ช่วงระหว่างปลายเดือนกันยายนเข้าสู่เดือนตุลาคม นอกจากจะมีเทศกาลถือศีลกินเจแล้ว ยังมีวันออกพรรษา ที่เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง เนื่องจากเป็นวันที่สิ้นสุดระยะเวลาจำพรรษา ๓ เดือนของพระภิกษุสงฆ์ โดยพระภิกษุสงฆ์จะทำสังฆกรรมปวารณาออกพรรษาในวันนี้ ซึ่งจะตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ หลังวันเข้าพรรษา ๓ เดือน หรือประมาณเดือนตุลาคมของทุกปีตามปฏิทินไทย
การออกพรรษานี้ ถือเป็นข้อปฏิบัติตามพระวินัยของพระภิกษุสงฆ์ที่เรียกว่า ปวารณา (แปลว่า อนุญาต หรือ ยอมให้) ที่ถูกกำหนดโดยพระวินัยบัญญัติ คือ ให้โอกาสแก่พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ร่วมกันตลอดระยะเวลา ๓ เดือน สามารถว่ากล่าวตักเตือนและชี้ข้อบกพร่องแก่กันและกันได้โดยเสมอภาคด้วยจิตที่ดีต่อกัน เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ที่ถูกว่ากล่าวตักเตือน ได้มีโอกาสรับรู้ข้อบกพร่องของตนและนำไปแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น
เมื่อถึงวันออกพรรษา พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่จะเข้าวัดเพื่อบำเพ็ญบุญกุศลแก่พระภิกษุสงฆ์ที่ตั้งใจจำพรรษาเพื่อปฏิบัติธรรมตลอดจนครบระยะเวลา ๓ เดือน ซึ่งการบำเพ็ญบุญกุศลที่พุทธศาสนิกชนนิยมปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นประเพณี คือ
การทำบุญตักบาตรครั้งใหญ่ หรือที่เรียกกันว่าตักบาตรเทโว หรือตักบาตรเทโวโรหณะ ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือหลังจากออกพรรษาแล้ว ๑ วัน ประเพณีการตักบาตรเทโวในสมัยพุทธกาลนั้น กล่าวคือเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมและเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาโดยจำพรรษาอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเวลา ๑ พรรษา และเมื่อออกพรรษาแล้ว พระองค์ได้เสด็จกลับยังโลกมนุษย์ ณ เมือง สังกัสสนคร การที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในครั้งนั้นบรรดาพุทธศาสนิกชนผู้มีความเลื่อมใสศรัทธา เมื่อทราบข่าวต่างพร้อมใจกันไปรอตักบาตรเพื่อรับเสด็จกันอย่างเนืองแน่น จนถือเป็นประเพณีตักบาตรเทโวสืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน สำหรับของที่พุทธศาสนิกชนนิยมนำมาใส่บาตรอาจแตกต่างกันไปบ้างขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่น โดยบางแห่งอาจนิยมทำข้าวต้มลูกโยน ที่ทำจากข้าวเหนียว ห่อด้วยใบมะพร้าว ไว้หางยาว เพื่อสะดวกในการโยนใส่บาตร นอกจากประเพณีการตักบาตรเทโวแล้ว ยังมีพิธีทอดกฐิน พิธีทอดผ้าป่า และประเพณีการเทศน์มหาชาติ ที่นิยมทำกันในวันออกพรรษาด้วย
โดยพิธีทอดกฐินนั้น ในสมัยพุทธกาลเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ พระเชตวนาราม ซึ่งเป็นพระอารามที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้สร้างถวายเป็นพุทธนิวาส ได้มีภิกษุ ๓๐ รูป ชาวเมืองปาฐา ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตกในแคว้นโกศล เดินทางมาหมายจะเฝ้าพระพุทธองค์ที่เมืองสาวัตถี แต่มาไม่ทันเพราะใกล้ถึงวันเข้าพรรษา จึงเข้าพักจำพรรษา ณ เมืองสาเกต อันมีระยะทางห่างจากเมืองสาวัตถีราว ๖ โยชน์ พระภิกษุสงฆ์ทั้ง ๓๐ รูป ล้วนแต่เป็นผู้เคร่งครัดปฏิบัติธุดงค์และต่างมีความศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะได้เฝ้าพระบรมศาสดา เมื่อถึงวันออกพรรษาแล้ว ก็รีบเดินทางไปยังเมืองสาวัตถีโดยไม่มีการรั้งรอแม้ว่ายังเป็นช่วงที่ฝนตกหนักน้ำท่วม เมื่อพระภิกษุสงฆ์ทั้ง ๓๐ รูป ได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดาตามความตั้งใจแล้ว ครั้นพระองค์ตรัสถามจึงได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบ พระบรมศาสดาดำริถึงความยากลำบากของพระภิกษุสงฆ์เหล่านั้น จึงเรียกประชุมพระภิกษุสงฆ์ แล้วตรัสอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์รับผ้ากฐินได้
สำหรับพิธีทอดผ้าป่า ในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งที่พระบรมศาสดายังมิได้ทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายรับจีวรจากชาวบ้าน พระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นจึงต้องเก็บผ้าที่เขาทิ้งแล้ว เช่น ผ้าเปรอะเปื้อนที่ชาวบ้านไม่ต้องการนำมาทิ้งไว้ หรือผ้าที่ห่อศพ เมื่อรวบรวมผ้าเหล่านั้นพอแก่ความต้องการแล้ว จึงนำมาทำความสะอาด ตัดเย็บและย้อมเพื่อทำเป็นจีวร สบง การทำจีวรของพระภิกษุสงฆ์ในสมัยพุทธกาลกล่าวได้ว่า ค่อนข้างยุ่งยาก ครั้นชาวบ้านเห็นความยากลำบากของพระภิกษุสงฆ์จึงนำผ้ามาถวาย แต่เมื่อยังไม่มีพุทธานุญาตโดยตรง จึงต้องนำผ้าไปทอดทิ้งไว้ ณ ที่ต่างๆ เช่น ตามป่าช้าหรือข้างทางเดิน เมื่อพระภิกษุสงฆ์มาพบ ก็นำเอามาทำเป็นสบง จีวร จึงเป็นที่มาของพิธีการทอดผ้า สำหรับในประเทศไทย พิธีทอดผ้าป่าได้รื้อฟื้นขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ด้วยทรงมีพระประสงค์จะรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีในทางพระพุทธศาสนาไว้
ส่วนประเพณีการเทศน์มหาชาตินั้น ถือเป็นการทำบุญที่สำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นประเพณีของพุทธศาสนิกชนชาวไทยที่สืบทอดมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ด้วยความเชื่อที่ว่าถ้าผู้ใดได้ฟังเทศน์มหาชาติจบภายในวันเดียวทั้ง ๑๓ กัณฑ์แล้วจะได้บุญกุศลแรง ประเพณีการเทศน์มหาชาติ จะทำในช่วงหลังออกพรรษา และหลังกฐิน ซึ่งก่อนที่จะมีการเทศน์มหาชาติ จะต้องแจ้งให้ชาวบ้านได้ทราบล่วงหน้า เพื่อที่ชาวบ้านจะได้มีเวลาเตรียมของไปทำบุญ ในวันเทศน์มหาชาติเจ้าภาพแต่ละกัณฑ์เทศน์ จะนำเครื่องกัณฑ์เทศน์ใส่กระจาด ซึ่งเครื่องกัณฑ์เทศน์ประกอบด้วย ขนมต่างๆ เช่น ขนมกรอบ ขนมกง ขนมกรุย ข้าวเม่ากวน นอกจากนี้ยังมีอาหารแห้งอีกด้วย อาทิ ข้าวสาร น้ำปลา ผลไม้ และยังมีเครื่องกัณฑ์อื่นๆ อีก เช่น ผ้าไตร บาตร ย่าม เครื่องบริขาร ทั้งนี้จะต้องเตรียมดอกไม้ ธูปเทียน และเงินถวายบูชากัณฑ์เทศน์ด้วย
เนื่องในวันออกพรรษาปีนี้ ตรงกับวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๔ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมกันปฏิบัติตนตามแนวทางการปวารณาของพระภิกษุสงฆ์ คือ การยอมรับการว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกันได้ ด้วยจิตที่บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำงานหรือการอยู่ร่วมกันในสังคม ถ้าเรายอมรับคำตักเตือนหรือความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ และพร้อมที่จะนำข้อผิดพลาดเหล่านั้นมาปรับปรุงแก้ไข ความขัดแย้งหรือการทะเลาะวิวาทก็จะไม่เกิดขึ้น ชีวิตเราก็จะมีแต่ความสุข คนรอบข้างเราก็จะมีความสุขตามไปด้วย
***************************
สำนักประชาสัมพันธ์และเทคโนโลยีสารสนเทศ
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม |