กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วันสำคัญ
“อนุรักษ์มรดกไทย” เทิดพระเกียรติฯ พระผู้เป็นดวงประทีปแห่งศิลปวัฒนธรรมของชาติ


 

           เมื่อถึงวันที่ ๒ เมษายน ของทุกปี ประชาชนชาวไทยทั่วผืนแผ่นดินนี้ล้วนปลื้มปิติ ด้วยทราบว่า เป็นวันครบรอบหรือวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระผู้มีพระราชจริยาวัตรที่งดงาม ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคคลบาทของพระราชบิดา พระผู้เป็นพลังของแผ่นดิน พระผู้ทรงเป็นที่รักและเทิดทูนยิ่งของปวงพสกนิกรชาวไทย

           ในขณะที่กระแสความนิยมของวัฒนธรรมต่างชาติ โดยเฉพาะวัฒนธรรมจากประเทศเกาหลีใต้ กำลังครอบงำมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการบริโภค และการแสดงออกของเด็ก เยาวชน รวมถึงประชาชนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น การแต่งกาย การร้องรำทำเพลง การบริโภคอาหาร เพลงสไตล์เคป๊อป ภาพยนตร์ เกมคอมพิวเตอร์ และอีกมากมายที่พบเห็นได้จนเป็นเรื่องปกติ แต่ที่เป็นเรื่องไม่ปกติและสร้างความหนักใจให้กับผู้ที่รักและหวงแหนมรดกภูมิปัญญาของชาติ เพราะเด็ก เยาวชน คนรุ่นปัจจุบัน เติบโตในท่ามกลางวัฒนธรรมของต่างชาติ ทำให้ห่างเหิน และละเลยต่อภูมิปัญญาและรากเหง้าของตนเอง ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้ขาดความรัก ขาดการเอาใส่ในวิถีชีวิต ในศิลปวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงความเป็นชาติไทย ถึงแม้กระแสของวัฒนธรรมต่างชาติจะร้อนแรงเพียงใด ประเทศไทยก็ยังไม่สิ้นหวังในการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษให้คงอยู่ได้ เมื่อมีพระผู้เป็นดวงแก้วเป็นดวงประทีปส่องความสว่างให้กับศิลปวัฒนธรรมของไทย ดังคำกล่าวของอาจารย์เสรี หวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ศิลปะการละคร) กล่าวไว้ว่า "ดนตรีไทยไม่สิ้นแล้ว เพราะพระทูลกระหม่อมแก้วเอาใจใส่”

           จากอดีตถึงปัจจุบัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่ล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศไทยในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ทรงเป็นแม่แบบให้พสกนิกรของพระองค์ได้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาหาความรู้ ด้วยการจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ทั้งการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรและภาพถ่าย แล้วนำมาจัดทำเป็นหนังสือ เป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่สามารถใช้อ้างอิง ให้ความรู้แก่พสกนิกร
ของพระองค์ ซึ่งเป็นภาพที่เราคนไทยหรือแม้กระทั่งชาวต่างชาติพบเห็นอยู่เสมอๆ ทุกครั้งที่พระองค์ต้องเดินทางไปประกอบพระราชกรณียกิจ ทั้งในและต่างประเทศ

           และพระราชกรณียกิจด้านหนึ่งที่พระองค์ไม่เคยละทิ้ง คือ งานด้านอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ที่ทรงเป็นผู้นำกระตุ้นให้ประชาชนชาวไทยหันมาใส่ใจและเห็นคุณค่า รวมถึงเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมในสาขาต่างๆ มรดกที่แสดงออกถึงสัญลักษณ์ของความเป็นชาติที่มีอารยะธรรมเป็นของตนเอง ให้มีการสืบทอดและรักษาไว้ให้คงอยู่ไปถึงชนรุ่นต่อไป

           ตัวอย่างที่เห็นภาพได้ชัดเจนของการเป็นผู้นำในการอนุรักษ์มรดกไทย เช่น งานด้านนาฏศิลป์ และดนตรีไทย ทรงร่วมแสดงและทรงดนตรีไทยในโอกาสต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ทรงมีความรู้เรื่องเพลงไทย และทรงดนตรีไทยได้อย่างเชี่ยวชาญ ทรงสนพระทัยในเครื่องดนตรีไทยตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ จากการทรงเรียนระนาดเอกอย่างจริงจังกับครูสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ครูดนตรีไทยอาวุโส ทรงฝึกหัดอย่างถูกแบบแผน ตามแบบอย่างโบราณ และทรงฝึกตีระนาดในแบบต่างๆ อย่างชำนาญ จนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙ ได้ทรงระนาดเอก ให้สาธารณชนได้ชมเป็นครั้งแรกในเพลงนกขมิ้น (เถา) ร่วมกับครูอาวุโสของวงการดนตรีไทยหลายท่าน

           ในงานดนตรีไทยอุดมศึกษา ครั้งที่ ๑๗ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ ในวันเปิดงานดนตรีไทยครั้งนั้น ได้ทรงระนาดเอกนำวงดนตรีของสถาบันต่างๆ โดยบรรเลงเพลงชื่นชุมนุมกลุ่มดนตรี ที่ได้ทรงพระราชนิพนธ์คำร้อง โดยอาจารย์มนตรี ปราโมท เป็นผู้ประพันธ์ทำนอง ต่อมาจึงใช้เพลงนี้เป็นเพลงประจำ และเป็นเพลงสัญลักษณ์ของงานดนตรีไทยอุดมศึกษา นอกจากจะทรงเป็นผู้นำในการแสดงดนตรีไทยแล้ว ยังทรงมีคุณูปการ
ต่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมด้านต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ

           ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อวงการศิลปะและวัฒนธรรมของไทย ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ รัฐบาลสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติประกาศให้ วันที่ ๒ เมษายน ของทุกปี เป็น "วันอนุรักษ์มรดกไทย” เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะทรงเป็นองค์เอกอัครราชูปถัมภ์ภกมรดกวัฒนธรรมของไทย ทรงมีพระราชกรณียกิจในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย
ในสาขาต่างๆ เช่น นาฏศิลป์ ดนตรีไทย ภาษาไทย วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ งานช่างไทย และงานด้านอื่นที่แสดงออกถึงภูมิปัญญาของไทย และเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนชาวไทยได้ตระหนักถึงคุณค่าในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ และเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของตนเอง ร่วมกันธำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมไทยให้ดำรงคงอยู่

           จากคุณูปการที่มีต่อวงการศิลปวัฒนธรรมของไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  ได้รับทูลเกล้าฯ ถวายพระสมัญญา ว่า "เอกอัครราชูถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย” และคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระสมัญญา "วิศิษฏศิลปิน” ซึงมีความหมายว่า ทรงมีพระอัจฉริยะภาพ และทรงพระปรีชาสามารถในศิลปะหลายสาขา ทรงเป็นปราชญ์ที่มีความรอบรู้ด้านวัฒนธรรมอย่างแท้จริง

           วันอนุรักษ์มรดกไทย จึงสมควรเป็นวันที่พสกนิกรชาวไทย ที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ควรเจริญรอยตามเบื้องพระยุคคลบาท มีส่วนร่วมในอนุรักษ์และปกป้องรักษาวัฒนธรรมของชาติ ตลอดจนร่วมกันรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษให้สืบทอด และปลูกฝังค่านิยมที่งดงามของไทย สร้างความภาคภูมิใจให้กับเด็ก และเยาวชน คนรุ่นปัจจุบันให้หันมาใส่ใจ และมีส่วนร่วมกันเป็นพลังในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้ยั่งยืนตลอดไป

***************

 บทความโดย
นายศาตนันท์ จันทรวิบูลย์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
(สำนักนวัตกรรมทางวัฒนธรรม)
 
 
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)