กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “ครองตน ครองคน ครองงาน หลักปฏิบัติของผู้บริหารและคนทำงาน”

วันที่ 4 ม.ค. 2564
 

 
     โดยทั่วไป คนส่วนใหญ่มักจะถือเอาช่วงปีใหม่เป็นเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงชีวิต เพราะเห็นว่าเป็นฤกษ์งามยามดี เหมาะที่จะเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ดังนั้น จึงขอถือโอกาสนี้เสนอแนวคิดและหลักปฏิบัติในเรื่อง การครองตน ครองคน และครองงาน ซึ่งพระคุณเจ้าพระธรรมเมธาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ) อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ ได้เคยแสดงเป็นธรรมเทศนาไว้ และเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นระดับผู้บริหารหรือ ผู้ปฏิบัติก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าแก่ตนได้อยู่เสมอ ทั้งนี้ได้เรียบเรียงใหม่ พร้อมสรุปในแต่เรื่องมาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้
 
     คำว่า "ตน” โดยความหมายแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ กายและจิต หากกายและจิตแยกจากกันเมื่อไร ตน ก็จะหายไป ถ้ามีกายไม่มีจิต ก็เรียกว่า ซากศพ หากมีแต่จิต แต่ไม่มีกาย เรียกว่า เจตภูมิหรือวิญญาณ ดังนั้น ตนจึงรวมทั้งกายและจิตเข้าด้วยกัน ในทางพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับจิตเป็นพิเศษ เพราะจิตใจสามารถพัฒนาให้สูงขึ้นได้ โดยทั่วไปคนมักให้ความสำคัญแก่ร่างกาย มีการบำรุงรักษา มีการบริหารร่างกายด้วยวิธีต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงจิตใจ ทั้งๆที่ใจมีความสำคัญยิ่ง ความดีความชั่วที่บุคคลกระทำมักเริ่มมาจากใจเป็นเบื้องต้น การบำรุงรักษาชีวิต ทางพุทธศาสนาจึงเน้นไปที่จิตใจ แต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับความจริงที่ว่า สัตว์โลกทั้งหลายอยู่ได้ด้วยอาหาร แต่ถือว่าเป็นเรื่องรองลงมา อีกทั้งความต้องการทางร่างกายก็มีข้อจำกัดในตัวมันเอง ส่วนจิตใจนั้นได้มีการศึกษา พัฒนาไว้โดยนัยต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงความสะอาด สงบและความสว่างตามหลักศีล สมาธิและปัญญาโดยลำดับ ในขั้นปฏิบัติ ก็เริ่มที่ตนเองก่อน โดยใช้หลักเดียวกับที่บุคคลกระทำต่อร่างกาย คือบำรุง บำบัด รักษา และป้องกัน ท่านกล่าวว่าในการที่บุคคลจะครองตนให้ได้ดีมีสุข จำเป็นต้องอาศัยความสำนึกเห็นคุณค่าของตน เห็นความรับผิดชอบที่ตนจะต้องมีต่อตนเอง พระพุทธองค์ได้ทรงเคยกล่าวไว้ว่า "ความรักอื่นเสมอด้วยตนไม่มี” ถ้าบุคคลรู้ตนเป็นที่รัก หรือพูดง่ายๆว่ารักตนเองแล้ว ก็ต้องคุ้มครองรักษาตน ไว้ให้ดี และมีการเตือนตนด้วยตน พิจารณา ตรวจสอบตนด้วยตน บุคคลผู้ปรารถนาความเจริญก้าวหน้าในชีวิต จะต้องทราบอุปกรณ์อันเป็นปัจจัยที่จะก่อให้เกิดผลดั่งที่ตนมุ่งหมาย ซึ่งในที่นี้ได้ให้หลักไว้ ๔ เรื่อง คือ
 
     ๑.พาหุสัจจะ ได้แก่ การศึกษาและการสดับตรับฟัง ซึ่งมี ๔ ขั้นตอน คือ สุตะ ได้แก่ การฟังมาก หรือการมีประสบการณ์ตรงนั่นเอง ใครฟังมาก รู้มาก ก็ได้เปรียบเพราะสามารถนำประสบการณ์หรือการได้ยินได้ฟังนั้นๆ มาปรับใช้ในงานได้มากกว่าผู้อื่น ธตา หรือการทรงไว้ซึ่งประสบการณ์นั้นๆ หมายถึง เมื่อเราฟังหรือมีประสบการณ์นั้นแล้ว สามารถทรงจำไว้เพื่อใช้ประโยชน์ต่อมาได้ มิใช่แค่ฟังแล้วผ่านเลยไป วจสาปริจิตา คือการสั่งสมด้วยวาจาหรือท่องได้ เพราะกฎเกณฑ์ ทฏษฎีที่สำคัญบางอย่างนั้น จำเป็นต้องจำเอาไว้มิให้ผิดพลาด จินตามยปัญญา คือปัญญาที่เกิดจากการพินิจพิจารณา หมายถึง การนำเอาประสบการณ์ทั้งสามอย่างตามที่กล่าวมาข้างต้นมาพิเคราะห์พิจารณาจนสามารถเข้าใจแจ่มแจ้ง จนกลายเป็นความรู้ ความเข้าใจที่จะนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเอง หรือนำไปอบรมแนะนำบุคคลอื่นๆได้
 
