กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “สัตว์หิมพานต์ กิเลน-ราชสีห์”

วันที่ 9 พ.ย. 2563
 

     "ป่าหิมพานต์” เป็นป่าที่ปรากฏชื่อในไตรภูมิพระร่วง วรรณคดีทางพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดของไทยเป็นพระราชนิพนธ์ของพญาลิไท กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย ที่ประสงค์ให้คนเราได้รู้จักแยกแยะความดี ความชั่วและรับทราบถึงผลกรรมของการกระทำเหล่านี้ ซึ่งนอกจากจะกล่าวถึงภพ ภูมิต่างๆ แล้ว ยังได้พูดถึงป่าหิมพานต์ด้วยว่าเป็นป่าอันกว้างใหญ่ไพศาล เป็นดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่บนเชิงเขาพระสุเมรุ มีเนื้อที่กว่า ๓,๐๐๐ โยชน์ (๑ โยชน์เท่ากับ ๑๖ กม.) มียอดเขาอันสลับซับซ้อนถึง ๘๔,๐๐๐ ยอด มีสระใหญ่ถึง ๗ สระ เช่น สระอโนดาต สระฉันทันตะ และสระกุณาละ เป็นต้น ในผืนป่าอันกว้างใหญ่นี้เป็นที่สถิตของเทพเทวดา ผู้ทรงคุณวิเศษต่างๆ ทั้งฤษี นักสิทธิ์ วิทยาธร นักบวช รวมถึงสิงสาราสัตว์ที่แปลกพิสดารที่เรารู้จักในนาม "สัตว์หิมพานต์” ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นสัตว์ในจินตนาการที่สร้างสรรค์ขึ้นจากแรงบันดาลใจอันได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องราวในคัมภีร์ต่างๆ ทั้งศาสนาพราหมณ์ ฮินดู และพุทธ

 
     ในหนังสือเรื่อง "สัตว์หิมพานต์” ของ อ.สมบัติ พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติ ได้พูดถึง "สัตว์หิมพานต์” ว่าเป็นเรื่องสัตว์ที่ปรากฏในวรรณคดี ประเพณี จิตรกรรม และสถาปัตยกรรม บางตัวก็มีประวัติตำนานพอเล่าขาน กันได้ แต่บางตัวก็ไม่มีเรื่องเพราะเป็นเพียงความคิดที่จะสร้างสรรค์สัตว์ประหลาดขึ้นมาเท่านั้น สัตว์เหล่านี้มีหลายชนิด เช่น กินนร ช้าง นาค ครุฑ ฯลฯ แต่จะขอนำมาเล่าสู่กันฟังสัก ๒ แบบ เป็นตัวอย่าง ดังนี้
 
     - กิเลน เป็นสัตว์หิมพานต์ที่มิใช่ของไทยแท้ๆ แต่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีน เดิมตัวผู้จะเรียกว่า "กี” ส่วนตัวเมียเรียก "เลน” เรียกรวมกันว่า "กีเลน” หรือ "กิเลน” ในภาษาจีนแต้จิ๋วอ่านว่า "ขี่ลิ้ง” ลักษณะรูปร่างของกิเลนมีกล่าวกันต่างๆ เช่น มีศีรษะเป็นสุนัขป่า ลำตัวเป็นเนื้อสมัน เท้ามีกีบเหมือนม้า หางเหมือนหางวัว มีเขาอ่อนหนึ่งเขา บางแห่งก็ว่ามีรูปร่างเหมือนกวาง มีเขาเดียว หัวเป็นมังกร แต่หางเหมือนหางวัวและเท้ามีกีบเหมือนม้าตรงกัน บางตำราก็ว่ากิเลนเกิดจากธาตุทั้งห้า คือ ดิน น้ำ ไฟ ไม้และโลหะผสมกัน ในหนังสือยังกล่าวว่าหนังกิเลนมี ๕ สี ได้แก่ แดง เหลือง น้ำเงิน ขาวและดำ ส่วนท้องเป็นสีเหลือง ตัวผู้มีเขาหนึ่งเขา ตัวเมียไม่มี เดินบนน้ำได้ และเมื่อเดินบนบกเส้นหญ้าก็ไม่กระเทือน ข้อสำคัญคือ กิเลนมีอายุได้ถึงพันปี ถือเป็นยอดแห่งสัตว์ทั้งหลาย เป็นสัญลักษณ์แห่งคุณงามความดีและความมีอายุยืน ปรากฏให้เห็นเมื่อใด ก็จะเกิดผู้มีบุญมาปกครองบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุขเมื่อนั้น เป็นหนึ่งในสี่ของสัตว์ศักดิ์สิทธิ์อันได้แก่ หงส์ เต่า มังกร และกิเลน
 
     โดยที่กิเลนถือเป็นสัตว์มงคลกำจัดสิ่งชั่วร้าย ทำให้บ้านเรือนชาวจีนที่อยู่ตรงกับถนนหรือทางแยกจึงมักทำยันต์มีรูปหน้ากิเลน หรือทำเป็นตัวกิเลนมาตั้งไว้ แล้วหันหน้าไปทางถนนหรือแยกนั้นๆ เพื่อป้องกันหรือขจัดสิ่งอัปมงคลต่างๆ มิให้ล่วงล้ำเข้ามา สำหรับชาวจีนจะเรียกสัตว์นี้ว่า "คิหลิน” ส่วนญี่ปุ่นเรียก "กิริน” และบางครั้งก็เรียกว่า "ม้ามังกร” หรือ "ยูนิคอร์น”
 
     - ราชสีห์ มีความหมายตามพจนานุกรมว่า เป็นสัตว์ในนิยาย ถือว่ามีความดุร้ายและมีกำลังมาก สิงห์ก็เรียก ในหนังสือของอ.สมบัติบอกว่า ราชสีห์ หรือ สิงห์ นี้เป็นสัตว์ที่มีเรื่องเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ และตำนานของประเทศต่างๆ มากมายหลายเรื่อง และว่ารูปสิงห์ที่พบในเมืองไทยมีทั้งแบบอินเดีย แบบขอม และแบบจีน
 
     ส่วนคตินิยมที่นำรูปสิงห์หรือราชสีห์มาเป็นเครื่องประดับสถานที่ต่างๆ นั้น ท่านว่าเป็นความเชื่อของจีนที่กล่าวว่าพระพุทธเจ้าเคยเกิดเป็นราชสีห์มา ๑๐ ชาติ ชาวจีนโบราณในสมัยที่นับถือพุทธศาสนา จึงถือว่าราชสีห์หรือสิงโตเป็นเครื่องหมายของพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้จึงนิยมสร้างสิงโตไว้ตามประตูโบสถ์ วิหารหรือตามทางเดินเข้าวัด และตามบ้านเรือนคนจีนในไทยก็จะเห็นรูปสิงโตคาบกั้นหยั่น (มีดปลายแหลม มีคม ๒ ข้าง) พร้อมกับยันต์แปดเหลี่ยม (โป้ยข่วย)ติดไว้ตามปากทางที่เล็งตรงประตู เพื่อป้องกันหรือแก้เสนียดจัญไร หรือผีสางที่จะมาเบียดเบียน นอกจากนี้ในพระนิพนธ์ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในเรื่องเที่ยวเมืองพม่าก็ได้พูดถึงว่าเจดีย์ที่สำคัญในเมืองพม่าว่า มักมีรูปสิงห์ตัวใหญ่อยู่สองข้างปากทางเข้าทุกแห่ง และว่าไทยเราเองก็มักทำรูปสิงห์แบบเขมร หรือสิงโตจีนมาตั้งปากทาง แต่ที่เห็นหล่อเป็นรูปสิงห์ไทยมีแห่งเดียวคือที่วัดพระเชตุพนฯ เป็นของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ขึ้น
 
     รูปของราชสีห์นอกจากจะใช้ประดับตามเจดีย์ ประตูโบสถ์ วิหารแล้ว ยังมีปรากฏในตำนานอื่นๆ ด้วย เช่น ตำนานโหราศาสาตร์ที่กล่าวว่าพระอาทิตย์ถูกสร้างด้วยราชสีห์ ๖ ตัวมาป่นให้ละเอียดแล้วห่อด้วยผ้าแดง พรมด้วยน้ำอมฤต จึงบังเกิดเป็นพระอาทิตย์ขึ้น ในทางวรรณคดีได้แบ่งราชสีห์ออกเป็น ๔ ชนิด ได้แก่
 
      ๑. ติณสีหะหรือติณราชสีห์ มีร่างกายสีแดงเหมือนขานกพิราบ และใหญ่เท่ากับวัวหนุ่ม กินหญ้าเป็นอาหาร
      ๒. กาฬสีหะ มีร่างกายสีดำ และใหญ่เท่ากับวัวหนุ่ม กินหญ้าเป็นอาหาร
      ๓. บัณฑุสีหะหรือบัณฑุสุรมฤคินทร์ มีร่างกายเหมือนสีใบไม้เหลือง และใหญ่เท่ากับวัวหนุ่ม กินเนื้อเป็นอาหาร
      ๔. ไกรสรสีหะ มีริมฝีปาก หาง และเท้าสีแดงตั้งแต่ศีรษะลงไปตลอดถึงหลัง มีลายสีแดงพาดสามแถว และวนรอบๆตะโพก ๓ รอบ ที่ต้นคอมีขนปกคลุมลงมาตั้งแต่บ่า มีสีเหมือนผ้ากัมพล (ผ้าทอด้วยขนสัตว์สีแดง) ส่วนร่างกายที่เหลือมีสีขาวทั้งหมด กินเนื้อเป็นอาหาร เวลาคำรามทีดังไกลไปถึง ๓ โยชน์ สัตว์ทั้งหลายที่ได้ยินล้วนตกใจกลัวรีบหลบลี้หนีหาย บ้างก็ตกใจจนสลบไปก็มี
 
     ในหนังสือปัญหาพระยามิลินท์ ได้กล่าวถึงคุณลักษณะประจำตัวของราชสีห์ไว้ ๗ ประการด้วยกัน คือ
 
     ๑. ราชสีห์เป็นสัตว์หมดจดสะอาดไม่มัวหมอง
     ๒. ราชสีห์เที่ยวไปด้วยเท้า ๔ มีเยื้องกรายอย่างกล้าหาญ
     ๓. ราชสีห์มีรูปร่างโอ่อ่า สร้อยคอสะสวย
     ๔. ราชสีห์ไม่นอบน้อมสัตว์ไรๆ แม้เพราะจะต้องเสียชีวิต
     ๕. ราชสีห์หาอาหารไปโดยลำดับ พบปะอาหารในที่ใด ก็กินเสียจนอิ่มในที่นั้น ไม่เลือกว่าดีหรือไม่ดี กินได้ทั้งนั้น
      ๖. ราชสีห์ไม่มีการสะสมอาหาร
      ๗. ราชสีห์หาอาหารไม่ได้ ก็ไม่ดิ้นรน ได้ก็ไม่ทะยาน และไม่กินจนเกินต้องการ
 
      สิงห์ สิงโต หรือราชสีห์ เป็นสัตว์ที่ถูกใช้เป็นเครื่องหมายในวงราชการหลายประเทศ เช่น อังกฤษ มีตราสิงโตคู่กับม้ามีเขา อินเดียก็ทำเป็นตราราชการ ส่วนไทยเราก็มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เช่น ตราราชสีห์น้อย ตราราชสีห์ใหญ่ และตราคชสีห์ เป็นต้น
 
     นอกจากนี้ ยังมี "สิงห์ผสม” ที่หมายถึงสัตว์ที่มีตัวเป็นสิงห์ ส่วนหัวหรือหาง หรือฝ่าเท้าอาจจะเป็นอย่างอื่น เช่น คชสีห์ ที่มีตัวเป็นสิงห์ แต่หัวเป็นช้าง เหมราช มีตัวเป็นสิงห์ หัวเป็นสัตว์ปากยาวแบบหงส์ ปากหุบไม่เห็นฟัน เห็นแต่เขี้ยวแบบหงส์ สีหรามังกร ตัวเป็นสิงห์ แต่หัวเป็นมังกรจีน มีหนวดและเครา พยัคฆ์ไกรสีห์ จะมีตัวเป็นสิงห์ หัวเป็นเสือ เป็นต้น
 
…………………………………………………
 
น.ส. ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม ภาพ สัตว์หิมพานต์ ณ บริเวณรอบพระเมรุมาศ โดย Megaman X จาก pantip.com/topic/37108358/desktop
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)