
อีกไม่กี่วันก็จะสิ้นปีเก่าแล้ว วันเวลามักเดินเร็วเสมอ ทุกท่านเคยสงสัยกันไหมว่าประเพณีวันปีใหม่นั้น เริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ มาหาคำตอบกันค่ะ
วันขึ้นปีใหม่ ความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า "ปี” ไว้ดังนี้ ปี หมายถึง เวลา ชั่วโมงโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว ๓๖๕ วัน : เวลา ๑๒ เดือนตามสุริยคติ
สำหรับประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทยนั้น มีมาตั้งแต่สมัยโบราณโดยถือเอาวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้ายเป็นวันขึ้นปีใหม่ถือเหมันตฤดูเป็นการเริ่มต้นปี สมัยโบราณวันขึ้นปีใหม่ ถือคติพราหมณ์ ใช้วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ เป็นวันขึ้นปีใหม่ และเป็นเช่นนั้นตลอดมา จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๓๒ แห่งรัชกาลที่ ๕ จึงเปลี่ยนมาเป็นวันที่ ๑ เมษายน ทั้งนี้เนื่องจากทางราชการนิยมใช้หลักสุริยคติ แต่ยังคล้องตามคติพราหมณ์อยู่นั่นเอง เพราะเดือน ๕ ก็ตรงกับเดือนเมษายนเรื่อยมา ต่อมาทางราชการประกาศเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ เนื่องจากมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติปฏิทิน พ.ศ.๒๔๘๓ และเริ่มใช้เมื่อ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๓ รัฐบาลจึงประกาศใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังนั้น ในปี พ.ศ.๒๔๘๓ จึงมีเพียง ๙ เดือนเท่านั้น คือเดือนเมษายน ถึงเดือนธันวาคม เพื่อให้สอดคล้องกับปฏิทินสากล ประกาศใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่อย่างเป็นทางการ ณ วันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๓ โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ การใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้ในนานาประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก แต่ก็ไม่สำคัญเท่าที่เราได้ฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีไทยแต่โบราณกาล ซึ่งเราได้ละทิ้งเสียโดยอิทธิพลของพราหมณ์กลับมาใช้ใหม่การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ย่อมเป็นเกียรติแก่ประเทศไทย ทั้งในส่วนเกี่ยวข้องกับชาติของเราเอง และทางสัมพันธ์กับชาติที่เจริญแล้วทั้งหลาย ไทยจึงถือวันที่ ๑ มกราคม ของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยจวบจนทุกวันนี้
แม้ว่าวันที่ ๑ มกราคม จะถือปฏิบัติเป็นวันขึ้นปีใหม่อย่างเป็นทางการแล้วก็ตามแต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังคงถือวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยด้วยเช่นกัน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ประชาชนชาวไทยจะมีงานรื่นเริง และมหรสพ เพื่อเป็นการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ตั้งแต่คืนวันที่ ๓๑ ธันวาคม จนถึงวันที่ ๑ มกราคม ซึ่งทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจะมีการมีการจัดกิจกรรมร่วมนับถอยหลัง เพื่อก้าวสู่วันใหม่ มีการแลกบัตรอวยพรและของขวัญเพื่อเชื่อมความสมัครสมานสามัคคี โดยกิจกรรมที่ชาวไทยส่วนใหญ่มักจะยึดถือปฏิบัติกันในวันขึ้นปีใหม่ ได้แก่
๑.การทำบุญตักบาตร ซึ่งอาจจะทำที่บุญตักบาตรบ้านหรือไปที่วัด หรือตามสถานที่ต่างๆที่ทางรัฐบาลจัดขึ้น เช่น มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
๒. ถือศีล ปฏิบัติธรรม หรือฟังธรรมเทศนา ปล่อยนก ปล่อยปลา เพื่อให้จิตใจสดชื่นแจ่มใสเบิกบาน
๓. กราบขอพรผู้ใหญ่และอวยพรเพื่อนฝูง ในอดีตอาจเขียนการ์ดอวยพรปีใหม่ ส่งทางไปรษณีย์ แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ก็สามารถอวยพรกันผ่านทางไลน์ ทางเฟส หรือโทรศัพท์แทนเพราะสะดวกและมีค่าใช่จ่ายน้อย
๔.ทำความสะอาดบ้านและที่พักอาศัย
๕.การจัดงานรื่นเริง ในหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน หรือภายในครอบครัว เพื่อส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
วันขึ้นปีใหม่นับเป็นโอกาสอันดีในการที่เราจะได้ทบทวนตัวเอง เรื่องการดำเนินชีวิตในปีที่ผ่านมาว่ามีอะไรที่เรายังไม่ได้ทำหรือทำแต่ขาดตกบกพร่องไป เราจะได้นำประสบการณ์เหล่านั้นมาปรับปรุงให้ดีขึ้นในปีใหม่สำหรับปีใหม่ที่ใกล้จะมาถึงในอีกไม่กี่วันนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย โปรดดลบันดาลให้แฟนเพจกรมส่งเสริมวัฒนธรรมทุกท่าน จงประสบแต่ความสุข ความสำเร็จ ความอุดมสมบูรณ์ ในสิ่งอันพึงปรารถนาทุกประการ โชคดีปีใหม่ ๒๕๖๔
...................................
ขอบคุณที่มา : http://www.aksorn.com , https://sites.google.com/site/karxxkbaebwebsit/khwam-sakhay-khxng-wan-khun-pi-him