กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
ประเพณีเสียเคราะห์ความเชื่อในสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติของชาวอีสาน

วันที่ 1 ธ.ค. 2563
 

     ประเพณีเสียเคราะห์ (สะเดาะเคราะห์) เป็นพิธีกรรมที่เกิดจากความเชื่อในสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ ภูตผี ปีศาจ เทวดา ที่มีการสืบทอดกันมาจากบรรพชน บนพื้นฐานความเชื่อว่า เทวดาภูตผีและสิ่ง ศักดิ์สิทธิ์สามารถบันดาลให้คนได้รับอันตรายเจ็บป่วยจนถึงชีวิตได้ หรือสามารถขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้ออกไปจากวิถีชีวิต และสามารถที่จะบันดาลให้คนประสบกับความสุขได้ ความเชื่อในพิธีกรรมการสะเดาะเคราะห์ เป็นความเชื่อที่ได้ผสมผสานระหว่างความเชื่อทางพุทธศาสนากับความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ที่มีการผสมผสานกันอย่างกลมกลืนและพิธีกรรมการสะเดาะเคราะห์ได้กลายเป็นประเพณีที่สำคัญอีกประเพณีหนึ่งของชาวอีสาน
 
     โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บอกว่า ก่อนนับถือพุทธศาสนา ชาวไทยนับถือลัทธิพราหมณ์อยู่ก่อนแล้ว ซึ่งลัทธิพราหมณ์สอนว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาจากอำนาจของพระพรหม ซึ่งเรียกว่า พรหมลิขิต ที่จะบันดาลชีวิตเราให้เป็นไปและมักจะมีลางสังหรณ์บอกให้ทราบก่อนเสมอ มนุษย์เราจึงกระทำการสวดอ้อนวอนสักการบูชาพระพรหมผู้เป็นเจ้าชีวิต เพื่อทำให้พระองค์โปรดปรานและไม่ทำให้ภัยพิบัติเกิดขึ้น หรือถ้าเกิดก็ขอให้ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ ดังนั้นชาวไทยจึงมีความเชื่อเรื่องนี้อย่างแน่นแฟ้น จนภายหลังหันมานับถือพุทธศาสนาแต่ก็ยังมิได้ละทิ้ง หากแต่ได้นำเอามารวมเข้าด้วยกันเป็นพิธีกรรมทางพุทธศาสนา นานเข้าเลยกลายเป็นอันเดียวกันจนคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นพิธีกรรมของพุทธศาสนา สำหรับมูลเหตุของการเกิดพิธีกรรมเสียเคราะห์ (สะเดาะเคราะห์) นี้ มีหลายสาเหตุ ดังนี้
 
     ๑.เมื่อมีคนในครอบครัวเจ็บไข้ได้ป่วยแบบไม่ทราบสาเหตุหรือหมดหนทางที่จะรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบันก็จะพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์
 
     ๒.เรื่องที่ทำให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายและทรัพย์สินและอาจจะทำให้เสียชีวิตได้
 
     ๓.ทะเลาะวิวาทมีปากเสียงกันถึงขั้นรุนแรง
 
     ๔.ฟ้องร้อง ใส่ความ ถูกประจานให้อับอาย
 
     ๕.พลัดพรากจากของรักของสูญหาย ผิดหวัง
 
      ๖.ประสบภัยต่างๆ เช่น ไฟไหม้บ้าน โจรเข้าบ้าน
 
      ๗.ความล้มเหลวในชีวิต
 
     มูลเหตุที่กล่าวมาข้างต้นนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว แสดงให้เห็นว่าบุคคลนั้นกำลังมีเคราะห์นั้นเอง จึงต้องมีการทำพิธีเสียเคราะห์ โดยผู้ต้องการทำพิธีสะเดาะเคราะห์จะต้องจัดเตรียมอุปกรณ์และเครื่องสักการะต่างๆ ดังนี้
 
      ๑.กาบกล้วยสำหรับทำกระทง อาจทำเป็นกระทงสามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยมแล้วแต่ชนิดของการเสียเคราะห์ พื้นกระทงปูรองด้วยใบตองกล้วย เอากาบกล้วยทำเป็นห้องๆ จำนวน ๕ ห้อง สำหรับวางเครื่องสักการะต่างๆ
 
     ๒.เทียนเวียนรอบหัว ๑ เล่ม เทียนแค่ศอก ๑ เล่ม เทียนแค่คิง ๑ เล่ม (เท่าตัว) เทียนแค่คืบ ๕ เล่ม เทียนแค่ใจมือ ๑ เล่ม
 
     ๓.ห่อเหมี่ยงหมากเท่าอายุของผู้จะเสียเคราะห์ ข้าว ดำ ๑ คำ ข้าวแดง ๑ คำ ข้าวขาว ๑ คำ ข้าวเหลือง ๑ คำ ข้าวตอก ดอกไม้ ใบส้มป่อย น้ำหอม
 
     ๔.ด้ายสายสิญจน์สำหรับอ้อมกระทง เศวตฉัตร ทุงช่อ (ธง) ทุงชัย ฮูปแห้ง (ธูปแห้ง) ฮูปคน (รูปคน)
 
     ๕.หลักแค่ศอก ๙ หลัก ปักรอบกระทง ร้อยด้ายสีแดง ๒ หลัก ฝ้ายดำ ๒ หลัก ฝ้ายเหลือง ๒ หลัก ฝ้ายขาว ๒ หลัก ฝ้ายมุ่ย ๑ หลัก แล้วนำเสียผ้าของผู้ที่จะเสียเคราะห์มาวางข้างกระทง ตัดเล็บมือเล็บเท้าและเส้นผมลงในกระทง
 
     เมื่อเตรียมอุปกรณ์ได้พร้อมแล้วผู้ประกอบพิธีซึ่งเรียกว่าหมอพราหมณ์หรือหมอธรรมจะจัดอุปกรณ์ต่างๆ ใส่ลงกระทง แต่งขัน ๕ เป็นเครื่องบูชาเทวดา ตั้งนะโม ๓ จบแล้วทำการสวดสะเดาะเคราะห์ ซึ่งคำสวดจะมีลักษณะต่างๆ กันตามชนิดของการเสียเคราะห์ เพื่อปัดเสนียดจัญไรลงในกระทง เสร็จแล้วเอากระทงไปทิ้งตามทิศทางที่หมอพราหมณ์กำหนดให้จึงอันเป็นเสร็จพิธีสะเดาะเคราะห์
 
     ประเพณีเสียเคราะห์ (สะเดาะเคราะห์) จึงเป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นเพื่อคลี่คลายปัญหาทางจิตใจของผู้ที่มีเคราะห์หรือไม่สบายใจ คนเราเมื่อสบายใจหายกังวลร่างกายก็จะกลับมาแข็งแรงทำให้หายจากโรคภัยต่างๆ ได้ อีกทั้งได้รับกำลังใจจากญาติพี่น้องที่มาเข้าร่วมเป็นกำลังใจในพิธีกรรมนี้ด้วย ทำให้ผู้ที่มีเคราะห์มีความเชื่อมั่นว่าตนเองไม่ได้ถูกทอดทิ้ง ซึ่งความเชื่อนี้เป็นความผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวอีสาน ซึ่งเป็นความเชื่อที่มองไม่เห็น โดยเข้าใจว่าเมื่อได้ประกอบพิธีกรรมนี้แล้วจะมีจิตใจสบายหายกังวล เพราะเชื่อว่าสิ่งที่ไม่ดีได้ถูกทำนายทายทักได้เปลี่ยนจากร้ายกลายเป็นดีแล้ว นับจากนี้ก็จะพบเจอแต่สิ่งดีๆ ในชีวิต พ้นเคราะห์พ้นโศก สุขภาพร่างกายแข็งแรง เพราะได้ปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีออกไปจากชีวิตถือเป็นการต่ออายุหรือต่อชะตาตนเองแล้วนั้นเอง
 
......................................
 
ที่มา : หนังสือ สืบสานตำนานงานบุญประเพณีอีสาน รวบรวมโดยสำลี รักสุทธี
ภาพ : www.nairobroo.com
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)