กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “พระโพธิสัตว์คือใคร”

วันที่ 7 ธ.ค. 2563
 

     ในพุทธศาสนา "พระโพธิสัตว์” หมายถึง บุคคลผู้ที่ปรารถนาพระโพธิญาณ (คือปัญญาหรือความรู้) เพื่อจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ซึ่งทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายานต่างก็เชื่อว่ามีพระโพธิสัตว์เป็นจำนวนมาก

 
     คำว่า "โพธิ” แปลว่า "ตรัสรู้” (ใช้กับพระพุทธเจ้า หมายถึงรู้แจ้งสภาวะทั้งหลายตามความเป็นจริง) ส่วนคำว่า "สัตว์” ตามรากศัพท์แปลว่า "ผู้ข้อง” ดังนั้น "โพธิสัตว์” จึงหมายถึง "ผู้ข้องอยู่เพื่อการตรัสรู้” ทั้งนี้คำว่า สัตว์ ยังหมายถึง สัตว์โลก ที่ครอบคลุมทั้งมนุษย์และสัตว์เดรัจฉาน หากดูจากอดีตชาติของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน (พระโคตมหรืออดีตเจ้าชายสิทธัตถะ) นอกจากจะเสวยพระชาติเป็นมนุษย์ พระองค์ก็ยังเคยเสวยชาติเป็นสัตว์ต่าง ๆ มาแล้วเช่นกัน อาทิ เป็นไก่ ลิง สุนัข กวาง และช้าง เป็นต้น
 
     อาจกล่าวได้ว่า "พระพุทธเจ้า” แต่ละองค์ ล้วนเคยเป็น "พระโพธิสัตว์” มาก่อน แต่ใช่ว่าพระโพธิสัตว์ทุกองค์จะได้เป็นพระพุทธเจ้าสมดังความปรารถนา เพราะไม่ว่าจะมีสภาวะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ หากต้องการจะบรรลุพระโพธิญาณเพื่อสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้านั้น ต่างต้องบำเพ็ญบารมีธรรมกันอย่างยิ่งยวด นานนับกัปนับกัลป์ ต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ แต่ละชาติก็ต้องประสบกับความยากลำบากต่าง ๆ นานา เพื่อไปสู่การลด ละ เลิก ปล่อยวางและเห็นความเป็นจริงในที่สุด พูดง่าย ๆ ว่าท่านต้องต่อสู้กับอวิชชาทั้งหลาย เพื่อตัดจากวัฏฏะสงสาร ซึ่งระหว่างทางนี้เอง พระโพธิสัตว์ต่างก็ต้องวนเวียนเกี่ยวข้องกับบ่วงกรรมเก่า-ใหม่ตลอด ดังนั้น กว่าจะหลุดพ้นได้ ก็ใช้เวลานานเกินนับ หรือบางองค์ก็ไม่อาจก้าวล่วงไปได้
 
     พระธัมมปาละ พระเถระสำคัญองค์หนึ่งของพุทธศาสนาได้รจนาและเรียบเรียงคัมภีร์อรรถกถาชื่อ "ปรมัตถทีปนี” ระบุไว้ว่า พระโพธิสัตว์มี ๓ ประเภท คือ
 
     ๑.พระมหาโพธิสัตว์ หมายถึง ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อให้ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วสอนให้ผู้อื่นได้รู้ตาม
 
     ๒.พระปัจเจกโพธิสัตว์ หมายถึง ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อตรัสรู้ธรรมได้ด้วยตนเอง แต่ไม่สามารถสอนให้ผู้อื่นรู้ตามได้
 
     ๓.พระสาวกโพธิสัตว์ หรือ อนุพุทธโพธิสัตว์ หมายถึง ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อตรัสรู้ธรรม เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
 
     นอกจากนี้ "พระมหาโพธิสัตว์” ตามข้อ ๑ ยังจำแนกได้อีก ๓ ประเภท ได้แก่
 
     ๑.ปัญญาธิกโพธิสัตว์ คือ พระมหาโพธิสัตว์ที่สร้างบารมีโดยใช้ปัญญาเป็นตัวนำ ต้องใช้ระยะเวลาสร้างบารมีนานถึง ๒๐ อสงไขยกับเศษแสนมหากัป
 
     ๒.สัทธาธิกโพธิสัตว์ คือ พระมหาโพธิสัตว์ที่สร้างบารมีโดยใช้ศรัทธาเป็นตัวนำ ต้องใช้ระยะเวลาสร้างบารมีนานถึง ๔๐ อสงไขยกับเศษแสนมหากัป
 
     ๓.วิริยธิกโพธิสัตว์ คือ พระมหาโพธิสัตว์ที่สร้างบารมีโดยใช้วิริยะเป็นตัวนำ ต้องใช้ระยะเวลาสร้างบารมีทั้งหมด ๘๐ อสงไขยกับเศษแสนมหากัป
 
     คำว่า "บารมี” หมายถึง คุณธรรมความดีที่ประพฤติอย่างพิเศษเพื่อบรรลุเป้าหมายอันสูง ส่วนคำว่า "กัป” เป็นหน่วยวัดเวลาเชิงปริมาณ กล่าวคือ เมื่อจักรวาลปราฎขึ้นหรือบังเกิดขึ้นจนดับสูญหายไป ๑ ครั้งเรียกว่า ๑ กัป ส่วน "อสงไขย” เป็นตัวบ่งปริมาณเช่นเดียวกับคำว่า สิบ ร้อย พัน หมื่น แสน ล้าน แต่ส่วนใหญ่จะใช้ในความหมายว่า มากมายจนนับไม่ถ้วน
 
     นอกจากนี้ พระโพธิสัตว์ หรือ พระพุทธเจ้าในอนาคต ยังแบ่งเป็น ๒ ประเภทคือ "อนิตยะโพธิสัตว์” คือ พระโพธิสัตว์ที่ยังไม่ได้รับการพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนมาเลย ซึ่งหมายความว่า ยังไม่แน่นอนว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าหรือไม่ เพราะอาจล้มเลิกความปรารถนาไปก่อน กับ "นิตยะโพธิสัตว์” คือ พระโพธิสัตว์ที่ได้รับการพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนมาแล้วว่า จะได้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน เมื่อบารมีและเวลาถึงพร้อมสมบูรณ์
 
     โดยทั่วไป พระโพธิสัตว์ของฝ่ายเถรวาทจะหมายถึง ผู้บำเพ็ญบารมีจนสามารถตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ จากนั้นก็จะช่วยสรรพสัตว์ให้บรรลุมรรคผลตาม และเมื่อปรินิพพานแล้วก็จะไม่กลับมาเกิดอีก ส่วน พระโพธิสัตว์ของฝ่ายมหายาน ส่วนใหญ่ เมื่อตรัสรู้หรือปรินิพพานแล้ว ก็ยังกลับมาเกิดหรืออยู่ช่วยสรรพสัตว์อีก โดยจะยังไม่ปรินิพพานไปจริงๆจนกว่าจะช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ได้หมด
 
     สำหรับพระโพธิสัตว์ของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานจะมีหลายพระองค์ เช่น พระโพธิสัตว์มัญชุศรี พระโพธิสัตว์วัชรปานี พระกษิติครรภโพธิสัตว์ และพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ เป็นต้น แต่ที่รู้จักกันดีทั้งไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ธิเบต คือ "พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์” พระนามของพระองค์แปลว่า "ผู้เป็นใหญ่ในการทัศนาโลก” หรือในคำสันสกฤตแปลว่า "ผู้เพ่งสดับเสียงแห่งโลก” อันหมายถึง ทรงเป็นผู้สดับฟังเสียงคร่ำครวญของสัตว์โลกผู้ตกอยู่ในห้วงทุกข์ และด้วยพระกรุณาอันไพศาล แม้ว่าพระองค์จะสามารถบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าเมื่อใดก็ได้ แต่ทรงยับยั้งไว้เนื่องด้วยปรารถนาจะช่วยสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์ทั้งหมดก่อน พุทธศาสนิกชนชาวจีนจะขานพระนามพระโพธิสัตว์องค์นี้ว่า "กวนซีอิม” หรือ "กวนอิม” ซึ่งมีความหมายเดียวกับคำว่าอวโลกิเตศวรในภาษาสันสกฤต
 
     กล่าวกันว่า ภาพเขียนหรือรูปเคารพของพระอวโลกิเตศวรหรือพระโพธิสัตว์กวนอิมนั้น เมื่อเริ่มแรกนิยมสร้างเป็นรูปบุรุษหนุ่ม ทรงเครื่องอลังการอย่างเจ้าชายอินเดียโบราณ และมีอยู่หลายปางด้วยกัน ครั้นพระพุทธศาสนามหายานได้เข้าสู่ประเทศจีนในช่วงแรกก็ยังเป็นรูปบุรุษตามแบบพุทธศิลป์ของอินเดีย แต่ต่อมาช่างชาวจีนได้คิดสร้างเป็นรูปสตรีเพื่อแสดงออกถึงความอ่อนโยน และความเมตตากรุณาให้เด่นชัดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสมัยโบราณ ผู้หญิงมักได้รับการกดขี่และทุกข์ทรมานกว่าเพศชาย จึงเกิดเป็นภาพลักษณ์ที่เป็นเพศหญิงเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงด้วยกัน เพราะให้ความรู้สึกถึงจิตใจที่ดีงาม ดังเช่นมารดาที่มีต่อบุตร รวมถึงมีตำนานเรื่องเจ้าหญิงเมี่ยวซ่านที่บรรลุมรรคผลกลายเป็นพระโพธิสัตว์กวนอิมที่ทำให้ภาพของพระอวโลกิเตศวรกลายเป็นหญิงไปด้วย
 
................................................................
 
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ศิลปะศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒)
ภาพ : สิงห์คม บริสุทธิ์
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)