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม ส่วนใหญ่เป็นการฟื้นฟูด้านอักษรศาสตร์เป็นสำคัญ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นผู้พระราชนิพนธ์เองบ้าง กวีและผู้รู้เขียนขึ้นบ้าง ด้วยทรงสนพระทัยในด้านวรรณศิลป์เป็นอย่างมาก ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมที่ทรงคุณค่าไว้จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณคดีรามเกียรติ์ที่ทรงพระราชนิพนธ์ รู้จักกันในชื่อว่า รามเกียรติ์ รัชกาลที่ ๑ โดยสำนวนโวหารในพระองค์ท่านจะเป็นสำนวนแบบทหาร ถ้อยคำที่ใช้ตรงไปตรงมา

           ในด้านสถาปัตยกรรม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ฟื้นฟูงานช่างขึ้นมาใหม่ เนื่องด้วยช่างฝีมือดีสมัยกรุงศรีอยุธยาถูกพม่ากวาดต้อนไปหมด ที่เหลือก็น้อยเต็มที ทรงพระราชดำริให้ฟื้นฟูงานช่างประเภทต่างๆ เช่น งานช่างประดับมุก งานช่างเขียนลวดลายปิดทองรดน้ำ งานช่างเงินช่างทอง งานช่างไม้ งานแกะสลัก เป็นต้น โดยทรงสนับสนุนให้ช่างที่มีฝีมือเหล่านี้ได้มีโอกาสได้ทำงานช่างฝีมือต่างๆเพื่อเป็นการฝึกฝีมือ เช่น ทรงโปรดให้ช่างเงินช่างทองทำเครื่องราชูปโภคตลอดจนเครื่องยศต่างๆที่พระราชทานให้แก่ผู้อื่น ถ้าเป็นเรื่องช่างก่อสร้าง ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างวัด พระราชวัง เป็นต้น    การช่างประณีตศิลป์เหล่านี้ได้รับการฟื้นฟูขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนี้เอง

           ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าวข้างต้น ในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๔ พระองค์ (ร.๑-๔) ขึ้นเพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เป็นธรรมเนียมปีละครั้ง และโปรดเกล้าให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และมีการย้ายที่หลายครั้ง เช่น พระที่นั่ง พุทไธสวรรย์ปราสาท และพระที่นั่งศิวาลัยปราสาทเป็นต้น ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงโปรดให้ย้ายพระบรมรูปทั้ง ๔ (ร.๑-๔) มาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ ๕ พระชนกนาถ จนกระทั่ง ในเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๑ ได้มีการซ่อมแซมก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง ๕ รัชการ จึงสำเร็จลุล่วงและได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศตั้งพระราชพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ ๖ เมษายนปีนั้น และต่อมาโปรดฯให้เรียกวันที่ ๖ เมษายนว่า"วันจักรี” 

           ในวโรกาสวันที่ ๖ เมษายน เวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่ง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนพสกนิกรชาวไทยได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่พระองค์ทรงวางรากฐานในการบริหารประเทศในด้านต่างๆไว้ให้กับพสกนิกรชาวไทย ด้วยการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทในการนำเอาความรู้ ความสามารถ ผนวกกับความสามัคคีของคนในชาติ เพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และความสงบผาสุข สืบไปจนชั่วลูกชั่วหลาน

บทความโดย
ธนพร สิงห์นวล
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
 
 
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)