กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
ตำนานความเชื่อ...ประเพณีสืบชะตา

วันที่ 19 พ.ย. 2562
 

     ประเพณีสืบชะตา หรือสืบชาตา เป็นประเพณีท้องถิ่นภาคเหนือ ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่ชาวล้านนานิยมทำในโอกาสต่างๆ เพื่อต่อดวงชะตาหรือต่ออายุให้ยืนยาว มุ่งหวังมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีความเจริญรุ่งเรือง และเพื่อความเป็นสิริมงคล พิธีสืบชะตาเป็นพิธีใหญ่ที่ต้องอาศัยคนและเครื่องประกอบพิธีจำนวนมากพิธีหนึ่ง ชาวบ้านอาจทำพิธีนี้โดยเฉพาะหรือจัดร่วมกับพิธีอื่นๆ ก็ได้ และอาจจัดขึ้นเพื่อสืบชะตาให้แก่คน ทั้งฆราวาสหรือภิกษุ หรือหมู่บ้าน เมือง แม้กระทั่งยุ้งข้าวหรือเหมืองฝายก็ได้ แต่ต้องจัดขึ้นเพื่อสืบชะตาสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพียงอย่างเดียว การสืบชะตาแต่ละสิ่งอาจมีพิธีกรรมที่แตกต่างกันออกไปบ้าง ซึ่งประเพณีการสืบชะตาแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานกันระหว่างความเชื่อในศาสนาพุทธ ฮินดู หรือพราหมณ์ และเรื่องผีสางเทวดา ประเพณีสืบชะตาไม่เพียงปรากฏแพร่หลายในภาคเหนือของไทยเท่านั้น แต่ยังพบได้ในสังคมของคนไทยใหญ่ ยอง และเขิน บริเวณรัฐฉานของพม่า รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ละว้าในตอนเหนือของไทยด้วย
 
     หลักฐานที่มาของความเชื่อเรื่องการสืบชะตา ปรากฏในคัมภีร์สืบชะตาที่กล่าวถึง พระสารีบุตรเถระอัครสาวกของพระพุทธเจ้า และมีสามเณรองค์หนึ่งชื่อ ติสสะ อายุ ๗ ปี มาบวชเรียนกับท่านเป็นเวลาหนึ่งปี วันหนึ่งพระสารีบุตรสังเกตเห็นลักษณะของสามเณรว่าจะมีอายุได้อีกเพียง ๗ วันเท่านั้น ตามตำราหมอดูและตำราดูลักษณะ ท่านจึงเรียกสามเณรมาบอกความจริงและให้กลับไปลาพ่อแม่และญาติ สามเณรเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างมากและเดินทางกลับบ้านด้วยหน้าที่หม่นหมอง ระหว่างทางได้พบปลาน้อยใหญ่ในสระน้ำที่กำลังแห้งเขิน และได้โปรดสัตว์คือปลาน้อยใหญ่เหล่านั้นให้พ้นจากความตาย โดยสามเณรได้ช้อนปลาทั้งหมดไปไว้ในบาตรของตนเองแล้วนำไปปล่อยที่แม่น้ำใหญ่ และระหว่างทางพบเก้งถูกแร้วของนายพราน สามเณรก็ปล่อยเก้งอีก เมื่อเดินทางมาถึงบ้านก็ได้บอกพ่อกับแม่ว่าเรื่องที่ตนเองจะต้องตาย เมื่อทุกคนได้ฟังต่างพากันสงสารสามเณรยิ่งนักและได้แต่คอยเวลาที่สามเณรจะมรณภาพ แต่จนล่วงกำหนดไป ๗ วัน สามเณรก็ยังไม่ตาย และกลับมามีผิวพรรณสดใสยิ่งขึ้น ญาติๆ จึงได้พาสามเณรกลับไปหาพระสารีบุตร ซึ่งท่านประหลาดใจยิ่งนักถึงกลับจะเผาตำราทิ้ง สามเณรจึงกราบเรียนเรื่องการโปรดสัตว์ทั้งปลาและเก้ง การกระทำเพื่อยืดชีวิตสัตว์เหล่านั้นจึงเป็นบุญกรรมที่เป็นพลังให้พ้นจากความตายได้ จากตำนานนี้เองทำให้คนล้านนาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันนิยมสืบชะตาเพื่อต่ออายุให้ยืนยาว
 
.......................................
 
อ้างอิงข้อมูลจาก : www.sac.or.th
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)