กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
ประเพณีลงเล เสน่ห์วิถีใต้

วันที่ 1 ก.ย. 2563
 

     ประเพณีลงเล หรือ ประเพณีลงทะเล เป็นประเพณีถือปฏิบัติและสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเป็นประเพณีเพียงแห่งเดียวของภาคใต้ โดยมีความเชื่อว่าพิธีลงเลนั้นเป็นการสะเดาะเคราะห์ เพื่อให้สมาชิกทุกคนในหมู่บ้านรอดพ้นจากสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง ด้วยการขออำนาจจากผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านให้ช่วยขับไล่สิ่งอัปมงคล ตามความคิดความเชื่อที่สืบต่อกันมาของชาวไทยพุทธในพื้นที่ภาคใต้

 
     ประเพณีลงเล ถือเป็นพิธีกรรมที่เป็นพิธีบูชาเทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ที่เชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองดูแลปกปักษ์รักษาชีวิตของผู้คนในชุมชน อันได้แก่ ท้าวอัฐโลกบาลหรือเทวดาประจำทิศทั้งแปดคือพระอินทร์ประจำทิศตะวันออก พระอัคคี ประจำทิศตะวันออกเฉียงใต้ พระยม ประจำทิศใต้ พระนิรฤติ ประจำทิศตะวันตกเฉียงใต้ พระวรุณ ประจำทิศตะวันตก พระวายุ ประจำทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พระกุเวร (ท้าวเวสสุวรรณ) ประจำทิศเหนือ พระอิศวร (อีสาน) ประจำทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดจนโอปาติกะอันได้แก่ เทวดา พรหม ภูตผี เปรต อสูรกายและมนุษย์คนธรรพ์ รวมถึงเจ้าที่เจ้าทางและผีบรรพบุรุษของคนในชุมชน โดยในพิธีนี้ให้น้ำหนักกับการกล่าวถึงการบูชาท้าวเวสสุวรรณ อาจจะเนื่องมาจากพื้นฐานความเชื่อของชุมชนบ้านเมืองเรา เชื่อว่าท้าวเวสสุวรรณเป็นเทพผู้ขับไล่ปีศาจ เสนียดจัญไร คุณไสยต่างๆ อีกทั้งเป็นผู้บันดาลโชคลาภและความร่ำรวย ซึ่งประเพณีลงเลเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมาเป็นเวลานาน ไม่สามารถรู้ได้ว่าเริ่มต้นขึ้นเมื่อใด แต่เมื่อถึงเวลาที่กำหนด คือ เดือน ๘ ต้องตรงกับวันจันทร์หรือวันพฤหัสบดีเท่านั้น เพราะสองวันนี้ถือเป็นฤกษ์ยามสำหรับการประกอบพิธีลงเล หากตรงกับวันอื่นๆ ก็จะจัดขึ้นไม่ได้และปีใดมีเดือน ๘ สองหนต้องจัดในเดือน ๘ หลัง สมาชิกในชุมชนและญาติพี่น้องที่แยกย้ายถิ่นไปทำมาหากินที่อื่นๆ จะพากันเดินทางกลับมายังถิ่นฐาน เพื่อประกอบพิธีนี้ โดยมีความเชื่อว่าเป็นการนำความทุกข์หรือสิ่งไม่ดีทั้งหลายลอยไปกับทะเล เป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้พ้นไปจากหมู่บ้าน ปล่อยเคราะห์กรรม สิ่งไม่ดีที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านให้ลอยไปกับทะเล ห่างไกลสิ่งไม่ดีไม่ร้ายทั้งหลาย ถ้าปีไหนไม่ได้ทำพิธีลงเล จะเกิดอาเพศในหมู่บ้าน หรือคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ทำพิธี เช่น คนในหมู่บ้านเจ็บไข้ได้ป่วย ถือเป็นสัญญาณเตือนต้องรีบทำพิธีลงเลเพื่อแก้เคราะห์กรรมที่เกิดขึ้น
 
