
ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งของคนไทยเชื้อสายมอญ (รามัญ) ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย มีการสืบทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ที่ชนชาติพม่าได้ขยายอิทธิพลลงมาทำให้ชาวมอญต้องอพยพมาสู่ดินแดนภาคกลางของไทย พร้อมกับได้นำศิลปวัฒนธรรม ความเชื่อ จารีตประเพณี และวิถีชีวิตของตนเองตามมาด้วย รวมถึงประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งอันเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวมอญ ซึ่งประเพณีดังกล่าวมีการสืบทอดมากันมาช้านาน โดยกำหนดจัดขึ้นช่วงวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ของทุกปี ชาวมอญมีความเชื่อมาจากพุทธศาสนาว่า การทำบุญตักบาตรน้ำผึ้งถวายแด่พระสงฆ์ จะมีอานิสงส์มาก อุดมไปด้วยโชคลาภ ทั้งชาตินี้และชาติหน้า น้ำผึ้งถือเป็นยาที่พระสงฆ์นำไปใช้ในยามจำเป็น ทำให้สุขภาพแข็งแรง ดังมีตำนานที่เล่าสืบต่อๆ กันมาว่า
ในสมัยพระทีปังกรพุทธเจ้ามีพระปัจเจกโพธิรูปหนึ่งอาพาธ ประสงค์ที่จะได้น้ำผึ้งมาผสมโอสถ เพื่อบำบัดอาการอาพาธ วันหนึ่งได้ไปบิณฑบาตในชนบทใกล้ชายป่า ขณะที่พระปัจเจกโพธิกำลังโปรดสัตว์ อยู่นั้นได้พบชายชาวบ้านป่าเกิดกุศลจิตขึ้น ชายผู้นั้นหวังที่จะถวายทานแด่พระปัจเจกโพธิ แต่ด้วยตนเองยากจนไม่มีอาหารอื่นใดจะถวายพระนอกจากน้ำผึ้งจำนวนหนึ่ง ด้วยจิตศรัทธาอย่างเปี่ยมล้นและสูงส่งของชายผู้นั้น เมื่อรินน้ำผึ้งลงในบาตรของพระปัจเจกโพธิ เกิดปรากฏการณ์อัศจรรย์คือ น้ำผึ้งเกิดเพิ่มพูนขึ้นจนเต็มบาตรและล้นบาตรในที่สุด ขณะนั้นมีหญิงชาวบ้านคนหนึ่งกำลังทอผ้าเห็นน้ำผึ้งล้นบาตร ด้วยจิตศรัทธาในพระปัจเจกโพธิ เกรงว่าน้ำผึ้งจะเปื้อนมือพระ จึงรีบนำผ้าที่ทอแล้วถวายแด่พระปัจเจกโพธิเพื่อซับน้ำผึ้งที่ล้นนั้น ชายผู้นั้นอธิษฐานด้วยอานิสงส์แห่งการถวายน้ำผึ้งเป็นทานขอเป็นพลังปัจจัยให้ได้เกิด เป็นผู้มั่งคั่งเป็นผู้มีอำนาจ ส่วนหญิงที่ถวายผ้าได้อธิษฐานขอให้ได้เกิดเป็นผู้ที่มีความงามและมีโภคยทรัพย์ ต่อมาเมื่อทั้งสองมรณะแล้วได้อุบัติใหม่ในโลกมนุษย์ชายผู้ถวายน้ำผึ้งได้บังเกิดเป็นพระราชาผู้มีความเข้มแข็ง และมั่งคั่ง ส่วนหญิงผู้ถวายผ้าได้บังเกิดเป็นธิดาของพระราชาอีกเมืองหนึ่ง มีความงามและความมั่งคั่งเช่นกัน
