กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> อาเซียน
น้ำอมฤต สู่ชีวิตอมตะ

วันที่ 2 เม.ย. 2563
 

ยามนี้หากน้ำอมฤตมีอยู่จริง ผู้คนคงดั้นด้นไปเสาะหาเพื่อนำมาทำวัดซีนสู้กับเจ้าเชื้อไวรัสโควิด19 
 
น้ำอมฤตเพื่อชีวิตอมตะ...เป็นเรื่องราวกล่าวขานเล่าถึงการกวนเกษียรสมุทร ปรากฏในวรรณกรรมมหาภารตยุทธและในภควัตปุราณะ ซึ่งเล่าเรื่องถึงครั้งที่พระอินทร์เสด็จลงมาบนโลกและได้พบกับฤๅษีทุรวาสที่รับดอกไม้สักการะจากพระแม่ปาราวตี แต่ฤๅษีเห็นว่าหากตนคล้องดอกไม้จากพระแม่คงจะไม่เหมาะสม จึงได้ถวายดอกไม้นั้นแก่พระอินทร์ เมื่อพระอินทร์รับแล้วก็ทรงมอบแก่พระชายาอีกต่อหนึ่ง แต่ด้วยกลิ่นของดอกไม้ทำให้พระชายามึนเมาจึงทิ้งไป ฤๅษีเห็นดังนั้นก็โกรธจึงสาปแช่งพระอินทร์และบริวารให้อ่อนกำลังลงและพ่ายแพ้ในสงคราม เมื่อสาปแช่งดังนี้แล้วฤๅษีก็เดินจากไป พลันกำลังของเทวดาก็ลดลงกึ่งหนึ่ง และเมื่ออสูรทราบข่าวพระอินทร์โดนสาปแช่งจึงได้ยกทัพไปตีสวรรค์ ทำให้พระอินทร์พ่ายแพ้ และเพื่อฟึ้นคืนกำลังจึงต้องทำการกวนเกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนม) เพื่อให้เกิดน้ำอมฤตที่เมื่อดื่มกินจะเป็นอมตะและกำลังมากขึ้นกว่าที่เคยมี พระวิษณุได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานในการย้ายภูเขามันทระ ซึ่งเป็นภูเขาที่เป็นแหล่งกำเนิดมณีนพรัตน์มาไว้เกษียรสมุทร แต่เนื่องจากเทวดาฝ่ายเดียวไม่สามารถกวนเกษียรสมุทรให้สำเร็จได้จึงต้องชักชวนอสูรมาช่วยกันทำให้ทะเลน้ำนมกระเพื่อมเพื่อให้ได้น้ำอมฤตมาดื่มกิน โดยใช้ลำตัวพญานาควาสุกรีพันรอบภูเขามันทระ แล้วต่างฝ่ายต่างดึง ให้ภูเขาสั่นไหวจนทะเลน้ำนมกระเพื่อม ซึ่งต้องใช้เวลานานนับพันปี กว่าจะได้น้ำอมฤต ระหว่างนั้นภูเขามันทระถูกปั่นจวนจะทะลุพื้นโลก ร้อนถึงพระนารายณ์ ต้องอวตารเป็นเต่าเอากระดองมารองรับภูเขาไว้ไม่ให้โลกแตก ถือเป็นเทพปกรณัม หรือเรื่องเล่าเพื่อเทิดทูนเทพเจ้าคือพระนารายณ์ ในฐานะเทพผู้ปกป้องคุ้มครองโลก และถือเป็น ๑ ใน ๑๐ อวตารของพระนารายณ์ เรียกว่า”กูรมาวตาร” (การแบ่งภาคไปเกิดเป็นเต่า) นอกเหนือจากมายาคติที่วรรณกรรมได้สร้างไว้เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์แล้ว เรื่องการกวนเกษียรสมุทรยังเป็นที่มาของคำอธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ
 
การเกิดจันทรุปราคาและสุริยุปราคา แม้จะเป็นหนังคนละม้วนกับทางวิทยาศาสตร์ หากที่มาชวนให้อัศจรรย์ไม่ต่างกัน
 
เรื่องมีอยู่ว่า เทวดาได้ชวนให้เหล่าอสูรมาช่วยกวนเกษียรสมุทร โดยสัญญาว่าจะแบ่งน้ำอมฤตให้ครึ่งหนึ่ง แต่เมื่อกวนจนได้น้ำอมฤตมาแล้วเทวดากลับออกอุบายหลอกอสูรเพื่อให้พวกตนได้ดื่มน้ำอมฤตก่อน แต่ราหูซึ่งเป็นอสูรได้แปลงตนเป็นเทวดาและแอบเข้าไปดื่มน้ำอมฤต เมื่อพระอาทิตย์กับพระจันทร์เห็นเข้าจึงทูลฟ้องพระนารายณ์ พระนารายณ์ทรงกริ้วจึงได้ขว้างจักรออกไปตัดราหูขาดเป็นสองท่อนแต่ไม่ตายเพราะได้ดื่มน้ำอมฤตเข้าไปทำให้เป็นอมตะ ราหูจึงโกรธแค้นพระอาทิตย์กับพระจันทร์เมื่อเจอกันครั้งใดก็จะอมพระอาทิตย์กับพระจันทร์ ทำให้มีเงามืดมาบดบังดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ วรรณกรรมเรื่องนี้ถูกถ่ายทอดมาเป็นความเชื่อดั้งเดิมของคนในบริเวณสุวรรณภูมิที่เชื่อว่าจันทรุปราคาและสุริยุปราคาเกิดจากราหูอมพระจันทร์และพระอาทิตย์เอาไว้นั่นเอง
 
ภาพหน้าบันด้านหนึ่งของปราสาทเอกพนม จังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา จำหลักภาพการกวนเกษียรสมุทร
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)