กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร นายตำรวจผู้ตงฉินและศิลปินอาชญนิยาย

วันที่ 5 ก.พ. 2563
 
เรื่อง : วรุณพร พูพงษ์
ภาพ : กองบรรณาธิการ
 
 
พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร
นายตำรวจผู้ตงฉินและศิลปินอาชญนิยาย
 
 

    เมื่อนายตำรวจผู้ตงฉินกับศิลปินอาชญนิยายคือคนคนเดียวกัน จึงก่อเกิดเป็นผลงานนวนิยายและงานเขียนมากมาย อันนำมาจากประสบการณ์จริงที่นายตำรวจท่านนั้นได้เรียนรู้ ด้วยหัวใจที่ยึดมั่นในความยุติธรรมและใจรักในงานเขียน
 
     พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร เป็นทั้งนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ตงฉิน และนักเขียนนวนิยายเกี่ยวกับวงการตำรวจและอาชญากรรมที่นำมาจากประสบการณ์จริงในชีวิตการงาน โดยใช้นามปากกา "โก้บางกอก” อันเป็นชื่อที่ใช้ในงานเขียนนวนิยายและเรื่องทั่วไป นิยายหลายเรื่องที่ท่านสร้างสรรค์ถูกนำไปสร้างภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง ชีวิตวัยเยาว์
 
     เด็กชายวสิษฐ เดชกุญชร เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ที่อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เป็นบุตรของนายคเชนทร์ และนางเกษร เดชกุญชร ทั้งสองท่านมีอาชีพเป็นครู มีน้องสาวหนึ่งคนคือ กรรณิการ์ บุญตานนท์
 
     ในวัยเด็กเขาเคยศึกษาที่โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา แล้วมาเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗ จากนั้นสำเร็จการศึกษาชั้นเตรียมอุดมศึกษาจากโรงเรียนอำนวยศิลป์พระนคร รุ่นลมหวล กระทั่งก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยโดยศึกษาต่อที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสิงห์ดำรุ่น ๑ และสำเร็จการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับที่ ๒
 
     ด้วยความใฝ่เรียนรู้และขยันหมั่นเพียรจึงได้รับทุนให้ไปศึกษาต่อปริญญาโท ด้านรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการตำรวจ ณ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังได้เข้ารับการอบรมหลักสูตรการสืบสวนจากสหรัฐอเมริกา และจบหลักสูตรวิชาการป้องกันประเทศ จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ. รุ่นที่ ๒๓)
 
      ชีวิตราชการ
     ในด้านการทำงาน พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร เริ่มรับราชการเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ ในตำแหน่งอาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจากความคิดเมื่อครั้งวัยเด็กที่เคยถูกตำรวจจับขังคุกหนึ่งคืนอย่างไร้เหตุผล พล.ต.อ. วสิษฐ จึงมุ่งมั่นที่จะเป็นตำรวจให้จงได้ จนสามารถเข้ารับราชการที่กรมตำรวจได้ดังที่ตั้งใจ และมีโอกาสได้ไปทำงานที่องค์กรสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปอ.) (Southeast Asia Treaty Organization-SEATO) ต่อมาได้สมัครเข้ารับราชการที่กรมประมวลราชการแผ่นดิน (ปัจจุบันคือ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) แล้วโอนไปรับราชการที่กองตำรวจสันติบาล กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กระทั่ง พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้ย้ายไปเป็นนายตำรวจราชสำนักประจำ ผู้บัญชาการประจำกรม จเรตำรวจ ผู้ช่วยอธิบดีและรองอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายกิจการพิเศษ
 
     เมื่อครั้งเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ พล.ต.อ. วสิษฐ ขณะนั้นมียศพันตำรวจเอก (พ.ต.อ.) ดำรงตำแหน่งนายตำรวจราชสำนักประจำ รับหน้าที่ดูแลความสงบบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อันเป็นสถานที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ รวมถึงบริเวณพระราชวังดุสิต โดยท่านเป็นผู้เจรจากับผู้ชุมนุมและเป็นผู้อัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาอ่านให้แก่ผู้ชุมนุมฟัง เวลา ๐๕.๓๐ น. ของวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ก่อนสลายตัว
 
     นอกจากนั้นท่านยังได้รับผิดชอบในกิจการงานสำคัญของประเทศชาติมาตลอดช่วงชีวิต กล่าวได้ว่าท่านคือ "ปูชียบุคคลของสังคมไทย” คือ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเป็นสมาชิกวุฒิสภา ในปี ๒๕๓๒ และปี ๒๕๓๙-๒๕๔๓ อีกทั้งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ในช่วงสั้นๆ
 
 
     ก้าวย่างสู่วงการน้ำหมึก
     หากกล่าวถึงการสร้างสรรค์ผลงานการเขียน พล.ต.อ. วสิษฐ เข้าสู่วงการนักเขียนก่อนรับราชการตำรวจเสียอีก เมื่อย้อนกลับไปในวัยเด็กท่านเติบโตมากับการอ่านนิตยสารเพลินจิตต์ และนวนิยายหลากหลายแนวของ ป.อินทรปาลิต ผู้เขียนเรื่องพล นิกร กิมหงวน ซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลาย นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของความหลงใหลในการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตัวอักษร
 
     โดยเริ่มเขียนผลงานเรื่อยมาแม้ในวันที่ท่านเกษียณอายุราชการก็ยังคงเขียนหนังสืออย่างต่อเนื่อง
     เมื่อครั้งเป็นนิสิต พล.ต.อ. วสิษฐ เริ่มมีผลงานตีพิมพ์ เช่น เรื่อง ปากกาพา (ให้เป็น) ไป ตีพิมพ์ในวารสารมหาวิทยาลัยของสโมสรนิสิตจุฬาฯ จากนั้นเขียนลงในหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ เรื่อยมา เช่น เขียนคอลัมน์นาครสนทนา ในนิตยสารชาวกรุง คู่กับประหยัด ศ.นาคะนาท กระทั่งเริ่มมีชื่อเสียงในฐานะนักเขียนหน้าใหม่ที่คมทั้งความคิด มุมมอง และสำนวนที่คมคาย
 
      ต่อมาได้เข้าร่วมกลุ่มบางกอกแห่งสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ในเครือเดียวกับชาวกรุง และเริ่มต้นใช้นามปากกา "โก้ บางกอก” และอีกหลายชื่อในหลากรูปแบบผลงาน ได้แก่ จ๋อ บางซ่อน, หัสการ (เขียนเรื่องตลกขบขัน), ตาถั่ว (เขียนวิจารณ์ภาพยนตร์), สีน้ำมัน, สีน้ำ, สีเนื้อ (เขียนคอลัมน์ซุบซิบ), ลำพัง (เขียนเรื่องสั้น) โดยท่านได้เขียนทั้งบทความและนวนิยายทั้งในชาวกรุง สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ และนิตยสารอีกหลายๆ เล่ม เช่น คุณหญิง และฟ้าเมืองไทย
 
     นายตำรวจผู้มีใจรักงานเขียน
     พล.ต.อ. วสิษฐ ใช้นามจริงและนามปากกาในการเขียนหนังสือ นวนิยาย เรื่องสั้น สารคดี และบทละคร โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับตำรวจ ซึ่งสร้างความสั่นสะเทือนแก่วงการสีกากี ท่านเริ่มเขียนนวนิยายเรื่อง สารวัตรเถื่อน เป็นเรื่องแรก ตีพิมพ์ลงในหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ โดยมีตัวละครชื่อธนุส นิราลัย เป็นพระเอก สวมรอยเป็น สารวัตรใหญ่ ตัดหน้าสารวัตรตัวจริงที่จะไปรับตำแหน่งในอำเภอวัฒนานิมิตร สถานที่สมมุติในจังหวัดชัยภูมิ เพื่อกำจัดอาชญากรรมระดับเจ้าพ่อ ซึ่งนวนิยายเรื่องนี้ได้รับความนิยมมากในยุคสมัยนั้น จนรวมเล่มและขายดีที่สุด ได้รับการ ตอบรับจากผู้อ่าน รวมถึงนวนิยายเรื่องอื่นๆ ที่ว่าด้วยพฤติการณ์ของตัวละครชื่อ ธนุส นิราลัย อาทิ แม่ลาวเลือด
 
     ผลงานอันเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางคือ นวนิยายที่นำมาจากประสบการณ์ตำรวจ เช่น นวนิยายขนาดสั้นเรื่อง จันทร์หอม เรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาผู้ก่อการร้ายในภาคอีสาน ที่มีผู้นำไปสร้างเป็นละครวิทยุและภาพยนตร์ ส่วนผลงานนวนิยายเรื่อง ล.ว. สุดท้าย ได้รับรางวัลดีเด่นในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ และนวนิยายในยุคหลัง เช่น สารวัตรเถื่อน หักลิ้นช้าง แม่ลาวเลือด เบี้ยล่าง สันติบาล สารวัตรใหญ่ ยังคงได้รับความนิยม แม้วันเวลาจะล่วงเลยนวนิยายหลายเรื่องก็มีผู้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์และตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง นอกจากนี้ท่านยังได้ชื่อว่าเป็นนักพูดที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง โดยได้รับเชิญให้ร่วมอภิปรายและโต้วาทีในโอกาสต่างๆ อยู่เสมอ
 
     เอกลักษณ์ทางวรรณศิลป์
     ชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ช่วยส่งเสริมให้ผลงานการประพันธ์แต่ละประเภทเป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่า เพราะนอกจากจะให้ความบันเทิงแล้ว ยังส่งสารถึงผู้อ่านให้เข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์และตระหนักถึงปัญหา ตลอดจนหน้าที่ความ
 
     รับผิดชอบที่แต่ละคนพึงมีต่อสังคม
     กล่าวได้ว่าเอกลักษณ์อันโดดเด่นในงานเขียนของ พล.ต.อ. วสิษฐ สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของมนุษย์และ ความสำนึกทางสังคมผ่านวรรณศิลป์อย่างมีชั้นเชิง งานประพันธ์แต่ละประเภทเป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่า สร้างความตระหนักถึงปัญหา ตลอดจนหน้าที่ของตนในสังคม
 
 
     งานวรรณกรรมของท่านเป็นนิยายที่เขียนจากประสบการณ์ในราชการตำรวจ มีตัวเอกเป็นตำรวจที่มีอุดมการณ์ และนิยายหลายเรื่องมีผู้นำไปสร้างภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์ ทำให้งานเขียนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย งานเขียนของท่านสะท้อนถึงความหยั่งรู้ในธรรมชาติและพฤติกรรมของมนุษย์ ความสำนึกทางสังคมตลอดจนอารมณ์ขันที่สอดแทรกเพื่อสร้างความบันเทิง 
 
     พล.ต.อ. วสิษฐ เป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่มีผลงานเขียนมากมาย นอกจากวรรณกรรมที่มีฉากหลังเป็นวงการตำรวจและอาชญากรรม ซึ่งท่านเคยบอกว่านำมาจากประสบการณ์จริงแล้ว ท่านยังมีผลงานเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เช่น ในหลวงรัชกาลที่ ๙ กับ ๑๔ ตุลา "เหตุเกิดในกรุงรัตนโกสินทร์” สมาธิกับการทำงาน และพระสมาธิในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นคอลัมนิสต์ และมีงานเขียนสารคดีเฉลิมพระเกียรติ รอยพระยุคลบาท: บันทึกความทรงจำของ พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร ซึ่งตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในมติชนสุดสัปดาห์ เมื่อปี ๒๕๒๔-๒๕๔๓ ก่อนรวมเล่มตีพิมพ์ ในปี ๒๕๔๔
 
     เชิดชูตำรวจตงฉิน-ศิลปินอาชญนิยาย
     ด้านชีวิตครอบครัว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร สมรสกับคุณหญิงทัศนา บุนนาค มีบุตร ๒ คน คือ สุทรรศน์ เดชกุญชร และปรีณาภา เดชกุญชร
 
     พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร นายตำรวจใหญ่ นักเขียนอาชญนิยายระดับตำนาน ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี ๒๕๔๑ ท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๑ เวลาประมาณ ๒๒.๓๕ น. ณ โรงพยาบาลตำรวจ ภายหลังเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งตับอ่อน โดยจัดให้มีการสวดพระอภิธรรมศพและพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร
 
 
ข้อมูล : วารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ ๑ ปี ๒๕๖๒
http://magazine.culture.go.th/2019/1/index.html
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)