กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “ปีฉลู-วัว”

วันที่ 28 ธ.ค. 2563
 
   
     ปี พ.ศ. ๒๕๖๔ จะเป็นปี "ฉลู” หรือ "วัว” อันเป็นลำดับที่ ๒ ของรอบปีนักษัตร ซึ่งคำว่า "นักษัตร” หมายถึง รอบกำหนดเวลา ๑๒ ปี เป็นหนึ่งรอบ โดยใช้สัตว์ ๑๒ ชนิดมาเป็นเครื่องหมายแต่ละปี อันได้แก่ ชวด-หนู ฉลู-วัว ขาล-เสือ เถาะ-กระต่าย มะโรง-มังกร มะเส็ง-งู มะเมีย-ม้า มะแม-แพะ วอก-ลิง ระกา-ไก่ จอ-หมา และกุน-หมู
 
     ในหนังสือ "สิบสองนักษัตร” ของ อ.สมบัติ พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติ พูดถึงเรื่องสิบสองนักษัตรว่า เป็นเรื่องดึกดำบรรพ์นานมาก และมีตำนานของจีนกล่าวกันต่างๆ ถึงมูลเหตุของสิบสองนักษัตร ส่วนเรื่องการใช้สัตว์เป็นชื่อปีนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงวินิจฉัยว่า"ข้าพเจ้าเห็นว่า การที่เอารูปสัตว์ใช้เป็นเครื่องหมายแทนสิ่งอื่น มีประโยชน์ให้จำสิ่งนั้นได้ง่าย ถ้าหากชื่อปีใช้เขียนตัวอักษร และอ่านตามภาษาที่เขียน เมื่อพ้นเขตประเทศที่ใช้ตัวอักษรและภาษานั้นออกไปถึงนานาประเทศ ซึ่งต่างประเทศใช้ตัวอักษรและภาษาอื่น ชื่อปีที่บัญญัติก็ไม่มีใครเข้าใจ ไม่เป็นประโยชน์อันใด.....จึงเห็นว่าที่เอารูปสัตว์มาใช้หมายถึงชื่อปีนั้น เพื่อจะให้จำได้สะดวก” ซึ่งประเทศที่ใช้สิบสองนักษัตรจะเป็นกลุ่มเอเชีย ได้แก่ ไทย จีน ญวน ญี่ปุ่น เกาหลี เขมร ลาว และทิเบต นอกจากสิบสองนักษัตรจะเป็นเครื่องหมายที่สังเกตของการนับปีแล้ว ต่อมาภายหลังยังได้เกิดมีตำราพยากรณ์ชีวิตเกี่ยวกับคนเกิดปีนั้นๆ ด้วย ไทยเองก็มีตำราคล้ายๆ กันที่เรียกว่า "พรหมชาติ”
 
     วัว หรือ โค เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์มาช้านาน มนุษย์เราใช้ประโยชน์จากวัวมากมาย ตั้งแต่การใช้แรงงาน ใช้เป็นแหล่งอาหารโปรตีน (เนื้อ นม) รวมถึงการใช้ประโยชน์จากหนัง ซึ่งการที่วัวมีประโยชน์หลายอย่างนี้เอง จึงทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกพยายามพัฒนาสายพันธุ์วัวให้เหมาะกับภูมิอากาศท้องถิ่นของตน เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการเป็นแหล่งอาหาร
 
     ลักษณะโดยทั่วไป วัวเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง (หมายถึง สัตว์ที่กินอาหารหรือหญ้าเข้าไปแล้ว ก็จะขยอกของที่กินเข้าไป ออกมาเคี้ยวอีกครั้ง นอกจากวัวควายแล้ว พวกแพะ แกะก็เป็นแบบเดียวกัน สัตว์พวกนี้จะมีระบบย่อยอาหารต่างจากคนหรือสัตว์อื่น คือ จะมี ๔ กระเพาะ) วัวจะมีเขาคู่อยู่เหนือกกหู มีลักษณะแข็งเช่นเดียวกับกระดูก ใช้เป็นอาวุธป้องกันตัวและทำร้ายฝ่ายตรงกันข้าม ถ้าเป็นจ่าฝูงจะเป็นตัวที่มีเขายาวสวยที่สุด ส่วนรอยคอดที่เขาวัวตัวเมียจะใช้บอกจำนวนลูกที่มีได้ เนื่องจากเป็นรอยที่เกิดจากการที่แม่วัวสูญเสียธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัสในระหว่างลูกอยู่ในท้อง วัวจะใช้หางปัดแมลงที่มาตอมตามเนื้อตัว ปกติมันจะสะบัดหางไปมา แต่หากเครียดหรือตกใจ จะสะบัดหางจากบนลงล่าง
 
     "พิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” เป็นพิธีหลวงที่เรารู้จักกันดี โดยพระราชพิธีพืชมงคลจะเป็นพิธีทางพุทธ เป็นการทำขวัญข้าวเปลือกและพืชพรรณ ส่วนพิธีจรดพระนังคัลเป็นพิธีพราหมณ์ ซึ่งพระมหากษัตริย์จะลงมือไถเป็นครั้งแรกของปี สองพิธีนี้รวมเรียกว่า "แรกนาขวัญ” ที่มีวัว หรือ "พระโค” มาเกี่ยวข้อง โดยพระโคที่จะใช้ประกอบพิธีนี้กำหนดให้ใช้เพศผู้ และต้องมีลักษณะดี มีรูปร่างสมบูรณ์ มีความสูงไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ ซม. ในพิธีแรกนาขวัญแต่ละครั้งจะมีของให้พระโคกินเสี่ยงทาย ๗ อย่าง ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่ว งา เหล้า น้ำและหญ้า แต่ละอย่างก็จะบอกถึงสภาพความอุดมสมบูรณ์ของปีนั้นๆ ซึ่งเมื่อพระโคกินสิ่งใด โหรหลวงก็จะทำนายไปตามนั้น
 
     ส่วนรูปปั้นโคที่เรามักพบเห็นตามศาสนสถานคือ "โคนนทิ” หรือ "โคอุศุภราช” เป็นพาหนะประจำพระองค์ของพระศิวะ (พระอิศวร) ซึ่งมีการพูดถึงที่มาสองแบบ คือ แบบแรกบอกว่า เป็นโคเผือกที่เกิดจากแม่โคชื่อ "โคสุรภี” (โคที่กำเนิดมาจากการกวนเกษียรสมุทร) โดยแต่เดิมพระกัศยปะต้องการให้โคสุรภีเป็นพาหนะของพระศิวะ แต่ติดว่าเป็นเพศเมีย จึงเนรมิตโคเพศผู้มาสมสู่กับนางโคสุรภี จนเกิดเป็นลูกโคเพศผู้ตัวขาวปลอด มีลักษณะดี จึงประทานชื่อให้ว่า "นันทิ หรือ นนทิ” แล้วถวายให้พระศิวะเป็นพาหนะ ส่วนอีกตำราว่านนทิเป็นเทพบุตรองค์หนึ่ง มีหน้าที่ดูแลบรรดาสัตว์ ๔ ขาต่างๆ ที่เชิงเขาไกรลาส มักแปลงตนเป็นโคเผือกเพื่อให้พระศิวะใช้เป็นพาหนะ
 
     ทางภาคใต้ของไทยมีกีฬาอยู่ประเภทหนึ่งคือ "การชนวัว” ซึ่งเป็นที่นิยมกันมานาน ถึงกับมีตำราดูลักษณะวัว บรรยายถึงลักษณะสีของวัว เขา และขวัญไว้อย่างละเอียด เช่น ตำราดูสีของวัว จะมีชื่อเรียกวัวหรือโคต่างๆ กัน เช่น โคหงส์ คือ วัวที่มีสีตัวแดงสะอาด โคเพชร จะมีสีตรงข้ามกับชื่อ คือตัวจะเป็นสีดำนิล หรือดำเป็นเงา สองชนิดนี้ในตำราถือเป็นวัวชั้นดี ไม่ให้โทษแก่เจ้าของ แต่จะดียิ่งขึ้น หากเป็นสีแดงเพลิง และมีรอยด่างตั้งแต่โคนหางไปถึงตา ซึ่งจะเรียกว่า โคศุภราช ตามตำราว่าใครเลี้ยงไว้จะเป็นเศรษฐีมั่งมีทรัพย์ ส่วนวัวที่มีลักษณะเลวร้ายมีอยู่ ๓ ชนิดได้แก่ กจะเพลิง เป็นวัวสีดำแต่คนละอย่างกับโคเพชร มีลิ้นแดง หรือตัวแดงแต่ลิ้นดำ หรือตัวขาวลิ้นดำ เปลวเพลิง เป็นวัวสีแดง แต่มีรอยด่างทั้งตัว และวัวที่มีลายดังลายเสือ และมีรอยด่างทั้งตัว เหล่านี้ถือเป็นวัวให้โทษ ไม่นิยมเลี้ยงไว้
 
     สำหรับคำพังเพย ภาษิตและสำนวนไทยที่เกี่ยวกับวัว มักจะมีความหมายไม่ค่อยดี เช่น วัวหายล้อมคอก คือ ไม่คิดป้องกันก่อน จนเกิดความเสียหายถึงป้องกัน วัวลืมตีน คือ คนที่ได้ดีแล้วลืมตน ตีวัวกระทบคราด คือ ทำกระทบไปถึงคนอื่น เขียนเสือให้วัวกลัว คือ พูดจาข่มขู่ วัวแก่กินหญ้าอ่อน คือ ชายแก่ได้เมียสาว ความวัว ไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก คือ เดือดร้อนซ้ำซ้อนขึ้นมา ข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า คือ บังคับขืนใจให้ทำ วัวสันหลังหวะ คือ ทำผิดแล้ว มีอาการส่อพิรุธ กลัวจะมีคนรู้เรื่องมาพูดให้คนอื่นรู้
 
     ตามตำรา "พรหมชาติ” หรือตำราหมอดูโบราณ กล่าวถึงคนปีฉลูไว้ว่า เป็นพวกธาตุดิน เป็นคนใจบุญ พูดจาไพเราะ เป็นที่ชอบใจของผู้ใหญ่และสมณชีพราหมณ์ ถ้าเป็นชายก็เจรจาถูกใจหญิง ถ้าเป็นหญิงมักจากผัว โดยทั่วไปเป็นผู้มีความคิดสุขุม ฉลาด มีจิตเมตตาชอบทำประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่ทำคุณคนไม่ขึ้น อาชีพที่เหมาะคือ ครู แพทย์ หมอดู และนักบวช
 
.............................................
 
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)