กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> เล่าสู่กันฟัง
เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “ตำนานคนคู่กับเรื่องน่ารู้ของมิถุนายน”

วันที่ 1 มิ.ย. 2563
 

     "มิถุนายน” เป็นเดือนที่ ๖ ของปีตามปฏิทินสากล และเป็น ๑ ใน ๔ เดือนที่มี ๓๐ วัน ใช้ตัวย่อว่า "มิ.ย.” ถ้านับแบบทั่วไปเดือนมิถุนายนจะเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ จนถึงวันที่ ๓๐ แต่ตามหลักโหราศาสตร์เดือนมิถุนายนจะเริ่มต้นเมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมถุน และสิ้นสุดเมื่อยกเข้าสู่ราศีกรกฏ ส่วนในทางดาราศาสตร์ต้นเดือนมิถุนายนดวงอาทิตย์ยังอยู่ในกลุ่มดาววัว และปลายเดือนไปอยู่กลุ่มดาวคนคู่
 
     ดังนั้น ผู้ที่เกิดเดือนมิถุนายน หากจะดูดวงตามราศีบางคนก็จะอยู่ราศีพฤษภ บางคนก็ตกราศีเมถุน และบางคนก็อยู่ราศีกรกฎขึ้นอยู่กับว่าเกิดในวันใด ตามปกติราศีเมถุนจะนับ ๒ แบบ คือ แบบโหราศาสตร์ตะวันออกจะนับระหว่างวันที่ ๑๕ มิ.ย.-๑๔ ก.ค. (เรียกว่าแบบนิรายะ) ถ้าแบบโหราศาสตร์ตะวันตกก็จะอยู่ระหว่างวันที่ ๒๑ พ.ค.-๒๑ มิ.ย. (เรียกว่าแบบสายนะ) ส่วนใครที่เกิดต้นเดือนมิถุนายนก็ยังอยู่ราศีพฤษภ
 
     คำว่า "มิถุนายน” มาจากคำว่า มิถุน+อายน แปลว่า การมาถึงของราศีมิถุน (ชายหญิงคู่) ซึ่งเป็นชื่อที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทะวงศ์วโรปการ ทรงเป็นผู้ตั้งขึ้นโดยใช้ตำราจักรราศี นำคำขึ้นต้นราศีของดาวที่ปรากฏในช่วงนั้นมาสนธิกับคำว่า อาคม หรือ อายน ที่แปลว่า การมาถึง โดยเดือนที่มี ๓๐ วันจะลงท้ายด้วย "ยน” ส่วนเดือนที่มี ๓๑ วันจะลงท้ายด้วย "คม”
 
     สำนักงานบัณฑิตยสภาเขียนไว้ว่า "เมถุน” ในภาษาไทยมี ๒ คำ คำหนึ่งหมายถึง การมีเพศสัมพันธ์ ใช้เฉพาะกับพระภิกษุ มาจากภาษาบาลี เมถุน (อ่านว่า เม-ถุ-นะ) ซึ่งแปลเหมือนกัน ส่วนอีกคำเป็นชี่อราศีลำดับ ๓ ในจักรราศี ที่เรียกว่า ราศีเมถุน อันมาจากภาษาสันสกฤตว่า มิถุน (อ่านว่า มิ-ถุ-นะ) แปลว่า คู่ ฝาแฝด เป็นชื่อกลุ่มดาวที่ประกอบด้วยดาวที่เรียงกันเป็นรูปคล้ายเด็กหนุ่มฝาแฝดหันหน้าเข้าหากัน คนไทยเรียก "ดาวคนคู่” ดังนั้น เมถุนสองคำนี้เป็นคนละคำกัน เนื่องจากมีที่มาและความหมายต่างกัน
 
     "June” หรือตัวย่อว่า "Jun” เป็นชื่อภาษาอังกฤษของเดือนมิถุนายน มาจากคำว่า "จูโน” (Juno) หรือ "Hera” เทพธิดาแห่งบ่าวสาวหรือการแต่งงาน คนจึงนิยมแต่งงานในเดือนนี้เพราะถือว่าชีวิตคู่จะโชคดี
 
     ตามตำนานราศีเมถุน หรือราศีคนคู่นี้ เป็นเรื่องของคาสเตอร์ กับ พอลลักซ์ ซึ่งเป็นฝาแฝดกัน แต่เป็นแฝดแบบไข่คนละใบ เนื่องจากเทพซีอุสไปหลงรักนางเรดา มเหสีของพระราชาไทนดาริอุส จึงลอบวางแผนจนได้เสียกับนาง ต่อมานางได้คลอดลูกเป็นแฝดชายหญิงอย่างละคู่ คู่แรกคือคาสเตอร์กับคลิเทมเนสตร้า ว่ากันว่าเป็นลูกของพระราชาไทนดาริอุสซึ่งเป็นมนุษย์ ส่วนแฝดคู่หลังคือ พอลลักซ์และเฮเลน (คนเดียวกับเฮเลนแห่งทรอยในเรื่องม้าไม้) เป็นลูกของซีอุส ทั้งคาสเตอร์และพอลลักซ์ต่างรักกันมาก และมีความสามารถไปกันคนละอย่าง มักไปสู้รบด้วยกันเสมอ ต่อมาทั้งคู่เกิดไปวิวาทกับคนอื่น ทำให้คาสเตอร์ต้องตาย แต่พอลลักซ์ไม่ตายเพราะเป็นลูกเทพเขาจึงเศร้าเสียใจมาก ดังนั้น พอลลักซ์จึงไปขอร้องเหล่าเทพขอแบ่งความเป็นอมตะของตนให้แก่คาสเตอร์ หลังจากนั้นทั้งสองจึงต้องไปอยู่ในแดนสวรรค์และแดนแห่งความตายสลับไปมา ภายหลังซีอุสเห็นแก่ความรักและมิตรภาพของทั้งสองจึงบันดาลให้ทั้งคู่ไปเกิดในกลุ่มดาวราศีเมถุน
 
