กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
๔ ความเชื่อ “ธงจระเข้” ในประเพณีทอดกฐิน

วันที่ 22 ต.ค. 2562
 

     หลังจากวันออกพรรษา ก็ย่างเข้าเทศกาลทอดกฐินของเราชาวพุทธ ซึ่งหนึ่งปีมีโอกาสทำบุญใหญ่นี้ได้เพียงครั้งเดียว ตามที่พระวินัยกำหนดไว้ คือ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เท่านั้น ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาใคร่จะทอดกฐิน ก็ให้ทอดได้ในระยะเวลานี้
 
     เมื่อกล่าวถึง "ธงกฐิน” ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๔ ลักษณะ ได้แก่ ธงจระเข้ ธงนางมัจฉา ธงตะขาบ และ ธงเต่า ถ้าทุกท่านสังเกตก็จะเห็นว่าทุกวัดที่รับทอดกฐินจะมีธงกฐินติดอยู่ในบริเวณวัดที่รับกฐิน เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงให้ทราบว่าที่วัดนี้ได้จองกฐินหรือทอดกฐินแล้ว แล้วความเชื่อของธงจระเข้ในประเพณีทอดกฐินล่ะ มีที่มาหรือความเชื่อเกี่ยวกับอะไร ธงจระเข้ เป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวประมาณ ๒ ศอก กว้าง ๑ ศอก ปลายทั้ง ๒ ข้างเย็บเป็นซองขวางผืนธง เพื่อสอดไม้ท่อนกลมโตขนาดนิ้วก้อยยาวกว่าความกว้างของผืนธงออกมาข้างละ ๑ นิ้ว สำหรับผูกแขวนธงตอนบนข้างหนึ่ง กับใช้ถ่วงชายธงตอนล่างอีกข้างหนึ่ง ในผืนธงเขียนเป็นรูปจระเข้ตามยาวของผืนผ้า เอาหัวไว้ข้างบน หางเหยียดไปทางปลายธง ปากคาบดอกบัว ๓ ดอก สำหรับธงจระเข้ที่ยกขึ้นในวัดที่ทอดกฐินแล้วยังไม่ปรากฎหลักฐานชัดเจนและข้อวิจารณ์อันสมบูรณ์โดยไม่ต้องสงสัย มีเพียงข้อสันนิฐานอยู่ ๔ มิติ คือ
 
     ๑. สมัยโบราณ นิยมแห่ผ้ากฐินไปทอดตามวัดต่าง ๆ โดยอาศัยเรือเป็นสำคัญ การเดินทางไปตามลำน้ำมักมีอันตรายจากสัตว์น้ำต่าง ๆ เนือง ๆ เช่น จระเข้ขึ้นมาหนุนเรือให้ล่ม ขบกัดผู้คนบ้าง คนแต่ก่อนหวั่นเกรงภัยเช่นนี้ จึงคิดอุบายทำธงจระเข้ปักหน้าเรือไปเป็นทำนองประกาศให้สัตว์ร้ายในน้ำ เช่น จระเข้ ซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่และดุร้ายกว่าสัตว์อื่น ๆ ในน้ำ ให้รับทราบการบุญการกุศล จะได้พลอยอนุโมทนาและมีจิตใจอ่อนลง ไม่คิดที่จะทำอันตรายแก่ผู้คนในขบวนซึ่งเดินทางไปประกอบพิธีการทางศาสนา
 
     ๒. ในสมัยโบราณการจะเดินทางต้องอาศัยดาวช่วยประกอบ เหมือนเช่นการยกทัพเคลื่อนขบวนในตอนจวนจะสว่าง จะต้องอาศัยดาวจระเข้นี้ เพราะดาวจระเข้ขึ้นในตอนจวนจะสว่าง ส่วนการทอดกฐินบางทีต้องไปทอด ณ วัดซึ่งอยู่ไกลบ้าน ฉะนั้น การดูเวลาจึงต้องอาศัยดาว พอดาวจระเข้ขึ้นก็เคลื่อนองค์กฐินไปสว่างเอาที่วัดพอดี และต่อมาก็คงมีผู้คิดทำธงในงานกฐิน ในชั้นต้นก็คงทำธงทิวประดับประดาเพื่อความสวยงามทั้งที่องค์กฐิน ทั้งที่บริเวณวัด และภายหลังคงหวังจะให้เป็นเครื่องหมายเนื่องด้วยการกฐิน ดังนั้น จึงคิดทำธงรูปจระเข้ขึ้นเสมือนประกาศให้รู้ว่าทอดกฐินแล้ว
 
     ๓. นิทานโบราณเล่ากันว่า ในการแห่กฐินในทางเรือของอุบาสกผู้หนึ่ง มีจระเข้ตัวหนึ่งอยากได้บุญจึงอุตส่าห์ว่ายตามเรือไปด้วย แต่ยังไม่ทันถึงวัดก็หมดกำลัง ว่ายตามต่อไปอีกไม่ไหว จึงร้องบอกอุบาสกว่า เหนื่อยนักแล้ว ไม่สามารถจะว่ายตามไปร่วมกองการกุศล วานท่านเมตตาช่วยเขียนรูปข้าพเจ้า เพื่อเป็นสักขีพยานว่าได้ไปร่วมการกุศลด้วยเถิด อุบาสกผู้นั้นจึงได้เขียนรูปจระเข้ยกเป็นธงขึ้นในวัดเป็นปฐม และสืบเนื่องมาจนบัดนี้
 
     ๔. มีเรื่องเล่าเก่าแก่ตั้งแต่โบราณ เรื่องปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ในอดีตกาลท่านกล่าวถึงเศรษฐีคนที่มีเงิน ขี้ตระหนี่ มัจฉริยะ ความตระหนี่ ตอนที่มีชีวิตอยู่หาแต่เงิน เก็บแต่เงินไว้ ไม่ไปทำบุญให้ทาน ไม่ตักบาตร ไม่ถวายสร้างกุฏิ วิหาร ไม่ถวายสร้างโบสถ์ ไม่ถวายสร้างสะพาน ไม่ช่วยทำทางเข้าวัด เหล่านี้เป็นต้น คนขี้ตระหนี่ไม่ทำบุญ เมื่อไม่ทำบุญ สมัยก่อนเขาเอาเงินใส่ไหใส่ตุ่มไปฝังไว้ที่ริมฝั่งน้ำ ทีนี้เมื่อตายไป ก็ด้วยความห่วงสมบัติ เมื่อห่วงสมบัติก็ตายไปเป็นจระเข้เฝ้าสมบัติอยู่แถวนั้นบ้าง ทีนี้นานเข้าก็เลยมาเข้าฝันญาติบอกว่า เงินอยู่ตรงนั้นให้ไปขุดเอาแล้วนำเงินไปทอดกฐินให้หน่อย ทำบุญอะไรก็ได้ ทอดกฐินก็ได้ ผ้าป่าก็ได้ ญาตินั้นก็รู้ ก็ไปเอาเงินนั้นไปทอดกฐิน ทีนี้เมื่อทอดกฐินสมัยก่อนเขาก็นั่งเรือ จระเข้ตัวนั้นก็ว่ายตามเรือไป ตามกองกฐินเขาไป เมื่อทอดกฐินเสร็จ เขาก็อุทิศส่วนกุศลให้บอกว่า นายนี้ที่ล่วงลับไป บัดนี้เอาเงินมาทอดกฐินถวายพระแล้ว ตอนนั้นจระเข้ก็จะโผล่หัวขึ้นมาเหมือนอย่างในฟาร์ม พอทอดกฐินจบ พระอนุโมทนาให้พรจบ จระเข้นั้นก็มุดน้ำหายไปเลย ทุกวันนี้ก็เลยมีธรรมเนียมอันนั้นขึ้นมา จระเข้คาบดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ในการทอดกฐิน ตะขาบนี้ก็เหมือนกัน เมื่อตายไปก็ไปเป็นตะขาบ ไปเฝ้าสมบัติเหมือนกัน
 
................................................
 
ที่มา www.norkaew.net

ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)