เล่าสู่กันฟังเรื่อง "มรดกโลก” คืออะไร
ปัจจุบันเรามักจะได้ยินคนพูดถึง "มรดกโลก” หรือ "World Heritage” กันอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะในสถานที่ท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ แต่เชื่อว่าแม้จะเป็นที่คุ้นหูเป็นอย่างมาก แต่หลายคนอาจจะไม่ทราบความหมายของคำๆนี้ จึงอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟังอย่างง่ายๆ สักหน่อย
คำว่า "มรดกโลก” หรือ "แหล่งมรดกโลก” ก็คือพื้นที่ซึ่งอาจจะเป็น ป่าไม้ ภูเขา ทะเลสาบ สิ่งก่อสร้างต่างๆรวมไปถึงเมือง ที่ได้รับการคัดเลือกจากยูเนสโกว่าเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญ มีคุณค่าทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์หรือด้านอื่นๆ ที่มนุษย์หรือธรรมชาติได้สร้างขึ้นมา และควรได้รับการปกป้องคุ้มครองทางกฎหมายตามอนุสัญญาว่าด้วยเรื่อง "มรดกโลก” ของยูเนสโก เพราะถือว่าสถานที่เหล่านี้แม้จะเป็นทรัยพย์สินของประเทศใดที่มรดกโลกนั้นตั้งอยู่ก็ตาม แต่ก็เป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์อื่นที่จะได้ร่วมกันชื่นชมและช่วยกันอนุรักษ์สืบต่อไปยังอนุชนรุ่นหลัง
เขาบอกว่าแนวคิดเรื่องให้มี "มรดกโลก” นี้เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพราะตอนนั้นหลายๆ ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม มีความเห็นพ้องต้องกันว่า สงครามนอกจากจะทำลายชีวิตและทรัยพ์สินแล้ว ยังทำลายโบราณสถาน สถานที่สำคัญๆ ทั้งทางประวัติศาสตร์และธรรมชาติไปอย่างน่าเสียดาย และหากไม่มีการปกป้องรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ ในอนาคตคนรุ่นหลังก็จะไม่มีโอกาสเรียนรู้ หรือชื่นชมความงดงามที่คนรุ่นก่อนๆ ได้สร้างสรรค์เอาไว้ องค์การยูเนสโกจึงได้เป็นตัวตั้งตัวตีในการร่างอนุสัญญาว่าด้วยเรื่อง "มรดกโลก” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ คือ การสร้างความร่วมมือในหมู่ประเทศภาคีในการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมทั้งด้านนโยบายการบริหารเทคนิค และการเงินเพื่อสงวน คุ้มครอง และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อมวลมนุษย์ชาติให้คงอยู่ต่อไป โดยได้เริ่มประกาศขึ้นทะเบียนสถานที่ที่เป็นมรดกโลกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๕
มรดกโลกจะแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ มรดกโลกทางวัฒนธรรม และมรดกโลกทางธรรมชาติ ซึ่งในปีพ.ศ.๒๕๖๒ ที่ผ่านมา มีมรดกโลกกระจายอยู่ใน ๑๖๗ ประเทศทั่วโลก อยู่ ๑,๑๒๑ แห่ง เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ๘๖๙ แห่ง และเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ๒๑๓ แห่ง ส่วนอีก ๓๙ แห่งเป็นแบบผสมระหว่างทั้งสองประเภท ประเทศที่มีมรดกโลกมากที่สุดในปัจจุบันคือ จีนและอิตาลี คือ มีถึง ๕๕ แห่ง รองลงมาคือ สเปน (๔๘ แห่ง) เยอรมนี (๔๖ แห่ง) และฝรั่งเศส (๔๕ แห่ง)
สำหรับประเทศไทยเรามีมรดกโลกอยู่ ๕ แห่ง เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ๓ แห่งได้แก่ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ส่วนมรดกโลกทางธรรมชาติ ๒ แห่งได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
การที่จะสถานที่ใดจะเป็นมรดกโลกได้นั้น สิ่งแรกประเทศเจ้าของสถานที่นั้นๆจะต้องเป็นสมาชิกขององค์การยูเนสโก หรือชื่อเต็มๆว่า องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาติ (United Nations Education, Scientific and Cultural Organization – UNESCO) เสียก่อน จากนั้นก็ไปดูว่าสถานที่ที่เราคิดจะเสนอเป็นมรดกโลกนั้น มีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์หรือเปล่า ทั้งนี้ เขาจะมีคณะกรรมการดูแล ตรวจสอบและตัดสิน ก่อนจะประกาศออกมา ซึ่งมีรายละเอียดไม่น้อย จึงจะไม่ขอเล่า ณ ที่นี้ แต่บอกได้ว่าไม่ง่ายเลยกว่าที่ใดที่หนึ่งจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น "มรดกโลก”
เป็นมรดกโลกแล้วดีอย่างไร อย่างน้อยที่สุด ประเทศที่เป็นเจ้าของก็จะเกิดความภาคภูมิใจที่เรามีสถานที่ที่มีคุณค่าและความสำคัญระดับโลก อันมีผลต่อการตระหนักรับรู้และช่วยกันอนุรักษ์สถานที่นั้นๆไว้ให้คงอยู่ และสืบทอดต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน และที่สำคัญในปัจจุบันคือ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่จะนำรายได้มาให้ท้องถิ่น ชุมชน และประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง
นอกจาก "มรดกโลก” แล้ว ปัจจุบันยังมีคำอีกคำหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ยังจำสับกับคำว่ามรดกโลก นั่นก็คือคำว่า "มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” ซึ่งองค์การยูเนสโกเองก็มีอนุสัญญาอีกฉบับที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวเรียกว่า "อนุสัญญาว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” (Intangible Cultural Heritage -หรือเรียกย่อๆว่า ICH) เช่นกัน ทั้งมรดกโลกและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมนั้นต่างหรือเหมือนกันเช่นไร ทำไมคนจึงมักจำสับสนกัน จะได้เล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป ขอเพียงจำง่ายๆ ไว้ก่อนว่า ที่ใดเป็นมรดกโลก ที่นั้นจะไม่เคลื่อนที่ไปไหน ไม่ว่าจะเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมหรือทางธรรมชาติ หากเมื่อใดที่เคลื่อนที่หรือเคลื่อนย้าย ก็ไม่เรียกว่ามรดกโลก
ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
|