     สำหรับดาราและคนดังที่เกิดเดือนนี้ได้แก่ แอนเจลีน่า โจลี ดาราฮอลลีวู้ด (๔ มิ.ย.), ภราดร ศรีชาพันธ์ นักกอล์ฟ (๑๔ มิ.ย.), ลิโอเนล เมสซี่ นักฟุตบอลชาวอาร์เจนติน่า (๒๔ มิ.ย.), นิชคุณ หรเวชคุณ ดารานักร้อง (๒๔ มิ.ย.), ชาคริต แย้มนาม ดาราพิธีกร (๒๕ มิ.ย.), และสมบัติ เมทะนี นักแสดง-ศิลปินแห่งชาติ (๒๖ มิ.ย.)
 
     วันสำคัญเดือนนี้ ได้แก่ ๓ มิ.ย.วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี, ๕ มิ.ย. วันสิ่งแวดล้อมโลก , ๘ มิ.ย. วันมหาสมุทรโลก และวันเพื่อนสนิทสากล, ๙ มิ.ย. วันอานันทมหิดล (วันคล้ายวันสวรรคตของรัชกาลที่ ๘) ,๑๔ มิ.ย.วันผู้บริจาคโลหิตโลก ๒๑ มิ.ย.วันครีษมายันหรืออุตตรายัน ๒๔ มิ.ย. วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง, ๒๖ มิ.ย. วันสุนทรภู่และวันต่อต้านยาเสพติดโลก
 
     วันสำคัญข้างต้นได้นำมาทั้งวันสำคัญของไทยและสากล ซึ่งคงมีหลายวันที่หลายคนอ่านแล้วคงสงสัยว่ามาได้อย่างไร จึงขอยกมาเล่าเป็นบางวันที่น่าสนใจโดยสังเขป ดังนี้
 
     -วันมหาสมุทรโลกหรือวันทะเลโลก (World Oceans Day) ตรงกับวันที่ ๘ มิถุนายนของทุกปี เป็นวันที่สหประชาชาติได้กำหนดและเริ่มขึ้นเมื่อปีพ.ศ.๒๕๕๒ ตามแนวคิดของประเทศแคนาดา ในการประชุมความร่วมมือของกลุ่มประชาคมโลกที่เมืองริโอเดอจาโร ประเทศบราซิลตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและกระตุ้นให้คนทั้งโลกหันมาใส่ใจและร่วมกันอนุรักษ์ท้องทะเล และจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับทะเล
 
     -นอกจากนี้วันที่ ๘ มิถุนายน ยังถือเป็นวันเพื่อนสนิทสากล (Best Friend Day) ซึ่งไม่ปรากฏแน่ชัดว่ากำเนิดมาได้อย่างไร หรือใครเป็นผู้ริเริ่ม เพียงแต่ในวันนี้ของแต่ละปี จะมีคนจำนวนนับล้านที่ถือเป็นโอกาสพิเศษในการสื่อความรู้สึกจากใจไปยังเพื่อนสนิทของตนในรูปแบบต่างๆ เพื่อแสดงถึงความรัก ความซาบซึ้ง ความจริงใจฯลฯ ที่เพื่อนมีต่อเพื่อน
 
     -วันผู้บริจาคโลหิตโลก (World Blood Donor Day) ตรงกับวันที่ ๑๔ มิถุนายนของทุกปี วันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของดร.คาร์ล ลันด์สไตเนอร์ (Karl Landsteiner) นายแพทย์ชาวออสเตรีย-อเมริกัน ผู้ประสบความสำเร็จในการจำแนกหมู่เลือด A, B และ O ซึ่งถือเป็นการค้นพบที่มีความสำคัญยิ่งต่องานบริการโลหิตทั่วโลก ท่านได้รับรางวัลโนเบล สาขาแพทยศาสตร์ในปี ค.ศ.๑๙๓๐ นอกจากนี้ท่านยังพบว่าการถ่ายเลือดให้กับคนที่มีเลือดหมู่เดียวกันจะไม่ทำให้เซลล์เม็ดเลือดถูกทำลาย ซึ่งการค้นพบเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการต่อยอดในวงการแพทย์มาจนปัจจุบันและช่วยชีวิตมนุษย์ได้อย่างมากมาย ดังนั้นองค์การอนามัยโลก สหพันธ์สภากาชาด และสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ จึงได้ขอความร่วมมือให้สภากาชาดทั่วโลกจัดกิจกรรมเพื่อขอบคุณผู้บริจาคโลหิตในวันนี้ โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. ๒๐๐๔ เป็นต้นมา
 
     -วันครีษมายัน (ครีด-สะ-มา-ยัน แปลว่า จุดสุดทางเหนือ) หมายถึง วันที่พระอาทิตย์โคจรไปจนถึงจุดหยุดหรือจุดสถิตสุดทางเหนือ (Solstice) ส่งผลให้วันนี้เป็นวันที่กลางวันยาวกว่ากลางคืนนานที่สุดในรอบปี มักจะตรงกับวันที่ ๒๑ มิถุนานยของทุกปี แต่บางปีก็อาจมีคลาดเคลื่อนไปบ้าง บางทีก็เรียกว่า "อุตตรายัน” ซึ่งมีความหมายเดียวกัน นอกจากนี้ ในปีนี้วันดังกล่าวยังเป็นวันที่เกิดสุริยุปราคาแบบวงแหวนด้วย
 
 .......................................................
 
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)