นอกจากนี้การถวายทานด้วยน้ำผึ้งยังมีตำนานปรากฏในชีวประวัติ "พระสีวลี” พุทธสาวกของพระพุทธเจ้าที่ทรงยกย่องให้เป็นภิกษุที่เป็นเลิศด้านลาภ โดยในอดีตชาติหนึ่งนั้นพระสีวลีเกิดเป็นชาวบ้านธรรมดา ในตำบลใกล้เมืองพันธุมวตี แต่เป็นผู้ขยันขันแข็งด้านการถวายทาน อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ชาวเมืองสมัยนั้นนิยมถวายทานแข่งกับพระราชา โดยชาวเมืองเห็นว่าน้ำผึ้งกับเนยแข็งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่ในทานของพวกเขา จำเป็นต้องจัดหามาถวายทานให้ได้เพื่อจะได้ไม่น้อยหน้าพระราชา ดังนั้นจึงแต่งตั้งคนดูต้นทาง ให้สอดส่องสังเกตหน้าประตูเมืองว่ามีใครมีของสองสิ่งนี้ติดตัวมาบ้าง ขณะเดียวกัน สีวลีหนุ่มก็กำลังเดินทางเข้าเมืองพร้อมด้วยเนยแข็งเพื่อนำไปแลกกับสิ่งของเครื่องใช้ ซึ่งระหว่างทางเขาได้พบรวงผึ้งขนาดเท่างอนไถที่ไม่มีผึ้งอาศัยอยู่ จึงนำติดตัวไปด้วย เมื่อผ่านประตูเมืองคนดูต้นทางไม่รอช้าเข้าเจรจาขอซื้อเนยแข็งกับรวงผึ้งทันทีในราคา ๑ กหาปณะ (๔ บาท) แต่สีวลีหนุ่มคิดว่านี่เป็นราคาที่สูงเกินไป จึงต้องการจะสืบต้นสายปลายเหตุให้รู้แน่ เขาจึงโก่งราคาไปเรื่อยๆ จนสูงถึง ๑,๐๐๐ กหาปณะ จึงได้สอบถามจนได้ความตามต้น สีวลีหนุ่มจึงตัดสินใจไม่ขาย แต่จะขอใช้น้ำผึ้งกับเนยแข็งนี้ร่วมทำบุญกับชาวเมืองด้วย ทั้งยังตั้งจิตอธิษฐานให้ผลบุญนี้ทำให้ตนเป็นเลิศด้านลาภยศในอนาคตด้วย
ดังนั้น การที่ชาวมอญได้ถวายน้ำผึ้งแด่พระภิกษุสงฆ์ตามแบบอย่างที่พระสีวลีเคยทำในชาติก่อนที่จะเป็นพระอรหันต์ในปัจฉิมชาติ ที่ได้เป็นเอตทัคคะทางด้านการมีลาภมากนั้น ก็เป็นเพราะว่า ชาวมอญเชื่อว่าการถวายน้ำผึ้งนั้นจะเป็นทางที่จะทำให้ผู้ที่ถวายจะมีโชคมีลาภ เหมือนกับพระสีวลี หากไม่สมหวังในชาตินี้ ในชาติหน้านั้นก็คงจะได้อย่างแน่นอน ซึ่งชาวมอญเชื่อกันว่าการถวายน้ำผึ้งของพระสีวลีในชาติก่อนนั้น มีผลทำให้ท่านได้เป็นเอตทัคคะทางด้านการมีลาภ และหากว่าผู้ใดอยากจะมีลาภเหมือนกับพระสีวลีก็ควรจะถวายน้ำผึ้ง จากความเชื่อดังกล่าวจึงเกิดเป็นมูลเหตุที่มาของประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งของชาวไทยเชื่อสายมอญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
...........................................
ขอขอบคุณที่มา : หนังสือประเพณีและพิธีกรรม ๔ ภาคของไทย โดย พิมุต รุจิรากูล , หนังสือ ประเพณีมอญที่สำคัญ โดย จวน เครือวิชฌยาจารย์ ,https://www.sac.or.th/databases/rituals/detail.php?id=48 ภาพ : www.otop-village.com