
อังกะลุง มีต้นกำเนิดจากชวา เรียกว่า อุงคลุง หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นผู้นำอุงคลุงเข้ามาในเมืองไทยครั้งแรก เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๕๑ เมื่อครั้งที่โดยเสด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงพันธุวงศ์วรเดช ขณะเสด็จพระราชดำเนินประพาสเกาะชวา
เครื่องดนตรีไม้ไผ่ชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่ม Shaken bamboo idiophone มีแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณกลุ่มเกาะต่างๆ ของประเทศอินโดนีเซีย ทั้งเกาะชวา บาหลี มาดูรา สุมาตรา โดยเฉพาะเกาะชวานั้นมีเล่นกันอยู่หลายพื้นที่ และที่ นิยมมากที่สุดคือเขตซุนดาหรือชวาตะวันตก
อุงคลุงชวาถูกใช้เป็นเครื่องดนตรีประกอบในการเข้าทรง พิธีกรรมเกี่ยวกับวงจรชีวิต เกิด-ตาย บรรเลงเพลงประกอบงานบุญประเพณีฮัจญ์ (Hajat feast) และที่สําคัญมากในถิ่นซุนดาอีกอย่างก็คือ งานบุญฉลองแม่โพสพ (Nyi Pohaci Sanghyang Sri หรือเรียกย่อ ๆ ว่า Dewi Sri)
ด้วยความเชื่อกันว่าอุงคลุงนั้นเป็นเสียงที่สื่อความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ เป็นเสียงที่เติมเต็ม ความเข้มแข็งของชีวิตในวิถีเกษตร มีพลังในการเชื่อมโยงโลกของข้าว กับไม้ไผ่ ซึ่งถือเป็นพืชตระกูลเดียวกัน และเป็นเสียงดนตรีที่สร้างความสมานฉันท์ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติได้ดีที่สุด
อังกะลุงชวาที่นำเข้ามาในไทยครั้งแรกเป็นอังกะลุงชนิดคู่ ไม้ไผ่ ๓ กระบอก มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก ยกเขย่าไม่ได้ ต้องใช้วิธีการบรรเลงแบบชวา (อินโดนีเซีย) คือมือหนึ่งถือไว้ อีกมือหนึ่งไกวให้เกิดเสียง อังกะลุงที่นำเข้ามาในยุคนั้นมี ๕ เสียง ตามระบบเสียงดนตรีของชวา ตัวเครื่องดนตรีทำด้วยไม้ไผ่ทั้งหมดทั้งตัวอังกะลุงและราง ภายหลังได้มีการพัฒนาโดยขยายจำนวนไม้ไผ่เป็น ๓ กระบอก และลดขนาดให้เล็กและเบาลงเพิ่มเสียงจนครบ ๗ เสียง ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เชื่อกันว่า มีการพัฒนาการบรรเลงจากการไกวเป็นการเขย่าแทน นับว่าเป็นต้นแบบของการบรรเลงอังกะลุงในปัจจุบัน หลวงประดิษฐ์ไพเราะได้นำวงอังกะลุงจากวังบูรพาภิรมย์ไปแสดงครั้งแรกในงานทอดกฐินหลวงที่วัดราชาธิวาสในสมัยรัชกาลที่ ๖
โดยทั่วไปเครื่องหนึ่งจะมีเสียงเดียว การเล่นอังกะลุงให้เป็นเพลงจึงต้องใช้อังกะลุงหลายเครื่อง โดยมักจะให้นักดนตรีถืออังกะลุงคนละ ๑-๒ เครื่อง เมื่อต้องการโน้ตเสียงใด นักดนตรีประจำเสียงนั้นก็จะเขย่าอังกะลุง การเล่นอังกะลุงจึงต้องอาศัยความพร้อมเพรียงเป็นอย่างมาก นอกจากอังกะลุงเครื่องละหนึ่งเสียงแล้ว ยังมีการผลิตอังกะลุงที่มีเครื่องหนึ่งมากกว่า ๑ เสียงด้วย เรียกว่า อังกะลุงราว