     ๒.ความฉลาดในศิลปะ พระพุทธเจ้าได้จำแนกวิชาและศิลปะไว้ว่า วิชาคือการศึกษาในทางโลกไม่ว่าจะเป็นวิชาอะไรก็ตาม ส่วนศิลปะถือเป็นอุบายในการเลี้ยงชีวิต การดำรงชีวิตและเสริมสร้างฐานะทางเศรษฐกิจของตนให้สูงขึ้น ข้อสำคัญบุคคลจะประกอบอาชีพใดก็ตามจำเป็นต้องมีความเฉลียวฉลาดในศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง และให้รู้จริง จนสามารถทำได้อย่างที่เขาว่า "รู้อะไรให้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล”
 
     ๓.การมีวินัยในตนเอง คือสามารถควบคุมตนเองได้ ไม่จำเป็นต้องอาศัยเงื่อนไข กติกาทางสังคมเข้าไปควบคุมหรือบังคับบัญชา เป็นความสำเหนียกที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของบุคคลจนสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรเป็นบาป บุญ คุณโทษ อะไรควรประพฤติปฏิบัติ อะไรควรละเว้น เหล่านี้สามารถปฏิบัติและควบคุมตัวเองได้ โดยไม่ต้องให้ใครมาสั่งการ ซึ่งการสร้างวินัยให้เกิดขึ้นภายในตนเองนั้น ก็คือการเสริมสร้างคุณธรรม ในเรื่อง "หิริและโอตตัปปะ” หรือ ความเกรงกลัวและละอายต่อบาป ให้บังเกิดในจิตใจนั่นเอง เพราะคนที่มีหิริและโอตตัปปะ เป็นเครื่องควบคุมจิตใจ จะเป็นผู้ที่ไม่กระทำผิดบาปหรืออกุศลทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ทั้งต่อหน้าและลับหลัง เพราะถือว่าแม้คนอื่นไม่เห็น แต่ตนเองหรือผีสางเทวดาก็ย่อมเห็น ซึ่งใครก็ตามที่มีหลักธรรมข้อนี้ในจิตใจ ย่อมสามารถคุ้มครองตนและผู้อื่นได้ด้วย
 
     ๔.การกล่าววาจาเป็นสุภาษิตหรือปิยวาจา นั่นก็คือ การพูดดี และพูดมีประโยชน์ เพราะคนที่พูดจาดี พูดไพเราะ อ่อนหวานน่าฟัง และมีประโยชน์ ใครฟังแล้วย่อมรื่นหู ไปที่ไหน คนก็ยินดีต้อนรับ เพราะไม่กล่าววาจาให้ระคายหู และไม่ก้าวร้าวระรานใคร
 
     หลักทั้งสี่ข้างต้น คือ หลักแห่งการครองตน หรือการบำรุงชีวิต จิตใจของตน กล่าวคือ การศึกษาสดับตรับฟังมากหรือพาหุสัจจะ เมื่อบำรุงเข้าไปแล้วก็จะขจัดความไม่รู้ ความโง่เขลาให้หมดไป ความฉลาดในศิลปะ เมื่อศึกษาแล้ว ก็จะทำให้สามารถทำมาหาเลี้ยงชีพได้ดี ความมีวินัยในตนเอง เมื่อมีแล้วก็จะช่วยให้รู้จักควบคุมตนเอง และเป็นคนเคารพกติกากฎเกณฑ์ต่างๆ ส่วนการมีวาจาดี ก็จะทำให้คนอื่นรู้สึกเป็นมิตร และสบายใจเมื่ออยู่ใกล้เรา เพราะเราไม่พูดเท็จ หลอกลวง หรือยุยง เสียดสี จนเกิดศัตรูโดยไม่รู้ตัว
 
     สำหรับ "การครองคน” นั้น ท่านบอกว่า นอกจากความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกันแล้ว หลักของการครองใจคน เป็นเรื่องปฏิกิริยาของบุคคล ผู้ที่ปรารถนาจะครองใจคนอื่น จะต้องสร้างกิริยาเพื่อให้เกิดผลตามที่ตนต้องการ ดังนั้น พื้นฐานจิตใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะผู้ทำงานระดับบริหาร จะต้องมี "พรหมวิหาร ๔" ซึ่งประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา แต่หลักธรรมที่ว่านี้ แม้พูดง่าย จำง่าย และเข้าใจง่าย แต่กลับเป็นธรรมะที่ปฏิบัติยากมาก เพราะคนเรามักจะมีเจือด้วยอคติ ราคะต่างๆ กล่าวคือ
 
     เมตตา มีความหมายว่า ความปรารถนาที่จะเห็นคนอื่น สัตว์อื่นเป็นสุข เป็นความปรารถนาดีต่อผู้อื่น หรืออาจกล่าวได้ว่า คือ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา เมื่อเราไม่ต้องการความทุกข์ฉันใด คนอื่นและสัตว์อื่นก็ไม่ต้องการฉันนั้น อย่างไรก็ดี ความเมตตาบางครั้งก็เจือด้วยราคะกำหนัดอยู่ด้วย เช่น บางคนใส่ใจสอนงานน้องฝึกงานคนหนึ่งอยู่เสมอ ซึ่งดูเหมือนมีเมตตาต่อเด็ก แต่จริงๆแล้ว เพราะชอบที่เด็กหน้าตาดี เป็นต้น
 
     กรุณา หมายถึง ความสงสาร ต้องการที่จะช่วยเหลือบุคคลอื่นให้พ้นทุกข์ เช่น เห็นคนประสบภัย เราก็บริจาคทรัพย์สิ่งของช่วยเหลือ แต่ความกรุณาบางครั้งของคนเราก็เจือด้วยอคติ เช่น ช่วยเหลือบ้านนั้นๆเพราะเป็นญาติของเพื่อนฝูง แบบนี้ถือเป็นฉันทาคติ คือ ช่วยด้วยความชอบความผูกพันส่วนตัว
 
     มุทิตา หมายถึง ความพลอยยินดี เมื่อบุคคลอื่นเขาได้ดี ไม่อิจฉาริษยา แต่มิใช่ว่าไปแสดงความยินดีเพราะมีสิ่งแอบแฝง เช่น นำของขวัญไปร่วมแสดงความยินดีกับเพื่อนที่ได้เลื่อนตำแหน่ง เพราะหวังว่าเขาจะช่วยเหลือเราในภายหน้า
 
     อุเบกขา คือ การทำใจเป็นกลาง ไม่แสดงความเสียใจ หรือดีใจเมื่อบุคคลอื่นประสบความวิบัติ กล่าวคือ หากคนที่เราชอบประสบความวิบัติเพราะความผิดของเขา ก็ไม่เสียใจ เศร้าโศกจนเกินเหตุ หรือคนที่เราไม่ชอบประสบความพินาศเสียหาย ก็ไม่ดีใจ สะใจ
 
     หลักพรหมวิหาร ๔ นี้ ถือเป็นหลักครองคนที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับบุคคลอันหลากหลาย และมีพื้นเพแตกต่างกัน ผู้ที่เป็นผู้บังคับบัญชาจะต้องมีความอดทน อย่างไรก็ดี ท่านบอกให้อดทน ใน ๔ กรณีเท่านั้น ไม่ใช่ให้อดทนในทุกกรณี เพราะบางกรณี ก็ไม่ควรอดทน แต่ต้องแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เกิดผลดีทั้งแก่บุคคลและกิจการที่บุคคลนั้นต้องปฏิบัติ ส่วนกรณีที่ควรอดทน ๔ กรณี ได้แก่
 
     ๑.อดทนต่อความวิปริตแปรปรวนตามธรรมชาติ
     ๒.อดทนต่อทุกขเวทนา ความเหนื่อยยากลำบากที่เกิดจากการงาน
     ๓.อดทนต่อทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ หรือว่าการกระทำของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และ
     ๔.อดทนต่อความเจ็บใจที่เกิดขึ้นจากการถูกสบประมาท ดูถูกดูหมิ่น เป็นต้น
 
