
เมื่อย่างเข้าสู่หน้าฝน ฤดูกาลแห่งการเพาะปลูกพืชพันธุ์ ต้นข้าวเจริญงอกงาม ในราวเดือนแปด หรือเดือนกรกฎาคม เป็นช่วงที่พระสงฆ์จะจำพรรษาอยู่ที่วัด เป็นเวลา ๓ เดือน พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าในช่วงนี้หากพระสงฆ์ออกธุดงค์จะเป็นการเหยียบย่ำต้นข้าวของชาวบ้านเสียหายได้ จึงให้พระสงฆ์ศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ภายในวัด เรียกว่าช่วงเข้าพรรษา
ประเพณีเข้าพรรษา หรือบุญเดือนแปด เป็นหนึ่งในฮีต ๑๒ คอง ๑๔ อันเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติพันธุ์ลาว ซึ่งรวมถึงชาวลาวอีสานที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เป็นวัฒนธรรมที่แสดงถึงความเป็นชาติเก่าแก่และเจริญรุ่งเรืองมายาวนาน จนเป็นเอกลักษณ์ของชาติและท้องถิ่น ฮีตเดือนแปด คือบุญเข้าพรรษา เป็นเดือนที่สำคัญทางทางพระพุทธศานา พระสงฆ์ และญาติโยมจะเตรียมเข้าพรรษาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ โดยปัดกวาดเสนาสนะ และซักจีวร เป็นต้น ส่วนญาติโยมจะจัดเตรียมจตุปัจจัยไทยทาน เครื่องใช้ สิ่งของมาถวายพระสงฆ์ สำหรับพิธีกรรมเกี่ยวกับการเข้าพรรษาในภาคอีสานก็คล้ายคลึงกับภาคอื่น ๆ
จุดเด่นที่เป็นการจัดงานในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือการแห่เทียนพรรษา ประเพณีที่ถูกพัฒนาจนเป็นการท่องเที่ยว และโด่งดังมากที่จังหวัดอุบลราชธานี จากเดิมการถวายเทียนจำนำพรรษาที่ชาวบ้านร่วมกันหล่อเทียนต้นใหญ่ขึ้น เพื่อถวายพระภิกษุสงฆ์จุดให้แสงสว่างในการปฏิบัติกิจวัตรต่างๆ เป็นพุทธบูชาตลอดเวลา ๓ เดือน ก็เนื่องมาจากในสมัยก่อนพระภิกษุสงฆ์ไม่มีไฟฟ้าใช้ การนำเทียนไปถวาย ชาวบ้านมักจัดขบวนแห่กันอย่างเอิกเกริกสนุกสนานและปฏิบัติสืบทอดกันมาจนกลายเป็นประเพณี
ชาวพุทธซึ่งนับถือศาสนาพุทธจะทำเทียนเพื่อจุดบูชาพระรัตนตรัย โดยนำรังผึ้งร้างมาต้มเอาขี้ผึ้งแล้วฟั่นเป็นเทียนเล่มเล็ก ๆ มีความยาวตามต้องการ เช่น ยาวเป็นคืบ หรือเป็นศอก แล้วใช้จุดบูชาพระ เทียนพรรษาเริ่มมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ชาวพุทธจะยึดถือเป็นประเพณีนำเทียนไปถวายพระภิกษุในเทศกาลเข้าพรรษา เพื่อปรารถนาให้ตนเองเป็นผู้เฉลียวฉลาด มีไหวพริบ ประดุจแสงสว่างของดวงเทียน