
ความเชื่อวิถีชีวิตของผู้คนต่างเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย ปัจจุบันคนไทยมีชีวิตผูกติดอยู่ในโลกดิจิทัลแบบไม่รู้ตัว อาทิ การใช้อินเตอร์เน็ต ซื้อขายของออนไลน์ อีคอมเมิร์ช การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ สั่งอาหารผ่านไลน์แมน ใช้บริการแท็กซี่ผ่าน Gab Taxi เป็นต้น ถึงแม้โลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ยังคงมีความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีหรือพิธีกรรมบางอย่างที่ยังคงมีการสืบทอดมากันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นั้นคือการสืบชะตา การสืบชะตา หมายถึงการต่ออายุเป็นพิธีกรรมที่กระทำตามความเชื่อว่า ถ้าทำแล้วอาการป่วย หรือเคราะห์ร้ายจะบรรเทาลง และจะมีสุขภาพดีขึ้น มีความสุข ความเจริญยิ่งขึ้น
ประเพณีสืบชะตาเป็นพิธีใหญ่ที่ต้องอาศัยคนและเครื่องประกอบพิธีจำนวนมากพิธีหนึ่ง ชาวบ้านอาจทำพิธีนี้โดยเฉพาะหรือจัดร่วมกับพิธีอื่นๆ ก็ได้ และอาจจัดขึ้นเพื่อสืบชะตาให้แก่คนทั้งฆราวาสหรือภิกษุ หรือหมู่บ้าน เมือง แม้กระทั่งยุ้งข้าวหรือเหมืองฝายก็ได้ แต่ต้องจัดขึ้นเพื่อสืบชะตาสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพียงอย่างเดียว การสืบชะตา แต่ละสิ่งอาจมีพิธีกรรมที่แตกต่างกันออกไปบ้าง ซึ่งประเพณีการสืบชะตาแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานกันระหว่างความเชื่อในศาสนาพุทธ ฮินดู หรือพราหมณ์ และเรื่องผีสางเทวดา ประเพณีสืบชะตาไม่เพียงปรากฏแพร่หลายในภาคเหนือของไทยเท่านั้น แต่ยังพบได้ในสังคมของคนไทยใหญ่ ยอง และเขิน บริเวณรัฐฉานของพม่า รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ละว้าในตอนเหนือของไทยด้วย โดยการสืบชะตาไม่ได้ทำเฉพาะกับคนเพียงอย่างเดียว เชื่อว่าเมื่อคนเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งใดสิ่งนั้นจะต้องมีการสืบชะตาต่อเนื่องกันไปด้วย ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น ๔ ประเภท คือ
๑. การสืบชะตาเมือง มีหลักฐานปรากฏมีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน กษัตริย์ล้านนาในราชวงศ์ มังราย เชื่อกันว่าการสร้างบ้านแปงเมืองจะต้องมีดวงชะตาเมือง มีจุดศูนย์กลางของเมือง จะต้องหาฤกษ์หายาม ดังนั้นเมื่อบ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขก็มักจะทำพิธีสืบชะตาเมืองเพราะบ้านเมืองนั้นจะต้องมีเทพเจ้าที่ปกปักรักษาคุ้มครอง เช่น พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระหลักเมือง การสืบชะตาเมืองจึงเป็นพิธีที่แสดงออกซึ่งความเคารพกตัญญูต่อผู้พิทักษ์รักษาบ้านเมืองให้อยู่รอดปลอดภัย ในทางกลับกันหากมีเหตุการณ์ผิดปกติในบ้านเมือง เป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ ก็มักจัดให้มีการสืบชะตาเมืองด้วยเช่นกัน
๒. การสืบชะตาบ้าน มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้จะขับไล่สิ่งที่เป็นเสนียดจัญไรในหมู่บ้าน และเพื่อให้เกิดมงคลแก่หมู่บ้านนั้นๆ ในปีหนึ่งมักจะจัดให้การสืบชะตาบ้านหนึ่งครั้ง และมักจะทำก่อนเข้าพรรษา บางแห่งก็ทำในวันปากปี และทำกันที่ "หอเสื้อบ้าน” โดยชาวบ้านจะมาช่วยกันเตรียมสถานที่ มีการประดับฉัตร ธง ต้นกล้วย ต้นอ้อย ด้ายสายสิญจน์ ปักธงทิวต่างๆ และทำที่บูชาสังเวยท้าวทั้งสี่และเทพยดาอารักษ์ พระเสื้อบ้าน พระเสื้อเมือง
๓. การสืบชะตาคน มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ โดยการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ กุฏิใหม่ หรือทำบุญอายุครบรอบปี มักนิยมจัดให้มีพิธีสืบชะตาเพื่อความเป็นสิริมงคล มักจะทำพิธีกันที่บ้านหรือห้องโถงซึ่งเป็นสถานที่กว้างขวางพอที่จะต้อนรับแขกที่มาร่วมงาน บางแห่งนิยมจัดที่วัด ส่วนพระภิกษุจะทำพิธีในวิหารโดยจัดพิธีสืบชะตาเหมือนกันกับสืบชะตาคนธรรมดา
๔. การสืบชะตาพืชผล การสืบชะตาพืชไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายมากนัก ส่วนใหญ่การจัดให้มีการสืบชะตาพืชผลก็เพื่อให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ และเพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่เรือกสวนไร่นาของผู้ที่ทำการสืบชะตา โดยจะจัดให้มีการสืบชะตาพืชเมื่อเรือกสวนไร่นาแห้งแล้งไม่อุดมสมบูรณ์ โดยมีเครื่องบูชาเหมือนกับเครื่องบูชาในการสืบชะตาบุคคล
....................................................
ที่มา: www.sac.or.th