เรื่อง/ภาพ : นันทพัฒน์ สุรสิงห์โตทอง
พ่อครู บุญศรี รัตนัง
ศิลปินแห่งชาติ สาขาการแสดง (ดนตรีพื้นบ้านล้านนา)
ศิลปะวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่เปรียบเสมือนสมุดเล่มใหญ่ที่จดบันทึกวิถีชีวิต ความรู้ ภูมิปัญญาของผู้คนในแต่ละชุมชนไว้ได้อย่างแยบยล เช่นเพลงพื้นบ้าน เพลงซอ คำเล่าขานต่างๆ ที่ถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น แม้ว่าปัจจุบันเด็กๆ ยุคใหม่เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ น้อยลง แต่ก็ยังมีพลังขับเคลื่อนของศิลปินที่มุ่งมั่นสืบสาน และต่อยอดให้ภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่าแต่โบราณไม่สูญหายไปตามกระแส
พ่อครูบุญศรี รัตนัง กล่าวไว้ว่า ซอ คือ วัฒนธรรมขับขานวิถีชีวิตชาวล้านนาจากรู่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน ซอเกิดขึ้นเมื่อไหร่ใครเริ่มคนแรก ไม่มีใครรู้ เป็นวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมา แต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกันไปเล็กน้อย เดี๋ยวนี้คนเมืองแทบไม่มีใครสนใจเรื่องคำซอกันแล้ว พ่อยังห่วงว่าจะสูญหาย
พ่อเลยขอไปสอนที่สถาบันแห่งหนึ่ง แต่ในช่วงการสอนถูกตำหนิว่าใช้เสียงดังห้องข้างๆ กำลังเรียน พ่อก็เลยคิดจะมาสอนที่บ้านตัวเอง เริ่มเก็บหอมรอมริบตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๖–๒๕๒๕ มาตั้งเป็นศูนย์เล็กๆ สอน ซึง สะล้อ ซอ และอื่นๆ ต่อมาก็พัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ในปัจจุบัน
มีการสอนขับซอแบบ ซอสายอาชีพ กับซอสายการศึกษา ซอสายอาชีพจะมีคำร้องออกแนวสองแง่สองง่าม มีนักศึกษาบางคนอยากเรียนซอ แต่ติดที่บางบทมีคำหยาบด้วย ทำให้เรามาคิดว่าถ้าเราจะมาสอนคำซอที่ล่อแหลม เด็กสมัยใหม่อาจไม่ยอมรับ เลยกลับมาเขียนคำซอสายการศึกษาที่ไม่มีคำหยาบ
พ่อสอนมาเรื่อยๆ แล้วก็ร้องเพลงซอเก็บเงินซื้อที่เพิ่มเพราะที่เดิมคับแคบ และมีคนสนใจมาเรียนมากขึ้น พ่อมาเปิดโรงเรียนเป็นทางการเมื่อปี ๒๕๕๒ มีนักศึกษาจบไปแล้วห้าร้อยกว่าคน มีค่าลงทะเบียน ๑๐๐ บาทเท่านั้น นอกนั้นฟรี จนปัจจุบันได้เป็นศิลปินแห่งชาติก็ยังสอนอยู่ หลายคนเรียนจบไปแล้วก็สืบสานต่อไป ซึ่งก็เป็นการทำตามเจตนารมย์ที่ว่าเราจะต้องสืบสานศิลปล้านนานี้ไว้ไม่ให้สูญหายไปไหน
พ่อเองอยากให้เด็กสมัยนี้มาสนใจศึกษาซอ โดยเฉพาะการซอที่เป็นเรื่องเป็นราวอย่างแบบโบราณ ไม่ใช่ร้องเป็นเพลงเป็นอะไรไปเรื่อย อย่างขึ้นบ้านใหม่หรือบวชพระ เพราะเพลงซอมีเกร็ดความรู้วิถีชีวิตที่แทรกอยู่ในเพลงซอ พ่อทำงานด้านนี้มาตลอดชีวิต เขียนเพลงไว้กว่า ๑,๔๐๐ เพลง พ่อใช้ภาษาเมืองนี่หละเป็นสื่อ
นอกจากความสามารถด้านการขับซอของพ่อครูบุญศรี ที่จับใจผู้ฟังแล้ว พ่อยังมีความสามารถเล่นเครื่องดนตรีพื้นเมืองทุกชนิดได้ตั้งแต่เด็กๆ ทำให้มีความสามารถในการทำเครื่องดนตรีเมืองได้ด้วย โดยเครื่องดนตรีส่วนมากที่ใช้บรรเลงในงานต่างๆ และในการบันทึกเสียงมักจะเป็นเครื่องดนตรีที่ทำขึ้นเองทั้งสิ้น โดยเฉพาะขลุ่ย ถ้าขลุ่ยมีระดับเสียงสูง เสียงของวงดนตรีทั้งวงก็จะเป็นเสียงสูงตามไปด้วย หรือถ้าขลุ่ยมีระดับเสียงต่ำ วงดนตรีทั้งวงก็ต้องบรรเลงในโทนเสียงที่ต่ำลงไปด้วย เนื่องจากขลุ่ยเป็นเครื่องดนตรีที่ไม่สามารถตั้งเสียงในทุกๆ ครั้งที่จะเล่นได้ ถ้าคนทำขลุ่ยทำเสียงไหนมา ก็ต้องเล่นไปตามเสียงนั้น ทำให้มีปัญหาเวลาที่จะนำไปเล่นกับวงดนตรีวงอื่นๆ พ่อจึงคิดค้นการใช้ท่อพีวีซีมาทดลองทำ โดยทำให้มีทั้งหมด ๓ ท่อน สามารถสวมและถอดออกจากกันได้ ท่อนบนและท่อนล่างจะมีความยาวประมาณ ๑–๒ นิ้ว ส่วนท่อนกลางจะเป็นท่อนยาวที่ทำการเจาะรูระดับเสียงไว้ ซึ่งวิธีการตั้งเสียงคือ ขยับท่อนบนและท่อนล่างเพื่อให้ขลุ่ยมีความสั้นยาวต่างกัน เสียงที่ได้ก็จะต่างกันตามไปด้วย

ขลุ่ยปรับระดับเสียงที่พ่อประดิษฐ์นี้ สามารถนำมาใช้ได้จริงกับการบรรเลงดนตรีทั่วไป และปัจจุบันก็ยังคิดหาวิธีที่ทำให้ขลุ่ยเปลี่ยนระดับเสียงได้โดยไม่ต้องถอดเปลี่ยนท่อที่นำมาสวมต่อกัน แต่จะใช้วิธีหมุนท่อให้รูเสียงซึ่งเจาะ ณ ตำแหน่งต่างๆ กันเปิดออกใช้งานหรือปิดไว้ตามต้องการได้ และในปี ๒๕๕๕ ยังได้ประดิษฐ์เครื่องดนตรีแนวใหม่ให้กับล้านนา นั่นก็คือ ขลุ่ยเป่าข้าง ซึ่งเป็นขลุ่ยล้านนาที่เปลี่ยนจากการเป่าด้านบน มาเป็นการเป่าด้านข้าง เพื่อท่าทางที่สวยงามมากขึ้นเวลาบรรเลง แต่ลักษณะของขลุ่ยและตัวโน้ตต่างๆ จะยังคงไว้ซึ่งรูปแบบของเครื่องดนตรีพื้นเมืองเดิม พร้อมกันนี้ได้ตั้งชื่อให้กับขลุ่ยชนิดนี้ว่า "ขลุ่ยแสนเสียง”
กว่าจะมาเป็นศิลปินเพลงพื้นบ้านล้านนา ที่มีชื่อเสียงอย่างเช่นทุกวันนี้ ในอดีตพ่อต้องสู้ชีวิต สมัยเป็นเด็กพ่อเป็นเด็กเผาถ่าน เก็บของหาของขายไปเรื่อย รายได้น้อย เรียนจบแค่ ป.๔ ตอนปี ๒๕๐๗ ที่โรงเรียนป่าเหมือดวิทยาคาร ต่อมาตอนอายุ ๑๖ ก็เจอพ่อสม บุญเรือง แกแนะนำให้มาเป่าปี่เข้าบทซอ สมัยนั้นรับจ้างปลูกนาได้วันละ ๕ บาท แต่มาเป่าปี่ได้วันละ ๒๐ บาท พ่อก็เริ่มฝึกให้เก่งจนได้วันละ ๕๐ บาท แล้วก็เริ่มฝึกเรียนซอเพราะได้รายได้เพิ่มมาเป็นวันละ ๑๐๐ บาท ตอนนั้นแม่ขายขนมครกมาตั้งแต่เรายังไม่เกิดก็เลยให้แม่พักเพราะเราเริ่มมีรายได้จุนเจือครอบครัวได้แล้ว
ปี ๒๕๑๘ มาอยู่วงดนตรีอำนวย ตอนนั้นเขาดูถูกเราว่าเสียงไม่เหมือนคนอื่นเขา ตั้งแต่นั้นมาพ่อก็เลยเริ่มฝึกแต่งเพลง ตอนนั้นพ่อแต่งเพลง "บ่าวเคิ้น” ก็ตั้งใจจะเข้าเพลงด้วยซึงสะล้อ เพื่อนก็ทัดทานว่ามันจะดังเหรอ สมัยนั้นเข้าห้องอัดเสียง ซึงก็เล่นคนเดียว สะล้อก็เล่นคนเดียว กลองก็เล่นคนเดียว ไม่มีเงินไปจ้างเขา พออัดเสียงไปแล้วลองออกขายกลับกลายเป็นเพลงที่ดังมากไปเลย พวกกรุงเทพฯ เอาไปแกะคีย์เขาบอกว่าคีย์ไม่ถูกสักคีย์ เพลงนี้มันดังได้ยังไงคอร์ดไม่ถูกสักคอร์ดเดียว เขาเอาไปพูดกันเป็นเรื่องสนุกกันไปเลยว่าเพลงเค้าดังได้ยังไง หลังจากนั้นเราก็เริ่มเป็นนักร้องสร้างตัวสร้างครอบครัวมาจนถึงทุกวันนี้
ตอนนี้พ่อก็ดีใจที่ลูกสาว (น้องอ้อม มณีรัตน์ รัตนัง) มาต่อยอดสืบทอดเจตนารมย์ของพ่อ สืบทอดศิลปะวัฒธรรมไม่ให้สูญหายไป
"เริ่มแรกช่วง ป.๔ อ้อมเริ่มเรียนซอกับคุณแม่ คุณแม่เคยเป็นช่างซออยู่ลำปาง เพราะช่วงเด็กๆ พ่อเดินทางบ่อย พอโตขึ้นก็เริ่มรับงาน และต่อมาก็สนใจแต่งเพลงเป็นเพลงซอร่วมสมัย อ้อมพยายามทำให้เพลงพื้นบ้านเป็นเพลงที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ใครๆ ก็ฟังได้ ไม่ได้ฟังยากอย่างที่คิด อีกเรื่องคือการสืบสานเรื่องภาษาคือภาษาเมือง อ้อมพยายามให้รักษาคำเมืองของเราไว้ เพราะเป็นการอนุรักษณ์ที่ง่ายที่สุด เราไม่ต้องไปซื้อหาที่ไหน”
ปัจจุบันน้องอ้อมเป็นดั่งกำลังหลักที่มุ่งมั่นสืบสานภูมิปัญญา และศิลปะวัฒนธรรมล้านนาไว้ได้อย่างน่าชื่นชม จากผลงานที่มีต่อเนื่อง และการสนับสนุนจากพ่อครู บุญศรี รัตนัง และคุณแม่มาตลอด โดยได้สร้างแนวทางของตัวเองให้ประจักษ์ชัดถึงการสืบสานที่เป็นรูปธรรม
ข้อมูล : วารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ ๑ ปี ๒๕๖๒
?xml:namespace> ?xml:namespace>?xml:namespace>?xml:namespace>?xml:namespace>?xml:namespace>?xml:namespace>?xml:namespace>?xml:namespace>?xml:namespace>?xml:namespace>?xml:namespace>?xml:namespace>?xml:namespace> ?xml:namespace> ?xml:namespace>?xml:namespace>
?xml:namespace>
?xml:namespace>
?xml:namespace>