กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
ประเพณีสารทเดือนสิบ งานบุญใหญ่ของชาวปักษ์ใต้

วันที่ 8 ก.ย. 2563
 
     ประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งที่ชาวภาคใต้ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณจนถึงปัจจุบัน แต่ไม่มีปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด ว่าประเพณีทำบุญสารทเดือนสิบในภาคใต้มีมาแต่เมื่อใดและเริ่มขึ้นที่ไหนก่อน ทราบเพียงว่าเป็นประเพณีที่มีมาช้านานแล้วและยึดถือปฏิบัติกันทั่วไปในภาคใต้ โดยเฉพาะชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชมีการปฏิบัติประเพณีกันอย่างจริงจังมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบันนี้ จนกลายเป็นงานบุญประเพณีประจำปีที่สำคัญของจังหวัดและเป็นงานที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ได้มีการอนุรักษ์สืบทอดกันมายาวนาน เพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับและร่วมแสดงออกถึงความรักความสามัคคี โดยในปีนี้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๑-๒๐ กันยายน ๒๕๖๓ รวม ๑๐ วัน ๑๐ คืน ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ๘๔ (ทุ่งท่าลาด)
 
     ประเพณีสารทเดือนสิบ นอกจากจะเป็นการทำบุญให้เปรตชนแล้วยังทำให้เกิดการรวมตัวของญาติๆ บรรดาญาติพี่น้องที่แยกย้ายกันไปทำมาหากินต่างถิ่น จะกลับมาบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อร่วมทำบุญและถือเป็นโอกาสพบกันปีละครั้ง ประกอบกับในช่วงเดือนสิบพืชพรรณธัญญาหารและผลไม้ต่างๆ กำลังให้ผลอุดมสมบูรณ์ทุกคนจะได้ร่วมกันนำไปทำบุญที่วัด ส่วนหนึ่งจะได้ร่วมกันรับประทานอาหารและเป็นการแสดงความสนุกสนานประจำปีร่วมกัน งานบุญสารทเดือนสิบจัดว่าเป็นงานบุญใหญ่ของชาวภาคใต้ โดยการทำบุญในวันสารทเดือนสิบ กำหนดทำปีละสองครั้ง คือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ เป็นวันรับตายาย หรือวันรับเปรต เชื่อกันว่าเป็นวันที่ยมบาลจะปล่อยให้เปรตมาเยี่ยมลูกหลาน และทำอีกครั้งหนึ่งในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เป็นวันส่งตายาย หรือวันส่งเปรต ซึ่งเป็นวันที่เปรตชนต้องอกลับยมโลก ลูกหลานจึงทำบุญเลี้ยงส่งอีกครั้งหนึ่ง ก่อนถึงวันทำบุญชาวบ้านจะเตรียมทำขนมเดือนสิบ ซึ่งเป็นขนมที่ทำขึ้นใช้ในการทำบุญสารทเดือนสิบ หรือทำบุญชิงเปรตโดยเฉพาะ เรียกว่า ขนมตายาย ซึ่งมีอยู่หลายอย่าง แต่ขนมที่สำคัญและขาดไม่ได้ คือ
 
     ขนมดีซำ หรือ เมซำ หรือขนมเจาะหู ทำด้วยแป้งข้าวเจ้าและน้ำตาลนวดให้เข้ากันแล้วนำมาแผ่ให้มีลักษณะกลมๆ เจาะรูตรงกลาง นำไปทอดในน้ำมันร้อนๆ จนสุก ฟู มีลักษณะคล้ายขนมโดนัทของฝรั่ง ใช้แทนสตางค์ เพราะมีรูปเหมือนสตางค์แดง(สมัยก่อน) เปรตจะได้เอาไปใช้ในเมืองนรกแทนเงิน หรืออาจจะใช้เป็นเครื่องประดับ
 
     ขนมลา ทำด้วยแป้งข้าวเจ้ากับน้ำตาล เอาไปใส่ลงในกะลาที่เจาะรูแล้วนำไปหยอดทอดในกระทะร้อนๆ จะได้ขนมลาที่มีลักษณะเป็นเว้นๆ คล้ายร่างแห่หรือตาข่ายใช้แทนเสื้อผ้า บางท่านกล่าวว่าเป็นขนมที่ทำเป็นพิเศษเพื่อให้เปรตที่มีปากเล็กเท่ารูเข็มสามารถกินได้
 
     ขนมบ้า ทำด้วยแป้งข้าวเหนียวผสมน้ำตาล แผ่เป็นแผ่นกลลมๆนำไปทอดในน้ำมันร้อนๆจะได้ขนมมีลักษณะคล้ายลูกสะบ้า เพื่อให้บรรพบุรุษนำไปเล่นกีฬาสะบ้าที่เมืองนรก ขนมพอง หรือ ข้าวพอง ทำจากข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้ว จากนั้นนำมาอัดในพิมพ์ให้เป้นรูปกลมๆหรือรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดหรือรูปอื่นๆ เสร็จแล้วถอดพิมพ์ออก เอาข้าวเหนียวมาตากแดดให้แห้งแล้วจึงนำไปทอดในน้ำมันร้อนๆ เพื่อให้เปรตใช้แทนเครื่องประดับหรือใช้แทนแพ เพื่อใช้ลอยข้ามห้วงทะเลกรรม
 
