กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> อาเซียน
ดอกไม้ แทนจิตบูชา

วันที่ 27 พ.ค. 2563
 

 
     หลายประเทศในทวีปเอเชีย ผู้คนต่างมีศาสนา ความเชื่อ และพิธีกรรมในลักษณะต่าง ๆ หากแต่มีการแสดงออกถึงการเคารพบูชาที่เหมือนกัน นั่นคือการถวายดอกไม้ อย่างเช่นในประเทศอินเดีย ศรีลังกา ญี่ปุ่น จีน และเกือบทุกประเทศในอาเซียน ต่างใช้ดอกไม้ที่มีความหอม และความสวยงาม เป็นวัตถุบูชา
 
     ในพระพุทธศาสนา มีคติเกี่ยวกับดอกไม้ปรากฎอยู่ในพระสูตรต่างๆ โดยยกย่องให้ดอกไม้นานาพรรณเป็นของสูงควรค่าแก่การนำมาบูชาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้นดอกไม้จึงอยู่ในฐานะวัตถุบูชาทางพระพุทธศาสนา ตามคติความเชื่อของคนไทยมาตั้งแต่โบราณ แม้ก่อนยุคที่พุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ฮินดูจะเข้ามามีอิทธิพลในสังคม วัฒนธรรมการใช้ดอกไม้เป็นเครื่องสักการะเซ่นสรวงวิญญาณหรือพลังอำนาจเหนือธรรมชาติต่างๆ ก็ดำรงอยู่มาก่อนแล้ว
 
     ในพระพุทธประวัติและพระสูตรต่างๆ ในพระไตรปิฎก ได้กล่าวถึงพันธุ์ดอกไม้ที่ค่าควรแก่การนำมาถวายบูชา ได้แก่ ดอกบัว ถือเป็นดอกไม้สำคัญเป็นอันดับแรก ปรากฏอยู่ในคติและพระสูตรต่างๆ มากมาย อาทิ คำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงแบ่งจำพวกของคนออกเป็นบัว ๔ เหล่า เป็นการเปรียบเทียบพระสัตย์ธรรมของพระพุทธเจ้ากับดอกบัว
 
     ดอกมะลิ เป็นดอกไม้อีกชนิดที่ปรากฎอยู่ในพระพุทธประวัติ อาทิเรื่องของนายสุมนมาลาการ ผู้ดูแลสวนดอกไม้ของพระเจ้าพิมพิสาร พระราชาแห่งนครราชคฤห์ ซึ่งทรงปวารณาตัวเป็นพุทธมามกะคนแรก นายสุมนมาลาการมีหน้าที่เก็บดอกมะลิในพระราชอุทธยานส่งขึ้นถวายพระเจ้าพิมพิสารเป็นประจำทุกวัน
 
     แต่วันหนึ่งบังเอิญเห็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จบิณฑบาทผ่านมา ก็มีปิติศรัทธานำดอกมะลินั้นไปถวายเป็นพุทธบูชา แทนที่พระเจ้าพิมพิสารจะทรงกริ้วกลับอนุโมทนาและพระราชทานบำเหน็จความชอบแก่นายสุมนมาลาการผู้นี้ ดอกมะลิที่มีสีขาวและมีความหอมจึงกลายเป็นดอกไม้อีกชนิดสำหรับใช้ในพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา
 
     ในวัฒนธรรมไทยสามารถนำดอกมะลิมาใช้บูชาพระได้หลายรูปแบบ ปักแจกันใส่พานตั้งบูชา หรือนำมาร้อยเป็นพวงมาลัย ทั้งมาลัยกลม มาลัยซีก และมาลัยตุ้ม ในพระราชพิธีของราชสำนักพบว่ามีการใช้ดอกมะลิเป็นสัญลักษณ์ในการพระราชกุศลมาฆบูชา ในพระราชพิธีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะทรงประทับบนธรรมาสน์เทศน์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และทรงโปรยดอกมะลิจำนวน ๑,๒๕๐ ดอก เป็นการบูชาพระอรหัตถ์ตามจำนวนที่กล่าวถึงในตำนานวันมาฆบูชา
 
     นอกจากดอกบัวและดอกมะลิแล้ว ดอกไม้หอมสีขาวที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับมะลิ เช่น ดอกพุทธ ดอกเขี้ยวกระแต ดอกราตรี ดอกโมก ดอกแก้ว รวมถึงดอกไม้หอมชนิดอื่นๆ อย่างเช่นดอกกุหลาบที่มีสีสันสวยงาม หรือดอกดาวเรืองที่ชื่อมีความดี ในวัฒนธรรมไทยก็นิยมนำมาใช้เป็นเครื่องบูชาได้เช่นกัน
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)