ปัจจุบัน หากเอ่ยชื่อ หม่ำ จ๊กมก, เท่ง เถิดเทิง, โก๊ะตี๋ อารามบอย, ค่อม ชวนชื่น ,โรเบิร์ต สายควัน เราจะคุ้นชื่อและรู้ว่าคนเหล่านี้คือดาราตลกชั้นนำของไทย แต่ถ้าถามว่าเคยได้ยินดาวตลกที่ชื่อว่า เท่ง, หนูนุ้ย, ขวัญเมือง, ยอดทอง และสะหม้อบ้างหรือไม่ คนภาคอื่นอาจจะงงๆ แต่สำหรับคนปักษ์ใต้ส่วนใหญ่น่าจะฟัง คุ้นหูกันบ้าง เพราะชื่อที่ว่านี้ คือ ดาราตลกหนังควาย หรือ ตัวตลกในหนังตะลุง ซึ่งเป็นการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ที่เคยเป็นที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายมาในอดีต แม้ยุคนี้จะหาดูได้ยากสักหน่อย เพราะคนหันไปดูความบันเทิงชนิดอื่นแล้วก็ตาม แต่หากที่ไหนยังมี"หนังตะลุง” แสดงอยู่ ตัวตลกเหล่านี้ก็ยังจะปรากฏโฉมเป็นตัวชูโรงที่ขาดมิได้ และบางครั้งยังเป็นที่รอคอยมากกว่าตัวพระ-ตัวนางเสียอีก
การที่เราเรียกดาราตลกหนังควาย ก็เพราะว่ารูปหรือตัวหนังตะลุงมักจะทำมาจากหนังควาย ซึ่งตัวตลกดังกล่าวส่วนใหญ่จะจำลองมาจากชีวิตจริงของชาวบ้าน คนชายขอบ หรือคนที่ด้อยกว่าคนอื่น แม้จะมีบางตัวบางรูปที่นายหนังสร้างมาจากจินตนาการ แต่ก็มักมีแรงบันดาลใจมาจากรูปต้นแบบอื่นๆ รูปทุกตัวก่อนจะนำไปเล่นจะถูกเบิกปาก เบิกตา สวมใส่จิตวิญญาณ ด้วยเหตุนี้บางตัวจึงโลดแล่นอยู่บนหน้าจอได้นานนับร้อยปี
ตัวตลกหนังตะลุง เป็นตัวละครที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะมันคือ เสน่ห์ หรือสีสัน ที่นายหนังจะสร้างความประทับใจให้กับคนดู ด้วยว่าเมื่อการแสดงจบลง สิ่งที่ผู้ชมมักจำและเก็บไปเล่าต่อก็คือบทตลกนั่นเอง ดังนั้น หากนายหนังคนใดสามารถทำให้ตัวตลกมีชีวิตชีวา มีความโดดเด่น จนผู้ชมจดจำ และเล่าขานต่อไปได้ ก็ถือนายหนังนั้นๆประสบความสำเร็จในอาชีพอย่างแท้จริง
การแสดงโดยทั่วไป บทเด่นมักจะอยู่ที่พระเอก นางเอก แต่สำหรับหนังตะลุงแล้ว ตัวละครที่อยู่ในความทรงจำของผู้ชมได้นานที่สุดคือ ตัวตลก ทั้งนี้เพราะ ตัวตลกทุกตัวจะเป็นคนท้องถิ่น พูดภาษาปักษ์ใต้ จึงมีความใกล้ชิดผูกพันกับคนดูมากกว่าตัวละครอื่น อีกทั้งตัวตลกแต่ละตัวมักจะมีบุคลิกเฉพาะ ซึ่งนายหนังสามารถอวดฝีปากการพากย์ของตนได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะบทตลกเป็นบทที่สามารถยกประเด็นอะไรขึ้นมาพูดก็ได้ ไม่ทำให้เสียเรื่อง ไม่ว่าจะยกปัญหาสังคม ข้อคิดเตือนใจ หรือเหตุการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน ฯลฯ มาสอดแทรกหรือล้อเลียนผู้ชมให้สนุกสนานก็ทำได้ทุกเมื่อ ซึ่งมุกตลกเหล่านี้จะแสดงให้เห็นถึงปฏิภาณไหวพริบของนายหนัง แต่ละคนด้วย และอีกเหตุผลที่ทำให้คนดูจดจำตัวตลกหนังตะลุงได้ก็เพราะว่า ตัวตลกเหล่านี้จะเป็นตัว "ยืน” คือ ตัวหนึ่งเล่นได้หลายเรื่อง โดยใช้ชื่อเดิม บุคลิกเดิม ที่สำคัญ ตัวตลกส่วนใหญ่เป็นสาธารณะสมบัติที่นายหนังทุกคณะสามารถหยิบตัวใดตัวหนึ่งไปเล่นก็ได้ เราจึงเห็น ไอ้เท่ง หนูนุ้ย ไอ้ยอดทอง ฯลฯ ปรากฏอยู่ในหนังตะลุงเกือบทุกเรื่องของเกือบทุกคณะ

ในเอกสาร "ยอดดาราตลกหนังตะลุง” ของ อ.กลิ่น คงเหมือนเพชร ได้กล่าวถึงรูปดาราตลกในหนังตะลุงว่า บางทีก็เรียกกันว่า "รูปกาก” เป็นชนชั้นชาวบ้าน แม้จะมีศักดิ์ฐานะต่ำ แต่มีนัยสำคัญที่รูปเหล่านี้มักจะแสดงเป็นเสนา ทหาร ข้าราชการ หรือที่ปรึกษาประจำตัวเจ้านาย ซึ่งมีบทบาทในการใช้ประสบการณ์ต่างๆมาช่วยแก้ปัญหาให้เจ้านาย แต่โดยทั่วไปคือ เป็นผู้สร้างความหรรษาให้ผู้ชม ทำให้คนอยากติดตามเรื่องต่อไปจนจบ
รูปตลกจะแบ่งเป็น ๒ พวก คือ ๑.รูปตลกชั้นนำ หรือดารายอดนิยม คือ เป็นตัวที่ใช้กันแพร่หลายทุกคณะ เช่น เท่ง หนูนุ้ย แก้ว ทอง ขวัญเมือง เป็นต้น ๒.ตลกชั้นรอง เช่น โถ พูน พูนแก้ว ดิก สะหม้อ ปราย เป็นต้น ซึ่งทั้งสองพวกนี้ ยังอาจมีรูปสำคัญเฉพาะถิ่นหรือเฉพาะตัวนายหนังบางคนที่คิดค้นขึ้นมาเอง เช่น รูปเณรพอน ของนายหนังแถวภูเก็ต พังงา หรือเป็นรูปศักดิ์สิทธิ์ที่นายหนังบางคนสร้างขึ้นเป็นพิเศษด้วยกรรมวิธีต่างๆ เช่น รูปไอ้เอียดของหนังนกแก้ว ชุมพร รูปไอ้แก้วของหนังกรายเฒ่า กระบี่ เป็นต้น ซึ่งรูปดังกล่าวบางรูปนายหนังก็ใช้หนังสัตว์ที่ต่างออกไปจากปกติทำขึ้น เช่นทำด้วยหนังหมี หรือบางรูปก็ประจุด้วยคาถาอาคม ทำให้รูปเหล่านี้เสมือนมีจิตวิญญาณ และนายหนังเชื่อว่าจะช่วยป้องกันโพยภัย ป้องกันการกระทำทางไสยศาสตร์ และยังบันดาลความสำเร็จให้ด้วย รูปเหล่านี้นายหนังมักจะดูแลไว้เป็นอย่างดี เก็บไว้ต่างหากไม่ปะปนกับรูปอื่น ถือว่าเป็นรูปครูเก็บไว้บนหิ้ง มักส่งมอบเป็นมรดกตกทอดไปยังลูกหลานหรือลูกศิษย์คนสำคัญ
หลังจากได้ทราบเรื่องราวทั่วไปของตัวตลกหนังตะลุงบ้างแล้ว คราวนี้จะขอแนะนำ "ดาราตลกหนังควาย” ที่มีชื่อเสียงประเภทอมตะนิรันดร์กาลมาให้ท่านได้รู้จักสัก ๓ ตัว ดังนี้
"ไอ้เท่ง” ดารายอดนิยมตลอดกาล เป็นตัวตลกที่หนังตะลุงทุกคณะมักมีไว้ประจำโรง ตามประวัติไอ้เท่งนี้ จำลองมาจากบุคคลจริงที่ชื่อว่า "ตาเท่ง” อยู่บ้านคูขุด อ.สทิงพระ จ.สงขลา มีอาชีพทำหวาก (น้ำตาลเมา) และรุนกุ้งฝอยริมทะเลสาบให้เมียขาย โดยหนังจ้วนคูขุดเป็นผู้ตัดรูปไอ้เท่งใช้เป็นคนแรก ลักษณะของไอ้เท่งจะผอมบาง สูงโย่ง มีผมหยิกเป็นปอยอยู่ตรงท้ายทอย หัวเถิก จมูกโต ชาวบ้านเรียก "หน้านกเงียก (นกเงือก) นิ้วชี้และหัวแม่มือซ้ายจะงอหงิกเป็นวงเข้าหากัน ส่วนนิ้วชี้มือขวาจะทู่โต เนื่องจากเคยเป็นคุดทะราด ไม่สวมเสื้อ นุ่งผ้าตาหมากรุก เหน็บไอ้ครก (มีดเหน็บ มีดปาดตาล) นิสัยเป็นคนตลกคะนอง มุทะลุไม่กลัวคน ชอบล้อเลียนเพื่อน พูดแบบขวานผ่าซาก บางครั้งยังมีนิสัยชอบขู่เพื่อน แต่ผู้ชมจะฟังออกในแนวขำขัน นายหนังที่ทำให้ไอ้เท่ง กลายเป็นตลกเด่นดัง จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายคือ หนังคล้าย คนอำเภอจะนะ จ.สงขลา และหนังอิ่ม จิตต์ภักดี (ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ปีพ.ศ.๒๕๔๐) ที่แสดงจนได้รับสมญาว่า "หนังอิ่มเท่ง” ซึ่งก็เป็นคนควนเนียง จ.สงขลาเช่นกัน
"ไอ้เมือง” หรือ "ขวัญเมือง” พิธีกรประจำคณะหนังตะลุง เป็นรูปตัวตลกตัวหนึ่งที่เก่าแก่มาก ไม่ทราบความเป็นมาว่านายหนังคณะใดคิดขึ้นก่อน รูปลักษณ์ของไอ้เมืองค่อนข้างผอมบาง เตี้ย ผิวดำ หัวเถิก ผมหยิก จมูกยาว ปากกว้าง พุงโย้ ก้นเชิด นิ้วชี้ขวาทู่เพราะเป็นคุดทะราด ไม่สวมเสื้อ นุ่งผ้าท่อนเดียวสีดำ บางคณะก็เป็นผ้าลายล่องลงมา คาดพุงด้วยผ้า สมัยหลังทำเป็นเข็มขัดก็มี นิสัยโดยปกติทั่วไปของไอ้เมือง เป็นคนเยือกเย็น สุขุม ซื่อสัตย์ เอางานเอาการพูดจาค่อนข้างจะหนักแน่น เสียงดังพอควร เป็นตัวตลกที่มักทำหน้าที่เป็นตัวบอกเรื่องว่าคืนนั้นๆจะมีแสดงอะไร หรือบางครั้งก็แสดงเป็นตัวอำมาตย์ประจำเมืองสำคัญๆ หรือเป็นทูตสื่อสารระหว่างเมือง หรือโฆษณาข่าวสารสำคัญภายในเมือง
"ไอ้ทอง” หรือ "ยอดทอง” กรุ้มกริ่ม เจ้าชู้ รู้เจรจา บ้านาย เป็นตัวตลกที่มักมาคู่กับไอ้แก้วหรือสีแก้ว เป็นตัวตลกอีกตัวที่เล่ากันว่าจำลองมาจากคนจริง ไม่ทราบแน่ชัดว่าคณะใดตัดรูปไอ้ทองขึ้นก่อน ตามประวัติยังมีขัดแย้งกัน บ้างก็ว่าเป็นคนชาวนครศรีธรรมราช บ้างก็ว่าเป็นคนพัทลุง บ้างก็ว่าเป็นคนสงขลา แต่ไม่ว่าจะเป็นคนที่ไหน แต่นิสัยที่ปรากฏจะไม่ต่างกันคือ เป็นคนชอบแต่งตัว ขี้โม้ คุยโว โอหัง แต่จริงๆขี้ขลาด เจ้าชู้ชอบอยู่ใกล้ผู้หญิงเจ้านายสวยๆ จนเกิดสำนวนเรียกกันว่า "ยอดทองบ้านาย” และบ้ายอด้วย กับผู้หญิงจะรับใช้เต็มที่ ในทำนองกรุ้มกริ่มกะลิ้มกะเหลี่ย บางครั้งก็เป็นคนโผงผาง แต่ไม่สู้คน รูปลักษณ์เป็นคนอ้วนเตี้ย ก้นงอน พุงยื่น หลังค่อม ผิวดำบางคณะไอ้ทองจะทาหน้าสีแดง ผมหยิกงอ ไม่สวมเสื้อ นุ่งโจงกระเบนลายตาหมากรุก บางคณะก็เป็นผ้าลายไทยเหน็บฝักกริช ส่วนตัวกริชถือในมือ เท้าเปลือย นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวตลกหนังตะลุง ซึ่งจริงๆแล้วมีมากถึงเกือบร้อยตัว อย่างไรก็ดี ดาราตลกหนังควายเหล่านี้จะยังอยู่ได้อีกนานแค่ไหน ก็คงขึ้นอยู่กับอนุชนคนรุ่นหลังแล้วล่ะว่า จะเก็บเสียงหัวเราะจากตลกแบบนี้ให้คงดำรงอยู่ด้วยการช่วยอนุรักษ์ พัฒนา "หนังตะลุง” ให้ก้าวไกลต่อไป หรือจะทิ้งให้เป็นมรดกที่ค่อยๆเสื่อมหายไปกับกาลเวลา เหลือเพียงตำนานรอยยิ้มเมื่อกล่าวถึงอดีตเท่านั้น
...............................................
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม