
"เอตทัคคะ” หมายถึง ผู้ที่มีความยอดเยี่ยมในทางใดทางหนึ่งเป็นพิเศษ เป็นตำแหน่งที่พระพุทธเจ้าได้ประทานแต่งตั้งให้กับพุทธสาวกหรือพุทธบริษัท ๔ อันได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ที่มีความรู้ความสามารถโดดเด่นกว่าคนอื่นๆในด้านนั้นๆ ซึ่งตำแหน่งนี้จะทรงตั้งเพียงรูปเดียวคนเดียวในแต่ละด้านของพุทธบริษัทแต่ละฝ่ายเท่านั้น (ยกเว้นพระอานนท์ที่มี ๕ ด้าน) โดยผู้ที่จะได้รับการยกย่องจะมาจากเหตุ ๔ ประการ คือ
๑.ตามเรื่องที่เกิดขึ้น (อัตถุปปัตติ) คือ ได้แสดงความสามารถให้ปรากฏโดยสอดคล้องกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
๒.ตามที่ได้สะสมบุญมาในอดีตชาติ (อาคมนะ) คือ ได้สะสมบุญในด้านนั้นๆมาแต่อดีตชาติ และยังได้ตั้งจิตปราราถนาเพื่อเป็นเอตทัคคะนั้นๆด้วย
๓.ตามความเชี่ยวชาญ (จิณณวสี) คือ มีความช่ำชองชำนาญเรื่องนั้นๆเป็นพิเศษ
๔.ตามความสามารถที่เหนือผู้อื่น (คุณาติเรก) คือ มีความสามารถในเรื่องที่ทำให้เป็นเอตทัคคะเหนือไปกว่าผู้มีความสามารถในอย่างเดียวกัน
ในสมัยพุทธกาลเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนมชีพอยู่ ผู้ที่เป็นเอตทัคคะหรือผู้มีความเป็นเลิศเหนือผู้อื่นมีทั้งสิ้น ๗๔ คน แบ่งเป็น
-ฝ่ายพระภิกษุ มี ๔๑ รูป แต่ละรูปต่างก็เป็นพระอสิติมหาสาวก หรือพระสาวกชั้นผู้ใหญ่ที่มีด้วยกัน ๘๐ รูป แต่มีเพียง ๔๑ รูปที่ได้รับการยกย่องเป็นเอตทัคคะ เช่น พระอัญญาโกณฑัญญะเถระ เป็นเลิศในทาง ผู้รู้ราตรีนาน (มีประสบการณ์มาก) พระอุรุเวลกัสสปะเถระ เป็นเลิศในทางผู้มีบริวารมาก พระสารีบุตรเถระ (อัครสาวกฝ่ายขวา) เป็นเลิศในทางสติปัญญา และพระมหาโมคคัลลานะเถระ (อัครสาวกฝ่ายซ้าย) เป็นเลิศในทางผู้มีฤทธิ์ เป็นต้น
-ฝ่ายภิกษุณี มี ๑๓ รูป เช่น พระมหาปชาบดีเถรี เป็นเลิศในทางรัตตัญญู (มีวัยวุฒิสูงและมีประสบการณ์มาก) พระมหาเขมาเถรี เป็นเลิศในทางผู้มีปัญญา พระมหาอุบลวรรณเถรี เป็นเลิศในทางผู้มีฤทธิ์ และพระมหาปฏาจาราเถรี เป็นเลิศในทางผู้ทรงพระวินัย (ผู้ชำนาญเรื่องพระวินัย) เป็นต้น
-ฝ่ายอุบาสก มี ๑๐ คน เช่น ตะปุสสะและภัลลิกะ เป็นเลิศในฝ่ายผู้ถึงสรณะก่อน อนาถปิณฑิกเศรษฐี เป็นเลิศในฝ่ายผู้เป็นทายก หัตถกอาฬวกอนาคามี เป็นเลิศในฝ่ายผู้สงเคราะห์บริษัทด้วยสังคหวัตถุ ๔ และ พระเจ้ามหานามะ เป็นเลิศในฝ่ายผู้ถวายปัจจัย ๔ อันประณีต เป็นต้น
