ประเพณีรับบัว เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ที่มีการสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าเริ่มมาตั้งแต่ยุคใดสมัยใด ซึ่งมีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับความเป็นมาของประเพณีรับบัว ๓ ประการดังนี้
๑.ในสมัยก่อนอำเภอบางพลีมีประชากรอาศัยอยู่ ๓ พวก คือ คนไทย รามัญและลาว ซึ่งแต่ละพวกจะมีหัวหน้าคอยดูแลและทำมาหากินในอาชีพต่างๆกัน และทั้ง ๓ พวกก็ปรึกษาหารือกันว่าสมควรช่วยกันหักล้างถางพงให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อทำไร่ทำสวนต่อไป เมื่อพวกคนไทย รามัญและลาว ช่วยกันหักล้างถางพงเพื่อขยายพื้นที่ทำมาหากินมาถึงทาง ๓ แยก คือ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นคลองสลุด ทางเหนือเป็นคลองชวดลากข้าวและทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นคลองลาดกระบัง จึงตกลงกันว่าเราควรแยกกันเพื่อไปทำมาหากินคนละทางจะดีกว่าจะได้รู้ว่าภูมิประเทศว่าด้านไหนจะทำมาหากินได้คล่องกว่ากัน โดยพวกคนไทยเลือกไปทางคลองชวดลากข้าว พวกรามัญไปทางคลองลาดกระบัง และพวกลาวเลือกไปทางคลองสลุด แต่พวกรามัญทำมาหากินอยู่ประมาณ ๒-๓ ปี ก็ไม่ได้ผล เพราะมีนก หนู ชุกชุมรบกวนพืชผลต่างๆจนเสียหายมากมาย เมื่อทำมาหากินไม่ได้ผล พวกรามัญเลยอพยพกลับถิ่นเดิมที่ปากลัด (พระประแดง) โดยเริ่มอพยพกันในตอนเช้ามืดของเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ก่อนไปก็ได้เก็บดอกบัวบริเวณบึงไปด้วย คนไทยที่คุ้นเคยกับพวกรามัญจึงไต่ถามว่าเก็บดอกบัวไปทำไมมากมายเพียงนี้ พวกรามัญบอกว่าจะเอาไปบูชาพระคาถาพัน (เทศน์มหาชาติ) ที่ปากลัด และได้สั่งเสียกับคนไทยที่รักและสนิทชอบพอกันว่าในปีต่อมาเมื่อมาถึงเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ให้ช่วยเก็บดอกบัวรวบรวมไว้ที่วัดหลวงพ่อโตนี้เดี๋ยวพวกตนจะมารับ ด้วยคนไทยเป็นคนโอบอ้อมอารีรักพวกพ้องจึงตอบตกลง จากนั้นพวกรามัญก็นมัสการหลวงพ่อโตพร้อมทั้งขอน้ำมนต์ไปเพื่อเป็นสิริมงคลและลากลับถิ่นฐานเดิมที่ปากลัดและนำดอกบัวไปบูชาพระคาถาพันปี ปีต่อมาในเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ คนไทยบางพลีก็จะเก็บดอกบัวรวบรวมไว้ที่วัดบางพลีใหญ่ (วัดหลวงพ่อโต) ตามคำขอร้องของชาวรามัญ พวกชาวรามัญก็จะมารับดอกบัวทุกปี ซึ่งจะเดินทางมารับในช่วงกลางคืน โดยใช้เรือขนาดจุ ๕๐-๖๐ คน จะมาถึงวัดบางพลีประมาณตี ๑-๔ ของทุกครั้งที่มาและมีการตีฆ้องร้องเพลงตลอดทางอย่างสนุกสนาน พร้อมทั้งมีการละเล่นต่างๆในเรือ ผู้ที่คอยต้อนรับก็พลอยสนุกสนานไปด้วยไมตรีจิตอันดียิ่ง คนไทยก็จะทำอาหารคาวหวานไว้คอยเลี้ยงรับรอง โดยใช้ศาลาวัดเป็นที่เลี้ยงอาหารกันเมื่ออิ่มหนำสำราญแล้วก็จะรับดอกบัวไปนมัสการหลวงพ่อโต จากนั้นก็นำดอกบัวกลับไปบูชาพระคาถาพันที่ปากลัด
๒.มีเรื่องเล่ากันจากชาวรามัญที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยพร้อมกับเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนีย์) และมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ปากลลัด (พระประแดง) มีอาชีพทำนาอยู่ที่อำเภอบางพลี เล่าว่าในสมัยกรุงธนบุรีการอพยพของชาวรามัญ เนื่องจากพระเจ้ามังระคิดจะตีกรุงธนบุรี จึงเกณฑ์พวกรามัญซึ่งเป็นเมืองขึ้นของพม่ามาช่วยรบกวนชาวรามัญนั้นได้รับการข่มเหงจิตใจลูกเมียถูกฆ่าชาวรามัญ จึงก่อกบฏต่อพม่าโดยรวมตัวกันไปตีพม่าแต่แพ้สู้พม่าไม่ได้เลยหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระเจ้าตากสินมหาราช และได้นำเอาปี่พาทย์มอญเข้ามาด้วย เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๗ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พวกรามัญไปตั้งภูมิลำเนาที่ปากเกล็ด แขวงนนทบุรี และปากโคก แขวงปทุมธานี ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราชทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายครอบครัวชาวรามัญและพระยาเจ่ง มาอยู่ที่นครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) ในปี พ.ศ. ๒๓๖๗ ต่อมาชาวรามัญได้ทำความดีความชอบได้รับพระราชทานที่นาที่บางพลี จึงเป็นเหตุให้ชาวรามัญมาทำนาที่บางพลี ชาวรามัญนั้นจะมาเฉพาะฤดูทำนาเท่านั้น เมื่อเสร็จสิ้นฤดูทำนาก็จะกลับไปที่ปากลัด ชาวรามัญที่ปากลัดส่วนใหญ่จะเคร่งครัดในพระพุทธศาสนา เมื่ออกพรรษาก็จะกลับไปทำบุญที่วัดบ้านของตน โดยจะเก็บดอกบัวที่ตำบลบางพลีใหญ่ซึ่งมีมากมายในสมัยนั้นไปประกอบเป็น ดอกไม้ธูปเทียน ในการทำบุญที่มีการเทศน์คาถาพันส่งท้ายพรรษา ครั้งแรกก็เก็บเองต่อมาชาวอำเภอบางพลีเห็นว่าชาวรามัญมาเก็บดอกบัวทุกปี ในปีต่อๆมาจึงเก็บดอกบัวเตรียมไว้ให้ตามนิสัยคนไทยที่ชอบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่งระยะแรกก็ส่งให้กับมือมีการไหว้ขอบคุณ ต่อมาเกิดความคุ้นเคยถ้าใกล้ก็ส่งมือต่อมือ ถ้าไกลก็โยนให้จึง เรียกว่า "รับบัว โยนบัว”
๓.ในอดีตตำบลบางพลีใหญ่นั้นเป็นตำบลที่มีดอกบัวมาก อำเภอต่างๆที่อยู่ใกล้เคียง เช่น อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอพระประแดง และอำเภอต่างๆที่อยู่ใกล้เคียง เมื่อถึงวันออกพรรษาก็จะมาเก็บดอกบัวที่นี้ไปบูชาพระเพราะถือว่าดอกบัวเป็นดอกไม้ทางพุทธศาสนาเช่นเวลาที่พระพุทธเจ้าประทับนั่ง ยืน เดิน จะมีดอกบัวมารองรับเสมออีกประการหนึ่งในเรื่องพระมาลัยได้กล่าวว่ามีชายเข็ญใจคนหนึ่งได้ถวายดอกบัวแก่พระมาลัยยังได้เกิดเป็นเทพบุตรได้ ดังนั้นในสมัยโบราณคนจังนิยมถวายดอกบัวแก่พระในวันออกพรรษาถือว่าได้บุญกุศลแรงมาก ถึงกับลงทุนนอนค้างอ้างแรมยังตำบลนี้เพื่อเก็บดอกบัว ในสมัยแรกๆคงเที่ยวหาเก็บกันเองแต่ในสมัยต่อมาชาวบางพลีก็เตรียมไว้เพื่อเป็นการทำบุญกุศลร่วมกัน
ประเพณีรับบัว มีความสำคัญในด้านความเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษของชาวบางพลีได้มอบไว้ให้ลูกหลานของตน มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อันแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ชุมชนและความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ แสดงให้เห็นถึงแบบอย่างของภูมิปัญญาบรรพบุรุษที่ได้ร่วมกันสร้าง อัตลักษณ์ชุมชนบนพื้นฐานของความเป็นกัลยาณมิตร เอื้ออาทรช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งอาชีพการงาน ตลอดจนความเชื่อในเรื่องบุญกุศลทั้งภพนี้และภพหน้า ซึ่งในปัจจุบันประเพณีรับบัว เป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลก ที่มีประชาชนเรือนหมื่นทั้งในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดใกล้เคียงต่างพากันมานมัสการหลวงพ่อโต โดยจะมีการอัญเชิญองค์หลวงพ่อโตจำลอง ลงเรือบุษบกแห่ไปตามลำคลองสำโรง เพื่อให้ชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่ริมสองฝั่งคลอง ได้ร่วมสักการะบูชา เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัว ซึ่งจะจัดเป็นประจำทุกปีเริ่มตั้งแต่ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ก่อนวันออกพรรษา และประเพณีรับบัว ได้ประกาศขึ้นบัญชีเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔ โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
...............................
ที่มา : http://ich.culture.go.th/index.ph/ และhttps://www.stou.ac.th/ ภาพ : บุญพิณ ถือทอง