     ขนมกง หรือ ขนมไข่ปลา ทำจากแป้งข้าวเหนียวผสมน้ำกะทิและไข่เล็กน้อย อีกส่วนหนึ่งใช้ถั่วเขียวคั่วจนสุก โม่จนละเอียดเอามาผสมกับน้ำตาลที่เคี่ยวจนข้น คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วปั้นเป็นรูปกลมรีขนาดพองามนำไปชุบแป้งที่เตรียมไว้จนเข้ากันได้ดีแล้วทอดในน้ำมันจนสุก จะได้ขนมกงรูปคล้ายไข่ปลาใช้แทนเครื่องประดับ
 
     นอกจากนี้อาจจะมีขนมอย่างอื่นๆอีก เช่น ขนมเทียน ยาหนม (กะละแม) ต้มปัด เป็นต้น ชาวบ้านจะทำขนมต่างๆเหล่านี้ เพื่อใช้ในการทำบุญและนำไปแจกจ่ายให้ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านตลอดถึงผู้ที่เคารพนับถือ ขนมตายายอีกส่วนหนึ่งและสิ่งของต่างๆที่จะใช้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษจะถูกนำมาจัดเป็น "มรับ ห.ม.รับ หรือสำรับ เพื่อความสะดวกในการขนย้ายสิ่งของไปวัดและเพื่อความสวยงามด้วย
 
     รุ่งเช้าวันทำบุญ ชาวบ้านจะนำอาหารคาวหวาน ขนม ใส่ ห.ม. (สำรับ) และภัตตาหารไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัด โดยอาหารส่วนหนึ่งจะนำมาตั้งที่ "ร้านเปรต” (หลาเปรตหรือศาลาเปรต) ซึ่งอาจจะใช้สื่อปูลงบนดิน หรือวางบนศาลา บางแห่งอาจทำเป็นแคร่สูงจากพื้นดินเล็กน้อย แต่บางแห่งอาจจะสูงถึง ๑๐-๑๕ เมตรก็มี จากร้านเปรตจะมีการโยงสายสิญจน์ต่อจากพระสงฆ์ซึ่งนั่งอยู่ในวิหารที่ทำพิธีกรรม โดยพระจะสวดบังสุกุลอัฐิหรือกระดาษที่ญาติผู้ตายได้เขียนชื่อผู้ตายมาให้ เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปยังผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์จะเก็บสายสิญจน์ ชาวบ้านจะแย่งชิงอาหารที่วางไว้บนร้านเปรตกันอย่างสนุกสนาน เรียกว่า ชิงเปรต การชิงเปรตนี้ถือว่าเป็นมงคลเพราะเชื่อว่าอาหารที่อยู่บนร้านเปรต คือ อาหารที่เหลือจากผีปู่ย่า ผีตายายที่กินเหลือแล้ว ลูกหลานที่ได้กินอาหารเหล่านี้เชื่อว่าจะป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่างๆได้และถ้านำอาหารเหล่านี้ไปวางหรือว่านในนาในสวน ก็จะทำให้พืชพรรณธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ เพิ่มผลผลิตให้มายิ่งขึ้นนั้นเอง
 
     ทั้งนี้ การตั้งอาหารให้เปรตนอกจากจะตั้งในวัดแล้ว ยังมีการวางอาหารไว้ตามใต้ต้นไม้เพื่อเป็นเครื่องบูชารุกขเทวดาและมีการตั้งอาหารนอกวัดด้วย เพื่อให้เปรตบางจำพวกที่มีบาปหนาที่ไม่สามารถเข้ามาในวัดได้จะได้มีโอกาสรับส่วนบุญอันนี้ ซึ่งเรียกว่า ตั้งเปรตนอกวัดเพื่อให้ต่างกับเปรตในวัด เมื่อเสร็จจากการชิงเปรต ชาวบ้านบางท้องถิ่นอาจจะนิมนต์พระสงฆ์ไปสวดบังสุกุลกระดูกบรรพบุรุษที่เก็บไว้ในสถูป (บัว) หรือนำเอากระดูกบรรพบุรุษที่เก็บไว้ในโกศมาบังสุกุลร่วมกัน ที่เรียกว่า บังสุกุลบัว
 
     ประเพณีสารทเดือนสิบ นับเป็นประเพณีที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมทางด้านจิตใจของผู้ปฏิบัติที่มีความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพชนที่ล่วงลับไปแล้ว อันเป็นค่านิยมที่ดีงามยิ่งของชาวใต้และของคนไทยทั่วไป
 
.................................
 
ที่มา : หนังสือประเพณีท้องถิ่นภาคใต้ โดย รศ.สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์ , สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ , หนังสือโครงการส่งเสริมหนังสือตามแนวพระราชดำริ เรื่อง ประเพณีบุญเดือนสิบในภาคใต้และขนมเดือนสิบ โดย อ.พรศักดิ์ พรหมแก้วและ ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)