-ฝ่ายอุบาสิกา มี ๑๐ คน เช่น นางสุชาดา เป็นเลิศในฝ่ายผู้ถึงพระรัตนตรัยก่อน นางวิสาขา เป็นเลิศในฝ่ายผู้เป็นทายิกา นางขุชชุตตรา เป็นเลิศในฝ่ายผู้เป็นพหูสูต และนางสุปปวาสา เป็นเลิศในฝ่ายผู้ถวายรสอันประณีต ผู้เป็นสุดยอดบุคคลเหล่านี้ แต่ละท่านล้วนมีชีวประวัติที่น่าสนใจไม่น้อย บางรูปบางคนเราจะเคยได้ยินชื่อท่านบ่อย แต่บางท่านแทบจะไม่เคยได้ยินมาเลย จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง เป็นตัวอย่างแต่ละพุทธบริษัทอย่างละรูปอย่างละคนโดยสังเขป ดังนี้

พระปิลินทวัจฉะ พระภิกษุผู้เป็นเอตทัคคะด้านเป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาทั้งหลาย ตามประวัติ ท่านเป็นบุตรของพราหมณ์ตระกูลวัจฉโคตร เดิมชื่อ "ปิลินทะ” คนทั่วไปจึงมักเรียกท่านว่า "ปิลินทวัจฉะ” ตามชื่อตระกูล เมื่อเจริญวัยได้ศึกษาไตรเพทตามลัทธินิยม ต่อมาได้ออกบวชเป็นปริพาชก (นักบวชนอกพุทธศาสนา) ได้เรียนในสำนักอาจารย์แห่งหนึ่งจนสำเร็จวิชาเหาะได้และยังสามารถล่วงรู้จิตของผู้อื่นได้ ทำให้มีชื่อเสียงไปทั่วกรุงสาวัตถีบ้านเกิดของท่าน ต่อมาได้เดินทางท่องเที่ยวแสดงฤทธิ์มาจนเมืองราชคฤห์ ที่พระพุทธเจ้าอยู่ ปรากฏว่าวิชาของท่านกลับเสื่อมลง ท่านจึงรู้ได้ทันทีว่ามีผู้มีสำเร็จวิชาที่เหนือกว่าท่าน จึงได้สืบเสาะจนพบพระบรมศาสดา และได้ขอศึกษาวิชาดังกล่าว พระพุทธเจ้าทรงยินดีที่จะสอนให้แต่ขอให้บวชก่อน ครั้งปิลินทวัจฉะบวชแล้ว ก็ได้ศึกษาจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ปกติท่านมักเรียกภิกษุด้วยกันหรือคฤหัสถ์ทั้งหลายว่า "วสละ.” (วสละ เป็นคำหยาบแปลว่า คนถ่อย) ทำให้ครั้งหนึ่งเพื่อนภิกษุได้ทูลฟ้องต่อพระพุทธเจ้าๆจึงได้ตรัสเล่าถึงบุพกรรมของพระปิลินทวัจฉะว่าท่านกล่าวคำนี้ด้วยความเคยชิน เพราะในอดีตย้อนหลังไปถึง ๕๐๐ ชาติท่านเคยเป็นพราหมณ์และกล่าวอย่างนี้มาโดยตลอด จึงกลายเป็นอุปนิสัยที่ติดตัวมา ไม่ได้พูดด้วยความโกรธเคืองหรือเจตนาไม่ดี พระปิลินทวัจฉะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความสามารถในการแสดงธรรมแก่เทพยดาทั้งหลาย ทั้งนี้ เพราะชาติหนึ่งท่านเคยเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ผู้ทรงธรรมสอนพสกนิกรให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรม ครั้นตายแล้ว พสกนิกรเหล่านี้ได้บังเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ส่วนท่านเมื่อเกิดใหม่ในชาตินี้และได้บรรลุอรหันตผล เหล่าเทวดาที่เคยรู้จักท่านมาก่อน จึงมารับฟังธรรมจากท่านด้วยความคุ้นเคยและรักใคร่ ท่านจึงได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้านเป็นที่รักใคร่ของเทพยดา

พระมหาเขมาเถรี ภิกษุณีผู้เป็นเอตทัคคะในทางมีปัญญา ตามประวัติทรงเกิดในตระกูลกษัตริย์เป็นอัครมเหสีของพระเจ้าพิมพิสารแห่งเมืองราชคฤห์ เป็นสตรีที่มีรูปงามมาก จึงหลงรูปสมบัติของตนเอง เมื่อครั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงรับเป็นอัครอุปัฏฐากของพระบรมศาสดา ก็ทรงดำริว่าพระอัครมเหสีไม่เคยไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์เลย จึงคิดหาอุบายให้ผู้ขับร้องพรรณาความงามของวัดเวฬุวัน จนทำให้พระนางอยากไปเห็น เมื่อได้เข้าเฝ้า พระพุทธองค์ทรงล่วงรู้ถึงความคิดของพระนาง จึงทำให้พระนางได้เห็นภาพนิมิตซึ่งแสดงถึงความไม่เที่ยงของสังขาร และยังได้แสดงธรรมเทศนาเรื่องราคะ และการกำจัดราคะ จนพระเขมาเถรีบรรลุอรหันตผลขณะประทับยืนอยู่ที่ตรงนั้น ต่อมาจึงได้ขอบวชเป็นภิกษุณี และได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เป็นเลิศในทางมีปัญญามาก กล่าวคือ เป็นผู้มีปฏิสัมภิทา ๔ คือ ปัญญาแตกฉานในอรรถ ปัญญาแตกฉานในหลักธรรม ปัญญาแตกฉานในภาษา และปัญญาแตกฉานในปฏิภาณไหวพริบ นอกจากนี้ ท่านยังได้รับการยกย่องว่าเป็นอัครสาวิกาฝ่ายขวาของพระองค์อีกด้วย (อัครสาวิกาฝ่ายซ้ายคือ พระอุบลวรรณเถรี)

ชีวกโกมารภัจจ์ อุบาสกผู้เป็นเอตทัคคะในด้านเป็นที่รักของปวงชน เป็นผู้เชี่ยวชาญในการรักษาและมีชื่อเสียงมากในครั้งพุทธกาล เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าพิมพิสาร และต่อมาได้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าด้วย ตามประวัติ ท่านเกิดที่เมืองราชคฤห์ เป็นบุตรของนางคณิกาชื่อ สาลวดี แต่ไม่รู้จักบิดามารดาของตน เนื่องด้วยเมื่อนางสาวดีมีครรภ์ เกรงว่าค่าตัวจะตก จึงแอบคลอดแล้วให้คนรับใช้นำทารกไปทิ้งขยะ เช้าวันรุ่งขึ้นเจ้าชายอภัย โอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าพิมพิสารเสด็จผ่านไปพบเข้า เห็นการุมล้อมทารกอยู่ จึงให้คนไปดูและถามว่า ยังมีชีวิตหรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่า ยังมีชีวิตอยู่ (ชีวติ=ยังเป็นอยู่) จึงโปรดให้นำไปเลี้ยงในวัง ให้ชื่อทารกนั้นว่า ชีวก (ผู้ยังเป็น) และเพราะถูกเจ้าชายนำมาเลี้ยง เลยได้สร้อยนามว่า โกมารภัจจ์ (ผู้อันพระราชกุมารเลี้ยง) ชีวกเมื่อเจริญวัยขึ้น และทราบว่าตนเป็นเด็กกำพร้า จึงได้ออกเดินทางไปศึกษาวิชาแพทย์กับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ที่เมืองตักศิลา เพื่อเป็นวิชาไว้เลี้ยงตนเอง ศึกษาอยู่ ๗ ปีก็สำเร็จ จึงเดินทางกลับนครราชคฤห์ ระหว่างทางได้รักษาโรคปวดหัวให้เมียเศรษฐีจนหาย ได้เงินรางวัลมามากมาย ต่อมายังได้รักษาริดสีดวงให้พระเจ้าพิมพิสารที่เป็นมาหลายปีจนหายประชวร จึงได้รับแต่งตั้งเป็นหมอประจำพระองค์ จากนั้นยังได้รักษาโรคสำคัญๆหลายครั้ง เช่น ผ่าตัดโรคในสมอง ผ่าตัดเนื้องอกในลำไส้ รักษาโรคผอมเหลืองให้แก่พระเจ้าจัณฑปัชโชตแห่งกรุงอุเชนี เป็นต้น เมื่อครั้นหมอชีวกได้เป็นแพทย์ประจำของพระพุทธเจ้า ท่านก็ได้ช่วยดูแลรักษาคณะสงฆ์ไปด้วย ท่านเป็นผู้เสียสละและมีคุณูปการต่อพระสงฆ์และประชาชนในการรักษาโรคเป็นอย่างมาก จึงได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเลิศในด้านเป็นที่รักของปวงชน และปัจจุบันยังได้รับยกย่องว่าเป็น "บรมครูแห่งแพทย์แผนโบราณ”

นกุลมารดาคหปัตานิ อุบาสิกาผู้เป็นเอตทัคคะด้านความคุ้นเคยในพระพุทธเจ้า ตามประวัติ นกุลมารดา เกิดในตระกูลเศรษฐี นครสุงสุมารคิริ แคว้นภัคคระ ได้แต่งงานกับบิดาคฤหบดี จนมีบุตรตั้งชื่อว่า "นกุล” คนเลยเรียกสองสามีภริยานี้ว่า นกุลบิดาและนกุลมารดา สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงนครแห่งนี้ นกุลเศรษฐีพร้อมภริยาก็ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทันทีที่ทั้งสองได้แลเห็นพระพุทธองค์ก็มีความรักประหนึ่งว่าทรงเป็นบุตรในอุทรของตน จึงได้หมอบลงแทบพระยุคคลบาทและกราบทูลว่า "ลูกเอ๋ย เจ้าทิ้งพ่อแม่ไปสิ้นกาลช้านาน บัดนี้เจ้าไปอยู่ ณ ที่ใดมา?” จากคำพูดและกิริยาที่แสดงออกนี้ ทำให้พุทธบริษัททั้งหลายที่อยู่ ณ ที่นั้นเกิดความสนเท่ห์และไม่พอใจ หาว่าสองคนผัวเมียตู่ว่าพระพุทธเจ้าเป็นลูกของตน ทั้งๆที่ใครๆก็รู้ว่าพระองค์มาจากศากยสกุล แต่พระบรมศาสดาก็มิได้ตรัสห้ามหรือประณามเศรษฐีสองสามีภริยาแต่ประการใด จนทั้งสองเริ่มมีสติแล้ว จึงได้แสดงธรรมและยกเรื่องอดีตชาติมาประกาศให้ทราบว่า "ในอดีตชาติ เศรษฐีสองสามีภริยานี้ เคยเป็นบิดามารดาของตถาคต ๕๐๐ ชาติ เคยเป็นปู่เป็นย่า ๕๐๐ ชาติ เคยเป็นลุงเป็นป้า ๕๐๐ ชาติ เคยเป็นอาเป็นน้า ๕๐๐ ชาติ ดังนั้น เพราะความรักความผูกพันที่ติดตามมาตลอดช้านานนี้ พอได้เห็นตถาคตจึงสุดที่จะอดกลั้นความรักนั้นได้” กล่าวได้ว่าพระบรมศาสดาเจริญเติบโตในมือของทั้งสองมานานหลายภพชาติ ด้วยเหตุนี้ ทั้งสองจึงสามารถใช้คำพูดที่ฟังสนิทสนมเช่นนั้นได้ พระองค์จึงยกย่องทั้งสองให้เป็น อุบาสก และอุบาสิกาที่เป็นเลิศในทางคุ้นเคยกับพระพุทธเจ้า
................................................
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม