
ปัจจุบันมีภาษาที่คนทั่วโลกใช้สื่อสารกันอย่างน้อย ๖ พันกว่าภาษา บางภาษาก็สูญหายไปแล้ว แต่ที่ยังนิยมใช้กันมากที่สุดในขณะนี้ก็มี ภาษาจีน อังกฤษ สเปน ฝรั่งเศส รัสเซีย และฮินดี เป็นต้น โดยภาษาจีนจะเป็นภาษาแม่ (คือภาษาที่หนึ่งหรือภาษาที่ใช้พูดแต่กำเนิด) ที่คนใช้มากที่สุด เนื่องด้วยมีประชากรในประเทศมากที่สุดในโลกนั่นเอง ส่วนภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสและสเปน เป็นภาษาที่เผยแพร่ไปยังประเทศอื่นๆ มากที่สุด เพราะสมัยก่อนเป็นประเทศที่มีอาณานิคมจำนวนมาก อย่างไรก็ดี นักภาษาได้ประมาณว่า ในโลกนี้แม้จะมีภาษาพูดกันมากมาย แต่มีไม่ถึง ๑๐๐ ภาษา ที่มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง และภาษาไทยก็เป็นหนึ่งในนี้ด้วย ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศเรา เพราะภาษานอกจากจะเป็นเครื่องมือสื่อสารแสดงถึงความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วโลกแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองด้านวัฒนธรรม และอารยธรรมของชาตินั้นๆ ด้วย
นักภาษาศาสตร์ได้ศึกษาภาษาไทยไว้ว่ามี ๗ ลักษณะ คือ
๑.เป็นภาษาโดด
๒.มีการเรียงคำแบบประธาน กริยา กรรม
๓.เป็นภาษาวรรณยุกต์ (สามารถผันวรรณยุกต์ได้)
๔.มีเสียงสระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์เป็นหน่วยภาษา (คือสามารถนำเสียงที่มีอยู่จำกัดมาสร้างคำและประโยคเพิ่มขึ้นได้)
๕.มีการวางคำขยายไว้หลังคำหลัก
๖. มีการลงเสียงหนักเบาของคำ
๗.ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงรูปคำเพื่อบอกเพศ พจน์หรือกาลเหมือนบางภาษา
นอกจากนี้ยังมีลักษณะเด่นอื่นๆ อีก เช่น มีลักษณนามบอกลักษณะของคำนาม เช่น ช้าง ๒ เชือก โต๊ะ ๓ ตัว, มีคำราชาศัพท์ให้เลือกใช้ตามกาลเทศะและถูกต้องเหมาะสมกับบุคคล, มีการเว้นวรรคตอน ซึ่งหากเว้นผิดก็จะทำให้ความหมายเปลี่ยนไป, นิยมเล่นคำที่มีสัมผัสคล้องจองกัน ทำให้เกิดสำนวนต่างๆ เป็นต้น
ความพิเศษของภาษาไทยเราเป็นอย่างไร อยากจะเล่าสู่กันฟัง โดยขอนำคำว่า "กิน” มาเป็นตัวอย่าง ซึ่งเมื่อนำไปประสมผสานกับคำอื่นๆ แล้ว ได้ก่อให้เกิดความหมายที่แตกต่างกันออกไปอย่างน่าสนใจทั้งด้านบวกและด้านลบ แล้วแต่การนำไปใช้ กล่าวคือ
โดยปกติคำว่า "กิน” จะหมายถึง เคี้ยว กลืน หรือดื่มเข้าไป ทำให้ล่วงลำคอสู่กระเพาะ ถ้าพูดอย่างสุภาพก็จะใช้คำว่า "รับประทาน” ถ้าเป็นราชาศัพท์จะใช้คำว่า "เสวย” และ "ฉัน” สำหรับพระสงฆ์ ส่วนภาษาพูดอย่าง แดก ยัด หม่ำ เขมือบ ก็หมายถึงการกินเช่นกัน นอกจากนี้ กิน ยังหมายถึง ทำให้หมดเปลือง เช่น พัดลมตัวนี้กินไฟ งานชิ้นนี้กินเวลามาก เป็นต้น
"กิน” ที่รวมกับคำอื่นและมีความหมายอย่างเป็นกลางๆ เช่น กินงาย หมายถึง กินอาหารมื้อเช้า กินไม่ลง หมายถึง เอาชนะไม่ได้ หรือรับไม่ไหว กินหู้ หมายถึง ผิดคาด (มาจากการแทงหวยสมัยก่อน) กินลม หมายถึง ต้านลม อย่างว่าวกินลม กินตัว หมายถึง ผุหรือขาดกร่อนไปเองอย่างผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ กินที่ หมายถึง เปลืองที่ กินนอน ส่วนใหญ่จะหมายถึงเป็นโรงเรียนประจำที่จัดที่พักให้นักเรียนกินอยู่หลับนอนในโรงเรียน กินทาง หมายถึง ล้ำทาง ใช้กับยวดยานพาหนะ กินนร หมายถึง อมนุษย์จำพวกหนึ่งในนิยาย ท่อนบนเป็นคน ท่อนล่างเป็นนก เพศหญิงเรียก กินรี ถ้ากินปลิง จะหมายถึง นกชนิดหนึ่ง
