
ประเพณีการกวนข้าวทิพย์ เป็นพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์ที่สอดแทรกเข้ามาในพิธีกรรมของพระพุทธศาสนาซึ่งถือเป็นพระราชพิธีที่กระทำกันในเดือนสิบ มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาเป็น ราชธานี และได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่หนึ่ง มาเลิกราไปในรัชกาลที่สองและสาม ต่อมาได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งในรัชกาลที่สี่ เป็นต้นมา ปัจจุบันนิยมทำกันในทุกภาคของประเทศไทย ประเพณีกวนข้าวทิพย์แม้จะเป็นพิธีการของพราหมณ์แต่ก็นำมาประยุกต์กับวิถีพุทธได้อย่างลงตัวสามารถเสริมศรัทธา การเสียสละ ความสามัคคีในชุมชนได้อย่างดี
จากความเชื่อในครั้งพุทธกาลที่นางสุชาดาธิดาของเสนียะ (เสนานิกุฏุมพี) ผู้มีทรัพย์ซึ่งเป็นนายใหญ่แห่งชาวบ้านเสนานิคม ตำบลอุรุเวลา และเป็นมารดาของพระยสมหาสาวก ผู้มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ปรุงข้าวมธุปายาส ซึ่งถือเป็นภัตตาหารมื้อแรกหรือการถวายอันสำคัญก่อนที่พระบรมโพธิสัตว์จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือกันว่าข้าวมธุปายาสเป็นของทิพย์ของวิเศษ เมื่อทำขึ้นจึงเรียกว่า "ข้าวทิพย์” ซึ่งชาวบ้านจะพร้อมใจกันทำในเทศกาลออกพรรษา ถวายพระสงฆ์เพื่อเป็นการสักการบูชา ถ้าใครได้รับประทานจะเป็น สิริมงคลกับตนเอง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ การกวนข้าวทิพย์ต้องอาศัยแรงศรัทธา แรงใจ ความสามัคคีพร้อมเพียงกันจากชาวบ้าน จึงจะสำเร็จลงได้ มูลเหตุที่ทำในวันออกพรรษาเพื่อถวายเป็นเครื่องสักการบูชาและรับเสด็จพระพุทธองค์ที่เสด็จจากจำพรรษาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
สำหรับวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบสำคัญซึ่งใช้ในการกวนข้าวทิพย์ที่ชาวบ้านนำมารวมเตรียมไว้จะประกอบด้วย น้ำนมข้าว ข้าวเม่า มะพร้าว น้ำอ้อย น้ำตาล แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว แป้งสาลี ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว เผือก งา มันเทศ มันสาคู น้ำผึ้ง ฟักทอง ข้าวตอก นมสด นมข้น เนย กล้วย ข้าวโพด ใบเตย น้ำลอยดอกมะลิ พืชหรือผลผลิตจากพืชทุกชนิดที่ใช้ทำขนมได้ นำมากวนรวมกันเป็นข้าวทิพย์ได้ บางแห่งเรียกว่าข้าวสำปะปิ หมายถึง การนำของหลายอย่างมารวมกันจนแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไร เมื่อเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้วพิธีการจะเริ่มประมาณ ๔ โมงเย็นของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๒ โดยเริ่มด้วยพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ถึงบทอิติปิโส เด็กหญิงพรหมจารีจะลุกไปยังบริเวณพิธีกับผู้ชำนาญการ ส่วนคนอื่นจะเข้าไปไม่ได้ เด็กหญิงจะเป็นผู้เริ่มทำทุกอย่างตั้งแต่ก่อไฟ ยกกระทะขึ้นตั้งเตาไฟแล้วเริ่มกวน กวนไปประมาณ ๒๐ นาที ก็เป็นการเสร็จพิธีการ หลังจากนั้นชาวบ้านจะช่วยกันกวน โดยผลัดกันตลอด เวลาแต่ละกระทะจะใช้ประมาณ ๓๐-๔๐ นาที ถ้ากระทะใหญ่อาจใช้เวลามากขึ้นขณะกำลังข้นก็จะใส่เนย ข้าวเม่า น้ำตาล น้ำอ้อย พอสุกได้ที่ ข้าวจะออกเป็นสีน้ำตาลไหม้แล้วนำไปเทลงถาดที่เตรียมไว้และโรยหน้าด้วยถั่ว งาวันรุ่งขึ้นเป็นวันพระมีการทำบุญตักบาตรเทโวโรหนะ ถวายข้าวทิพย์ นอกจากถวายพระสงฆ์แล้ว ยังต้องให้พอแจกจ่ายกันทุกครัวเรือนในหมู่บ้าน และผู้ที่ มาร่วมงานเพื่อเป็นสิริมงคล ปัจจุบันมีหลายจังหวัดที่มีการสืบสานประเพรีกวนข้าวทิพย์ เนื่องในวันออกพรรษา เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น อาทิ จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดนครนายก และจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการอนุรักษ์สืบสานประเพณีกวนข้าวทิพย์ให้อยู่คู่กับสังคมไทยเราสืบไปชั่วลูกชั่วหลาน ประเพณีกวนข้าวทิพย์ ได้ประกาศขึ้นบัญชีเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๖ โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
ที่มา: ich.culture.go.th