     การครองคนนี้ ท่านบอกว่าผู้บริหาร หัวหน้า ฯลฯ ตั้งแต่ระดับครอบครัวเป็นต้นไป ต้องเป็นคนประพฤติปฏิบัติธรรมด้วย จึงจะสามารถว่ากล่าวตักเตือนผู้อื่นได้ เพราะหากเป็นคนไม่มีธรรมะ เมื่อตนบกพร่อง ก็ยากที่จะให้คนอื่นเชื่อถือหรือปฏิบัติตาม ดังนั้น การครองคน จึงต้องครองให้เข้าถึงใจ เพราะหากครองด้วยกฎเกณฑ์ ระเบียบ กฎหมาย คนก็ให้ความเคารพนับถือตามธรรมดา แต่หากครองด้วยใจแล้ว โอกาสจะให้ความร่วมมือ ร่วมความคิด และร่วมทำประโยชน์ที่พึงประสงค์ก็จะบังเกิดขึ้นโดยง่าย ไม่เกิดการต่อต้านทั้งต่อหน้าและลับหลัง
 
     ส่วนการ "ครองงาน” อันเป็นเรื่องสุดท้าย ท่านบอกว่า ให้เริ่มด้วยความขยันหมั่นเพียร แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ทรงเป็นแบบอย่างของความเพียรก่อนจะสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า ซึ่งการครองงานนี้มีขั้นตอน คือ
 
     -ทำงานที่มาถึงให้สำเร็จลุล่วงไป หมายถึง วันนี้มีอะไรต้องทำ ก็พยายามทำงานนั้นให้สำเร็จเสร็จสิ้นไป ไม่คั่งค้าง ผัดวันประกันพรุ่ง
 
     -งานที่แทรกซ้อนขึ้นมา แม้จะเป็นงานจร ก็ควรทำให้สำเร็จด้วย เพื่อมิให้งานพอกพูน
 
     -ให้ทำงานด้วยความขยันเอาจริงเอาจัง ไม่ให้ความสำคัญกับปัจจัยภายนอก เช่น ไม่อ้างว่าหนาวไป ร้อนไป เลยไม่ทำงานนั้นๆ แต่ถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมชาติที่จะต้องอดทน
 
     -มีสติในการทำงานอยู่เสมอ คือ ก่อนทำ ระหว่างทำ และหลังทำ รู้ว่าตนกำลังทำอะไร หากมีสติตลอดเวลาในการทำงานทั้งสามช่วงดังกล่าว กิจการงานต่างๆก็จะไม่มีความบกพร่องเกิดขึ้น เพราะรู้ตัวตลอดเวลา ว่าทำอะไรอยู่
 
     - งานที่ทำจะต้องเป็นงานที่ "สะอาด” คือเป็นสัมมาชีพ หมายถึงอาชีพที่ถูกต้องดีงาม เพราะสามารถทำได้อย่างยั่งยืน มั่นคง และไม่ผิดศีลธรรม
 
     -ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงกระทำ หมายถึง งานทุกอย่างควรมีการวางแผน ศึกษาข้อมูลและประเมิน สรุปผล ซึ่งจะสามารถทำให้เห็นแนวทางการปฏิบัติ ไม่เสียเวลาและเกิดผลดี
 
     -ธรรมชีวิโน คือ มีชีวิตโดยธรรม หมายถึง การปฏิบัติตนให้ผสมกลมกลืนอยู่กับธรรมะ เพราะคนเราทุกคนล้วนอยากให้คนอื่นเห็นคุณค่าของตน ซึ่งคุณค่าในที่นี้ก็คือ คุณภาพหรือคุณสมบัติที่บุคคลนั้นๆมีอยู่ อันหมายถึง คุณธรรมนั่นเอง เพราะชีวิตต้องมีหลักศีลธรรมไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดๆเป็นตัวหล่อเลี้ยง เป็นตัวคุ้มครองรักษา และเป็นตัวสร้างคุณค่าอันควรแก่การยกย่องสรรเสริญ
 
     หลักการครองตน ครองคน และครองงาน ข้างต้น อันที่จริงแล้ว ส่วนใหญ่ก็เป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชนทั่วไปพอจะทราบกันดีอยู่แล้ว แต่อาจจะปล่อยปละละเลยกันไปบ้างด้วยเหตุปัจจัยบางอย่าง แต่หากเรารักตนเองและประสงค์จะเป็นที่รักของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นผู้บังคับบัญชา เพื่อนฝูง หรือญาติมิตร หลักดังกล่าวคงไม่ยากที่เราจะประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในชีวิตประจำวัน เพราะหลักธรรมเหล่านี้ ปฏิบัติเมื่อใด ก็ให้ผลดีเมื่อนั้น และเป็นสิ่งที่เราต้องทำด้วยตนเอง ดังพุทธพจน์ที่ว่า "อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน”
 
 .........................................................................................
 
 
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)