ส่วน "กิน” ที่มีความหมายค่อนในทางบวกและเป็นที่ชื่นชอบของผู้คน ได้แก่ การกินเลี้ยงในงานแต่งงาน ซึ่งทางใต้เรียก กินเหนียว ทางพายัพเรียก กินแขก และทางอีสานเรียก กินดอง ใครได้รับเชิญให้ไปกินแบบนี้ ส่วนใหญ่จะยินดีทั้งสิ้น กินตำแหน่ง หมายถึง ได้ครองตำแหน่ง กินขาด เป็นภาษาพูดหมายถึง ดีกว่ามาก มักจะแสดงถึงความเก่งกว่า เหนือกว่า กินเจ หมายถึง การกินอาหารประเภทผักล้วน ซึ่งเป็นการถือศีลแบบหนึ่งของชาวจีน ตกราวๆ เดือนตุลาคม กินอยู่พูวาย หมายถึง กินอย่างอิ่มหนำสำราญ กินบุญเก่า หมายถึง ได้รับผลประโยชน์จากความดีที่เคยกระทำไว้แต่เก่าก่อน กินใจ หมายถึง กระทบใจ ซาบซึ้งใจ
สำหรับ "กิน” ซึ่งมีความหมายในทางลบ มักเป็นที่รังเกียจของคนอื่น เช่น กินแรง หมายถึง เอาเปรียบผู้อื่นในการทำงานหรือเลี้ยงชีพ กินรังแตน หมายถึง อารมณ์เสีย หงุดหงิดบ่นว่าเกินเหตุ กินผัว หมายถึง มีผัวกี่ๆ คนก็ล้วนตายเรียบ เช่นเดียวกับคำว่า กินเมีย คือ มีเมียกี่ๆ คนก็ตายหมด กินแหนง หมายถึง ระแวง สงสัย ไม่แน่ใจ มักใช้คู่กับแคลงใจ เป็น กินแหนงแคลงใจ กินล้างกินผลาญ หมายถึง กินอย่างสุรุ่ยสุร่าย กินเศษกินเลยหรือกินเล็กกินน้อย หมายถึง ยักยอกเอาบางส่วนที่มีจำนวนน้อยมาเป็นของตน กินตามน้ำ หมายถึง รับของสมนาคุณที่เขาเอามาให้ โดยไม่ได้เรียกร้อง (มักใช้กับเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ) กินสินบน หมายถึง รับเงินหรือสิ่งของต่างๆเพื่อให้ทำประโยชน์แก่ผู้ให้ในทางมิชอบ พูดง่ายๆ ว่าทุจริตในหน้าที่นั่นเอง
นอกจากนี้ "กิน” ที่เป็นสำนวนภาษิตก็มีอยู่ไม่น้อย เช่น กินปูนร้อนท้อง หมายถึง ทำอาการพิรุธขึ้นเอง กินแกลบกินรำ หมายถึง โง่ กินข้าวต้มกระโจมกลาง เป็นสำนวนเปรียบเทียบว่า ทำอะไรด้วยความใจร้อน ไม่พิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน (เหมือนรีบจ้วงกินข้าวต้มตอนร้อนๆ กลางชาม ก็อาจจะลวกปากจนลิ้นพอง คำว่า กระโจม ในที่นี้หมายถึงผลีผลามโถมเข้าไป) กินเหล็กกินไหล หมายถึง คนที่มีความอดทนต่อความเหน็ดเหนื่อยหรือทนต่อความเจ็บปวดได้มากผิดปกติ กินข้าวก้นบาตร หมายถึง อาศัยวัดอยู่ กินบ้านกินเมือง หมายถึง นอนตื่นสายมาก หรือบางครั้งก็หมายถึง การฉ้อราษฎร์บังหลวง กินอยู่กับปาก อยากอยู่กับท้อง หมายถึง รู้ดีอยู่แล้ว แต่แสร้งทำเป็นไม่รู้ กินบนเรือนขี้รดบนหลังคา หมายถึง คนเนรคุณ ส่วนคำว่า "กิน” ที่ผู้หญิงไม่ชอบ ได้แก่ กินน้ำใต้ศอก หมายถึง จำยอมเป็นรองเขา ไม่เทียมหน้าเทียมตา มักหมายถึงเมียน้อยที่ต้องยอมเมียหลวง กินน้ำตาต่างข้าว หมายถึง ร้องไห้เศร้าโศกจนไม่เป็นอันกินอันนอน ส่วน "กิน” ที่ผู้ชายบางคนชอบกระทำ เช่น หลอกกินไข่แดง หมายถึง ทำให้ผู้หญิงเสียความบริสุทธิ์ กินในที่ลับ ไขในที่แจ้ง หมายถึง เอาเรื่องที่ทำกันในที่ลับ มาเปิดเผย มักใช้ในเรื่องชู้สาว แต่ถ้าพูดว่า กินน้ำพริกถ้วยเก่า จะหมายถึง อยู่กับเมียคนเดิมหรือคนเดียว มักจะเป็นการพูดหยอกแกมประชดกันในหมู่เพื่อนฝูง
จากตัวอย่างข้างต้น ทำให้เห็นว่า แค่คำว่า "กิน” คำเดียว ยังสามารถแตกออกมาเป็นคำที่มีความหมายต่างไปจากเดิมมากมาย สะท้อนให้เห็นถึงความอัศจรรย์และความรุ่มรวยของภาษาไทยเรา อย่างไรก็ดี แม้ปัจจุบันที่เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็ว จะทำให้การใช้ภาษาไทยของเราตกอยู่ในภาวะการณ์ที่น่าเป็นห่วง แต่เชื่อว่าด้วยความเป็นเอกลักษณ์และคุณค่าที่มีอยู่ จะช่วยให้เรารักษามรดกชิ้นนี้ให้ดำรงอยู่คู่กับชาติไทยได้ตลอดไป
.....................................................
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม