เรื่อง : กษิด์เดช เนื่องจำนงค์
ภาพ : กษิด์เดช เนื่องจำนงค์, ทวี ศิริ
การเล่นสะบ้าบ่อน
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันชาญฉลาด
การเล่นสะบ้าเป็นการเล่นอย่างหนึ่งที่นิยมแพร่หลายมาแต่โบราณ ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด เท่าที่พบหลักฐานในจดหมายเหตุครั้งสมัยรัชกาลที่ ๑ กล่าวว่า "ตรุษสงกรานต์ตีเข้าบิณฑ์เล่นสะบ้า ชายหนุ่มร้องเล่นโพลก” ครั้นต่อมาพบหลักฐานที่กล่าวถึงการเล่นสะบ้าในนิราศที่แต่งขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า "พอสบพบปะพวกสะบ้า เสียงเฮฮาเล่นกันสนั่นวิหาร ที่ใครแพ้ต้องรำทำประจาน สนุกสานสาวหนุ่มแน่นกลุ้มดู ข้างละพวกชายหญิงยิงสะบ้า แพ้ต้องรำทำท่าน่าอดสู ล้วนสาวสาวน่าประโลมนางโฉมตรู เที่ยวเดินดูน่าเพลินเจริญใจ” จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการเล่นสะบ้าเป็นที่นิยมอย่างมาก แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าการเล่นสะบ้านั้นเป็นของคนไทยหรือคนมอญ เนื่องจากในประเทศไทยนั้นพบการเล่นสะบ้าอยู่ในหลายพื้นที่ซึ่งในแต่ละพื้นที่นั้นจะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันออกไปอย่างเห็นได้ชัด
การเล่นสะบ้าบ่อน (ว่อน–ฮะ–นิ) เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งของชาวมอญที่มีมาแต่โบราณซึ่งจัดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มักเล่นตั้งแต่วันที่ ๑๓ เมษายน เป็นต้นไป มีกำหนด ๓ วัน ๗ วัน หรือ ๑๕ วัน แล้วแต่เจ้าของบ่อน การเล่นสะบ้าบ่อนนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หนุ่มสาวชาวมอญได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกันอย่างใกล้ชิดภายใต้สายตาของผู้ใหญ่ เนื่องจากในอดีตหนุ่มสาวชาวมอญไม่มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกันเหมือนในปัจจุบัน ดังนั้นการเล่นสะบ้าบ่อนของชาวมอญจึงไม่ได้เน้นที่แพ้หรือชนะ แต่หากใช้เป็นเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบรูปร่าง หน้าตา กิริยามารยาท การสนทนา บุคลิกภาพ ตลอดจนการตรวจสอบการพิการทางร่างกายของหนุ่ม–สาวที่เล่นสะบ้า
บ่อนสะบ้า
มักจะใช้บ้านที่มีบริเวณใต้ถุนบ้านสูง หรือลานกว้างๆ ในสมัยก่อนฝ่ายหญิงจะต้องจัดเตรียมบ่อนสะบ้าโดยใช้น้ำราดและทุบดินบริเวณใต้ถุนบ้านให้เรียบ ใช้ตะลุมพุกทุบแล้วกลึงด้วยขวดน้ำให้พื้นนั้นเรียบสนิท ในปัจจุบันใช้เล่นบนพื้นปูนซีเมนต์หรือบนพื้นไม้ก็มี ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ในการตกแต่งบ่อนสะบ้า ในอดีตนั้นสาวๆ แต่ละหมู่บ้านจะมาช่วยกันประดับตกแต่งบ่อนสะบ้าด้วยวัสดุจากธรรมชาติ หาได้ง่ายในท้องถิ่น และราคาถูก เช่น ทางมะพร้าว กระดาษ หรือผ้าสีต่างๆ ติดตะเกียงหรือไฟฟ้าให้สว่างไสว จัดโต๊ะรับแขกสำหรับผู้ที่เข้ามาเที่ยวชมบ่อนสะบ้า พร้อมตั้งน้ำดื่ม กาละแมหรือข้าวเหนียวแดงไว้รับรองอีกด้วย แต่ในปัจจุบันการตกแต่งบ่อนสะบ้ามีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาจากเดิมที่เป็นวัสดุจากธรรมชาติและหาได้ง่ายในท้องถิ่น เป็นวัสดุจำพวก แผ่นไม้อัด โฟม แผ่นไวนิล เป็นต้น