     พิธีลงเล จะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ โดยคนในชุมชนจะช่วยกันตระเตรียม ของใช้ประกอบพิธี ได้แก่ ขาวต้ม ข้าวสาร อาหารเครื่องคาว หวาน ช่วยกันสร้างศาลเล็กๆ เพื่อใช้ประกอบพิธี ซึ่งมีลักษณะสองชั้นคล้ายศาลปู่ตาถูกตั้งขึ้นเพื่อประกอบพิธีบริเวณข้างศาลจะตั้งแท่นขึ้นมา ๑ แท่น เมื่อสร้างศาลเสร็จหมอพิธีจะนำเสื่อผืนเล็กๆ ปูพื้นศาล พานหมากพลูและดอกไม้จัดวางบนผ้าขาว กระถางธูป ข้าวต้ม เครื่องคาวหวานถูกจัดวางในศาลพร้อมสรรพ ส่วนแท่นข้างศาลจะนำมะพร้าววางไว้บนแท่นและปักช่อดอกมะพร้าวไว้ที่ฐานเท่านั้น ส่วนยามบ่ายจะนิมนต์พระสงฆ์ จำนวน ๙ รูป มาประกอบพิธี สมาชิกทั้งชายและหญิงนับตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงแก่เฒ่าต่างมารวมกันบริเวณพิธี ในค่ำคืนนี้หมอพิธีจะทำการจุดธูปเทียนบูชาและสวดชุมนุมเทวดาและอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายมาร่วมกันในพิธีและให้มารับเครื่องเซ่นไหว้ที่ได้จัดไว้ การประกอบพิธีนี้ต้องจัดสำรับเครื่องคาวหวานต่างหากจากที่วางบนศาล แล้วนำมาไว้ข้างๆ ศาลจากนั้นพระสงฆ์สวดเจริญพระพุทธมนต์ หลังจากเสร็จพิธีจะมีการร้องรำทำเพลง การละเล่นพื้นบ้าน เช่น รำมโนราห์หรือเล่นเกมเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงร่วมกันในชุมชน
 
     ส่วนเช้าตรู่ของวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ จะเป็นการถวายภัตตาหารเช้าและภัตตาหารเพลแด่ภิกษุสงฆ์ ส่วนภาคบ่ายจะเป็นช่วงของพิธีลงเล (ลอยแพ) เรือนแพขนาดเล็กซึ่งชาวบ้านในชุมชนช่วยกันสร้างขึ้นจากวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น เช่นต้นกล้วย ใบตาล กิ่งไม้ต่างๆ นำมาประกอบเป็นแพเล็กๆ เพื่อลอยในทะเล บนแพนั้นจะสร้างเรือนหลังเล็กๆ คล้ายที่อยู่อาศัยจริงมีผนังหลังคามุงเรียบร้อย เริ่มพิธีด้วยพระสงฆ์จะสวดมนต์ปัดเป่าเคราะห์ให้แก่สมาชิก จากนั้นสมาชิกทั้งชายและหญิงจะนำของเซ่นไหว้ของครอบครับที่เตรียมไว้และตัดเล็บ ผม เพื่อเป็นการปล่อยเคราะห์ปล่อยโศกใส่ไว้บนแพ เพื่อนำพาทุกข์โศกโรคภัยลอยไปด้วย หมอพิธีจะขึงสายสิญจน์ที่แพและฝ่ายชายจะยกแพลงทะเลส่งออกจากฝั่ง จากนั้นพระสงฆ์จะทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์รดน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่สมาชิกในชุมชนที่มาร่วมพิธีถือเป็นการเสร็จพิธี
 
     ปัจจุบันการทำพิธีลงเลของชาวภาคใต้อาจจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปบ้างตามความเหมาะสม เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองไม่เอื้ออำนวยเหมือนเช่นในอดีต ทำให้ชุมชนที่เคยจัดพิธีลงเลแบบดั้งเดิมที่ต้องจัดบนชายหาดทะเล ต้องเปลี่ยนมาเป็นจัดพิธีในบริเวณวัดแทนเพื่อความสะดวกสบายและความปลอดภัยของชาวบ้านในชุมชนที่เข้าร่วมพิธีกรรม โดยเฉพาะในพื้นที่สามชายแดนจังหวัดภาคใต้ทำให้รูปแบบและพิธีกรรมบางอย่างต้องเปลี่ยนแปลงไป เพราะในอดีตนั้นสมาชิกชุมชนจะต้องไปทำบุญบริเวณทะเลและต้องค้างคืนในปรำพิธี โดยสมาชิกชุมชนจะต้องสร้างขนำเล็กๆ เพื่อพักอาศัยร่วมกันในบริเวณนั้น แต่ในปัจจุบันได้มีการปรับกิจกรรมให้เข้ากับความจำเป็นของบริบททางสังคมที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไป แต่ยังคงไว้ซึ่งการอนุรักษ์และสืบสานประเพณีอันดีงาม ที่ก่อให้เกิดความรักความสามัคคีของคนในชุมชนสืบไปของชุมชนไทยพุทธในพื้นที่ตามแนวชายฝั่งอ่าวไทยทางทิศตะวันออกของภูมิภาค ประกอบด้วย จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา จังหวัดนราธิวาส โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ที่มีการอนุรักษ์และสืบสานจนเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด
 
     ประเพณีลงเล กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๖ สาขาแนวปฏิบัติ ทางสังคม พิธีกรรมและงานเทศกาลต่างๆ
 
.........................................
 
ที่มา: ich.culture.go.th/,รายงานโครงการการเก็บรวบรวมและสังเคราะห์ข้อมูลปฏิบัติการทางสังคมของการเสริมสร้างและฟื้นฟู ประเพณีลงเล อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี มหาวิทยาลัยทักษิณ
ภาพ : www.m-culture.in.th
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)