
คำว่า "ยักษ์” ถ้านำไปขยายความกับปริมาณหรือลักษณะ มักจะให้ความหมายค่อนข้างไปทางบวก เพราะทำให้นึกถึงจำนวนหรือขนาดที่ใหญ่โตขึ้น โดยเฉพาะของกินของใช้ หากเป็นไซด์ยักษ์ จะให้ความรู้สึกว่าได้กำไร หรือได้มากกว่าปกติ เช่น บะหมี่ซองยักษ์ น้ำขวดยักษ์ หรือถ้าเป็นพืช สัตว์ สิ่งของก็มักจะทำให้ผู้พบเห็นรู้สึกทึ่งหรือแปลกใจ เช่น กล้วยไม้ยักษ์ กุ้งยักษ์ หรือระฆังยักษ์ เป็นต้น
แต่โดยทั่วไปแล้ว เมื่อขึ้นชื่อว่า "ยักษ์” ส่วนใหญ่มักจะมีภาพลักษณ์ว่าเป็นพวกที่มีหน้าตาน่าเกลียด น่ากลัว นิสัยใจคอเลวร้าย โหดเหี้ยม แถมยังเจ้าชู้อีกต่างหาก จึงเป็นที่รังเกียจหรือหวาดหวั่นของผู้คน ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะในหนัง ละคร หรือวรรณกรรมมักสร้างให้ยักษ์เป็นพวกผู้ร้าย เป็นฝ่ายอธรรมอยู่เสมอ แม้แต่ในพจนานุกรมฯก็ได้ให้ความหมายของ "ยักษ์” ว่า เป็นพวกอมนุษย์พวกหนึ่ง ถือกันว่ามีรูปร่างร่างใหญ่โตน่ากลัว มีเขี้ยวงอก ใจดำอำมหิต ชอบกินมนุษย์ กินสัตว์ โดยมากมีฤทธิ์เหาะได้ จำแลงตัวได้ มักใช้ปะปนกันว่ากับคำว่าอสูรและรากษส (ราก-สด) นอกจากนี้ เรายังมักเรียกพวกที่มีพฤติกรรมหรือจิตใจไม่ดีรวมๆกันว่าพวกใจยักษ์ ยิ่งทำให้คนเกิดภาพลบต่อยักษ์ยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี หากเราไปอ่านวรรณกรรมหรือนิทานพื้นหลายเรื่อง และมองให้ลึกซึ้งในอีกแง่มุมหนึ่ง เราก็จะเห็นว่า ยักษ์บางตนก็น่าสงสาร บางตนมีรักไม่สมหวัง ยังต้องถูกทำโทษหรือถูกสาป แต่ก็มีอีกหลายตนที่มีหัวใจรักอย่างน่ายกย่อง ดังที่จะเล่าต่อไปนี้
-ทศกัณฑ์ เดิมเป็นยักษ์ชื่อ นนทก มีหน้าที่ล้างเท้าเทวดานางฟ้าอยู่เชิงเขาไกรลาส ทุกครั้งที่เทวดานางฟ้ามาเฝ้าพระอิศวรผู้เป็นใหญ่ก็มักจะแกล้งลูบหัว ดึงผมถอนผมเล่น จนในที่สุดนนทกก็หัวโกร๋น เกิดความคับแค้นใจยิ่งนัก จนต่อมานนทกได้พรมีนิ้วเพชรจึงมาชี้เทวดานางฟ้าที่แกล้งตนจนตายเรียบ ร้อนถึงพระนารายณ์ต้องมาปราบ และนนทกได้ไปเกิดเป็นทศกัณฑ์ พระนารายณ์อวตารไปเป็นพระรามดังปรากฎในเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งหากอ่านดูแต่ต้น จะเห็นว่านนทกเป็นยักษ์ที่น่าสงสารไม่น้อย เป็นใครก็คงอดเจ็บใจอยากแก้แค้นคนที่กลั่นแกล้งตัวมิได้ เพียงแต่ว่านนทกทำเกินกว่าเหตุไปหน่อย
-นนทกาล เป็นยักษ์เฝ้าประตูพระอิศวรที่ไปหลงรักเทพธิดามาลีที่เป็นสาวใช้พระอิศวร แล้วแอบเด็ดดอกไม้ปาไปใส่นางขณะนั่งร้อยพวงมาลัยเพลินอยู่ จนนางตกใจ ไปฟ้องพระอิศวรๆเลยสาปให้นนทกาลไปเกิดเป็นควายชื่อทรพา แล้วมีลูกชื่อทรพี ให้ถูกลูกฆ่าตายจึงจะพ้นคำสาปกลับมาเฝ้าประตูตามเดิม ยักษ์ตนนี้นอกจากรักเขาข้างเดียว ไม่สมปรารถนาแล้ว ยังถูกสาปให้ไปรับเคราะห์กรรมอีก ช่างอาภัพนัก
-ผีเสื้อสมุทร เป็นยักษ์ผู้หญิง ในเรื่องพระอภัยมณี ตามเนื้อเรื่องอาศัยอยู่ในถ้ำใต้ท้องทะเลลึก เป็นหัวหน้าเหล่าภูตผีปีศาจ มีรูปร่างใหญ่โตเท่าช้าง กินปลาและจระเข้เป็นอาหาร วันหนึ่งขึ้นมาเล่นน้ำ ได้ยินเสียงปี่ที่พระอภัยมณีกำลังเป่าให้สามพราหมณ์ฟัง ก็ตามเสียงไปจนพบ เกิดตกหลุมรักพระอภัยมณี พาอุ้มลงไปในถ้ำ หมายจะได้เป็นสามี จึงแปลงกายเป็นสาวงาม แต่พระอภัยมณีรู้และไม่ยอมในตอนต้น เพราะกลัวถูกกินในภายหลัง นางผีเสื้อจึงให้สัญญา แล้วทั้งสองก็อยู่กินกันจนมีโอรสองค์หนึ่งคือ สินสมุทร ต่อมาพระอภัยมณีได้ที หนีนางไปพร้อมกับนางเงือก แม้นางผีเสื้อสมุทรจะตามไปอ้อนวอนให้กลับอย่างไรก็ไม่เป็นผล ที่สุดนางก็ต้องอกแตกตายเพราะเสี่ยงปี่พระอภัยมณี เรียกได้ว่าแม้จะทุ่มเทรักให้สักเท่าไร แต่ความที่นางเป็นยักษ์ พระอภัยมณีสามีจึงหวาดระแวง และไม่รักตอบ สุดท้ายก็ทอดทิ้งนางไปอย่างไม่ไยดี
-นางพันธุรัต เป็นยักษ์ในเรื่องสังข์ทอง ตามเรื่องเมื่อพระสังข์ถูกแม่เลี้ยงจับถ่วงน้ำ พญานาคภุชงค์พบเข้า จึงส่งไปให้นางพันธุรัตยักษ์ม่ายที่เป็นเพื่อนช่วยเลี้ยง นางพันธุรัตเห็นเด็กน้อยสังข์ทองน่ารัก ก็แปลงกายเป็นมนุษย์พร้อมบริวาร เลี้ยงพระสังข์จนเติบใหญ่ ต่อมาพระสังข์เกิดกลัวเพราะแอบไปรู้ว่านางเป็นยักษ์ จึงหนีไปพร้อมกับขโมยของวิเศษคือเกือกแก้ว ไม้เท้า และรูปเงาะไปด้วย นางยักษ์พันธุรัตรู้เข้าก็ไม่โกรธ แต่ติดตามไปอ้อนวอนขอร้องให้กลับเมืองเพราะรักดั่งลูก ไม่อาจจะพรากจากลูกได้ พระสังข์ก็ไม่ยอมกลับ นางจึงร้องไห้เสียใจจนตาย ณ เชิงเขาที่ตามไปเจอ ก่อนตายด้วยความรักลูก ยังได้เขียนมนต์มหาจินดาสำหรับเรียกสัตว์จารึกไว้ให้ด้วย เป็นความรักของแม่ที่บริสุทธิ์ใจ เป็นความรักที่ยิ่งใหญ่ แม้จะเป็นแม่ที่เป็นยักษ์ก็ตาม
-พินทุมาร เป็นยักษ์จากเรื่องสิงหไกรภพ ในเรื่องพินทุมารได้เห็นพราหมณ์น้อยเทพจินดาและโอรสน้อย(ลูกพระราชาอินณุมาศและพระนางจันทร) ที่ถูกพาหนีไปอยู่ในกลางป่าเกิดถูกชะตา จึงนำไปเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรม โดยได้แปลงกายเป็นมนุษย์เพื่อมิให้โอรสน้อยหวาดกลัว และยังให้โอรสน้อยดื่มนมจากนางสิงห์ตนหนึ่งที่เป็นเพื่อนกับตน พร้อมตั้งชื่อให้ว่า สิงหไกรภพ ซึ่งการดื่มนมดังกล่าวทำให้สิงหไกรภพมีกำลังมหาศาล วันเวลาผ่านไปเมื่อสิงหไกรภพเติบโตขึ้นและได้ทราบความจริงเกี่ยวกับบิดามารดาบังเกิดเกล้าของตน จึงได้พากันออกไปตามหา ระหว่างนั้น พินทุมารได้ทราบเข้าก็เหาะตามมา จนสุดเขตยักษ์ที่พระอินทร์กำหนดไว้ ไม่อาจตามต่อไปได้ จึงอ้อนวอนขอให้ทั้งสิงหไกรภพและพราหมร์เทพจินดาลงมหา แต่ทั้งคู่ไม่ยอม จนที่สุดพินทุมารก็อกแตกตายเหมือนนางพันธุรัต นี่เป็นความรักของพ่อยักษ์ ที่ช่างน่าสงสารเช่นเดียวกัน
จากตัวอย่างข้างต้น คงจะทำให้เราได้เห็น "หัวใจรัก” ของยักษ์แต่ละตน ทำให้รู้ว่ายักษ์ ก็มิได้มีเพียงแต่ด้านลบ ก็คงเช่นเดียวกับ "คน” ที่มีทั้งด้านดีและด้านร้าย อยู่ที่ว่าเราจะแสดงออกด้านไหน เท่านั้น
.........................................
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม