กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> อาเซียน
ชิโน ปอร์ตุกีส สถาปัตยกรรมลูกผสม

วันที่ 18 มี.ค. 2563
 

     สถาปัตยกรรมแบบชิโน ปอร์ตุกีส หรือจีน-โปรตุเกส มีต้นกำเนิดจากจีนตอนใต้ โดยเฉพาะมาเก๊า ซึ่งถือเป็นจุดแรกที่โปรตุเกสในฐานะเจ้าอาณานิคมยุคแรก เข้ามามีอิทธิพลทางการค้า แล้วนำศิลปะมาเผยแพร่ จนเกิดการผสมผสานระหว่างศิลปะยุโรปกับจีน
 
     ลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบจีน-โปรตุเกสคือการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมยุโรปกับศิลปะจีน กล่าวคือ "สถาปัตยกรรมแบบอาณานิคม" (colonial style) ถ้าเป็นอาคารสองชั้นกึ่งร้านค้ากึ่งที่อยู่อาศัย (shop-house หรือ semi-residential) จะมีด้านหน้าอาคารที่ชั้นล่างมีช่องโค้ง (arch) ต่อเนื่องกันเป็นระยะ ๆ เพื่อให้เกิดการเดินเท้า ที่ภาษาไทยเรียกทับศัพท์ว่า "อาเขต" (arcade) หรือที่ภาษาจีนฮกเกี้ยนเรียกว่า "หง่อคาขี่" ซึ่งมีความหมายว่า ทางเดินกว้างห้าฟุต ในภาษามลายูแปลว่าทางเดินเท้า กากี่แปลว่าเท้า นอกจากอาเขตแล้ว อาคารแบบอาณานิคมมีการนำลวดลายศิลปะตะวันตกแบบกรีก-โรมัน หรือเรียกว่า "ศิลปะคลาสสิก" เช่น หน้าต่างวงโค้งเกือกม้า หรือหัวเสาแบบไอโอนิก (แบบม้วนก้นหอย) และคอรินเทียน (มีใบไม้ขนาดใหญ่ประดับ) เป็นต้น ซึ่งนักวิชาการบางท่านอาจเรียกสถาปัตยกรรมแบบนี้ว่า "คลาสสิกใหม่"
 
     สิ่งที่ผสมผสานศิลปะจีนคือ ลวดลายการตกแต่ง ไม่ว่าจะเป็นภาพประติมากรรมนูนต่ำหรือนูนสูงทำด้วยปูนปั้นระบายสีของช่างฝีมือจีนประดับอยู่บนโครงสร้างอาคารแบบโปรตุเกส บานประตูหน้าต่าง ตลอดจนการตกแต่งภายในที่มีลักษณะเป็นศิลปะแบบจีน
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)