ลูกสะบ้า
ในอดีตนั้นลูกสะบ้าที่นำมาใช้ในการเล่นสะบ้านั้นมาจากไม้เลื้อยชนิดหนึ่งคล้ายเถาวัลย์ ฝักมีขนาดใหญ่และภายในมีผลทรงแบนๆ ผลเป็นสีน้ำตาลแดงปนน้ำตาลไหม้ลักษณะค่อนข้างกลม เปลือกแข็งและมันเงา เหมาะที่จะนำมาใช้ในการเล่นสะบ้า แต่ในปัจจุบันผลสะบ้าค่อนข้างที่จะหาได้ยากจึงเลือกใช้วัสดุหลากหลายชนิดตามความต้องการและความสวยงาม เช่น งาช้าง กระดูกวัว กระดูกควาย เขาควาย เงิน ทองแดง ทองเหลือง หรือไม้เนื้อแข็ง เป็นต้น อีกทั้งสิ่งเหล่านี้ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงฐานะของเจ้าของบ่อนสะบ้าอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันเรามักจะพบเห็นแต่เพียงวัสดุประเภททองเหลือง และไม้เนื้อแข็งเท่านั้น ซึ่งลูกสะบ้าหรือผลสะบ้านั้นจะต้องมีลักษณะแบน มีความหนาโดยประมาณ สำหรับลูกสะบ้าสำหรับฝ่ายหญิงจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑–๒ นิ้ว และลูกสะบ้าสำหรับฝ่ายชายนั้นจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓–๕ นิ้ว หรืออาจจะมีขนาดที่ใหญ่เท่าเขียงขนาดเล็กก็เป็นได้
เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ
หนุ่มเล่นสะบ้าและสาวประจำบ่อนสะบ้าในอดีตนั้นจะแต่งกายตามประเพณีคือ ผู้หญิงจะนุ่งผ้ากรอมเท้า สวมเสื้อแขนกระบอกเอวลอย และมีผ้าคล้องคอ มักจะแต่งเป็นสีเดียวเหมือนกันหมด และเปลี่ยนชุดสีละวัน สวมสร้อยคอ ใส่ต่างหู และทัดดอกไม้ ส่วนผู้ชายนั้นจะนุ่งผ้าลอยชาย หรือนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลมลายดอก หรือลวดลายตามสมัยนิยม ผ้าพาดไหล่มักจะใช้ผ้าขาวม้าหรือผ้าสีฉูดฉาด บางคนจะปะแป้งที่หน้า หวีผมเรียบและห้อยพระเครื่องพวงใหญ่
สาวประจำบ่อน
จะมีจำนวน ๘–๑๒ คน ตามขนาดของบ่อนสะบ้า สาวประจำบ่อนสะบ้าจะเป็นหญิงสาวในหมู่บ้านนั้นๆ ซึ่งจะต้องเป็นสาวโสดที่อายุไม่เกิน ๒๕ ปี และจะมีหัวหน้าสาวหรือแม่เมืองคอยควบคุมดูแลอีกทีหนึ่ง หากบ่อนสะบ้าบ่อนไหนมีสาวงามมากก็จะมีผู้มาชมมากตามไปด้วย
หนุ่มเล่นสะบ้า
ส่วนใหญ่มักจะเป็นหนุ่มโสดต่างหมู่บ้านโดยจะรวมกันเป็นกลุ่มประมาณ ๑๐–๒๐ คน ไปเล่นสะบ้าตามบ่อนต่างๆ และหนุ่มสะบ้าที่มาเล่นนั้นจะต้องมีหัวหน้าที่เป็นผู้อาวุโส และจะต้องเชื่อฟังผู้อาวุโสที่เป็นหัวหน้ากลุ่ม เพราะในขณะที่เล่นสะบ้ากันอย่างสนุกสนาน หนุ่มบางคนอาจจะพูดจาหรือทำบางสิ่งบางอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทขึ้นมาได้ จึงเป็นหน้าที่ของหัวหน้ากลุ่มที่จะต้องว่ากล่าวตักเตือนหรือควบคุมเรื่องต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ สำหรับการแต่งกายของหนุ่มสะบ้ามักจะนุ่งลอยชายใส่เสื้อคอกลม ลวดลายตามสมัยนิยม และมีผ้าพาดไหล่ซึ่งมักจะเป็นพวกผ้าขาวม้าหรือผ้าที่มีสีสันฉูดฉาด ใส่สร้อยทองและห้อยพระเครื่องเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงฐานะของหนุ่มสะบ้าที่มาเล่นนั่นเอง
วิธีการเล่นสะบ้า
ขั้นตอนและวิธีในการเล่นสะบ้าแต่ละแห่งนั้นจะแตกต่างกันออกไป อาทิ ชุมชนมอญบางกระดี่ จะนิยมเล่นพร้อมกันทุกคู่ ซึ่งจะแตกต่างกับการเล่นสะบ้าของชุมชนมอญพระประแดงที่นิยมเล่นทีละคู่ไปเรื่อยๆ จนครบทุกคู่จึงจะเริ่มท่าใหม่ได้ โดยเริ่มแรกฝ่ายชายจะเป็นผู้เริ่มเล่นก่อนและให้ฝ่ายหญิงเป็นผู้นั่งและตั้งลูกสะบ้า และฝ่ายชายจะเป็นผู้ทอยหรือดีดลูกสะบ้าของตนให้ถูกลูกสะบ้าของฝ่ายหญิงในคู่ของตน หากทอยหรือดีดลูกสะบ้าของฝ่ายตรงข้ามไม่ล้ม หรือไม่ตรงคู่เล่นของตนก็จะมีโอกาสร้องขอและอ้อนวอนโดยนั่งพับเพียบและกล่าวเป็นภาษามอญว่า "บั๊วกะหยาดอัดมั่วล่น ปลอนระกะหยาด” แปลว่า "พี่สาวจ๋า ขอโอกาสอีกสักครั้งเถิดขอรับ” การขอโอกาสในการแก้ตัวใหม่เมื่อได้ทอยหรือดีดลูกสะบ้าผิดไปนี้เป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้มีโอกาสพูดคุยกันแต่ต้องสุภาพไม่หยาบโลน ระหว่างที่เล่นสะบ้าอยู่นั้นทั้งสองฝ่ายมักจะระวังตัว รักษามารยาท และไม่แสดงกริยาท่าทางที่ไม่สมควร เพราะมีสายตาของผู้ใหญ่ที่กำลังเฝ้ามองอยู่บนบ้านเพื่อไม่ให้หนุ่มสาวเกินเลยซึ่งกันและกัน และเมื่อสิ้นสุดการเล่นสะบ้าในแต่ละค่ำคืนนั้น ฝ่ายชายที่เป็นหัวหน้าทีมก็จะกล่าวคำอำลาฝ่ายหญิงด้วยถ้อยคำที่สุภาพอ่อนหวานเป็นภาษามอญว่า "บั๊วกะหยาดอัวเดิด หรือ โปยเดิ๊ดกะเลาะกลาระกะหยาด” แปลว่า พี่สาวจ๋า ผมขอลาไปก่อนและขออภัยหากมีการล่วงเกินนะขอรับ

ท่าประกอบการเล่น
ในแต่ละหมู่บ้านของชาวมอญนั้นจะมีการกำหนดท่าที่ใช้ประกอบการเล่นแตกต่างกันออกไป ซึ่งท่าต่างๆ ที่ใช้ในการเล่นสะบ้านั้นจะเป็นท่าที่คนโบราณได้คิดขึ้นมา ซึ่งคนรุ่นใหม่อาจจะไม่ได้สนใจและมองเป็นเพียงท่าทางธรรมดา แต่ถ้าหากพิจารณาให้รอบคอบแล้วจะพบว่าแต่ละท่าที่ใช้ในการเล่นสะบ้านั้นสามารถช่วยให้หนุ่มสาวที่เล่นสะบ้าได้พิจารณาตรวจสอบคู่ของตนเองว่ามีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร มือหรือเท้าพิการหรือไม่ เนื่องจากในขณะที่เล่นสะบ้านั้นหนุ่มสาวจะมีโอกาสได้ใกล้ชิดกัน และได้มีโอกาสในการสังเกตบุคลิกภาพของหนุ่มสาวอีกด้วย จากที่ได้กล่าวมาแสดงให้เห็นว่าท่าทางประกอบการเล่นสะบ้าที่บรรพชนชาวมอญได้คิดค้นขึ้นนั้นจึงเปรียบเสมือนเครื่องมืออย่างหนึ่งในการตรวจสอบคุณสมบัติ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของหนุ่มสาวได้เป็นอย่างดี อาทิ
ท่าขิ่นเติง หรือท่าทิ่นเติง เป็นท่าแรกของการเริ่มเล่นสะบ้า โดยผู้เล่นเอาลูกสะบ้าวางลงบนหลังเท้า ก้าวไปข้างหน้าสามก้าวแล้วทอยหรือเหวี่ยงลูกสะบ้าให้ถูกกับลูกสะบ้าที่ตั้งไว้ในคู่ของตน ท่าดังกล่าวนี้เป็นการพิจารณาบุคลิกภาพและท่าทางในการเดินว่ามีความสุภาพเรียบร้อยหรือไม่
ท่าฮะเหนิดบา ผู้เล่นวางลูกสะบ้าวางลงในเมืองแล้วใช้ปลายนิ้วเท้าวางบนผลสะบ้าถีบไปข้างหน้าสองครั้ง และครั้งที่สาม ถีบให้ถูกลูกสะบ้าที่ตั้งไว้ในคู่ของตน ท่าดังกล่าวนี้เป็นการพิจารณาว่านิ้วเท้ามีความสะอาดหรือมีความพิการหรือไม่ ท่าอีฮะม่าง ผู้เล่นเอาลูกสะบ้าแตะไว้ที่คางแล้วแหงนหน้า ทิ้งลูกสะบ้าลงให้ถูกลูกสะบ้าคู่ของตนที่ตั้งไว้ให้ล้ม ท่าดังกล่าวนี้เป็นการพิจารณารูปร่างหน้าตา ใบหู และลำคอของหนุ่มสาวได้อย่างใกล้ชิด
ท่าอีโช ผู้เล่นเอาลูกสะบ้าวางบนพื้น แล้วดีดไปโดยแรงหนึ่งครั้งแต่อย่าให้เลยเส้น อีเกนแล้วดีดอีกหนึ่งครั้งให้ถูกกับลูกสะบ้าที่ตั้งไว้ในคู่ของตน ท่าดังกล่าวนี้เป็นการพิจารณานิ้วมือทั้งสองข้างว่าครบถ้วนหรือไม่ ดูแลทำความสะอาดเล็บหรือไม่ อีกทั้งยังเป็นการดูมือฝ่ายชายว่ามือทำงานหรือไม่
ท่าอีบ๊อก ผู้เล่นเอาลูกสะบ้าใส่ระหว่างนิ้วหัวแม่เท้ากับนิ้วชี้คีบผลสะบ้าให้อยู่ เขย่งเท้าข้างที่หนีบลูกสะบ้าขึ้น แล้วเขย่งจากในเมืองพาลูกสะบ้าไปเตะลูกสะบ้าของคู่ของตนให้ล้ม แล้วเขย่งกลับเมือง ท่าดังกล่าวนี้เป็นการพิจารณาบุคลิกภาพ และการทรงตัว ตลอดจนความแม่นยำในการทอยผลสะบ้า
ขนบธรรมเนียมในการเล่น
การเล่นสะบ้าบ่อนของชาวมอญนั้นมีขนบธรรมเนียมในการเล่นที่ยึดถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างเคร่งครัด ประการที่หนึ่งคือ หนุ่มสะบ้าและสาวประจำบ่อนจะต้องไม่ถูกเนื้อต้องตัวกันเด็ดขาด แม้แต่การส่งลูกสะบ้าคืนก็จะต้องไม่ส่งผ่านมือกันจะต้องใช้วิธีการล้อลูกสะบ้าคืนเท่านั้น ประการที่สองคือ หนุ่มสาวที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกันจะไม่เล่นสะบ้าร่วมกัน ประการที่สามคือ หนุ่มสาวที่จะเล่นสะบ้าหรือคู่สะบ้าของตนเองนั้นจะต้องไม่เป็นญาติพี่น้องกัน ถ้าหากมองลงไปให้ลึกซึ้งจะเห็นได้ว่าขนบธรรมเนียมในการเล่นเป็นความชาญฉลาดของชาวมอญอย่างหนึ่งที่แอบแฝงอยู่ สาเหตุหนึ่งที่ไม่อนุญาตให้หนุ่มสาวในหมู่บ้านเดียวเล่นสะบ้าด้วยกันคือหนุ่มสาวในหมู่บ้านเดียวกันส่วนใหญ่มักเป็นญาติพี่น้องกัน ถ้าหากเกิดการแต่งงานกันอาจจะก่อให้เกิดความผิดปกติทางร่างกายอันเกิดจากพันธุกรรมนั่นเอง
ภาษา
ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างหนุ่มเล่นสะบ้ากับสาวประจำบ่อนนั้นแต่เดิมใช้ภาษามอญเป็นหลัก ในปัจจุบันผู้เล่นจะใช้ภาษาไทยเป็นหลักเนื่องจากผู้เล่นไม่สามารถพูดภาษามอญได้จึงส่งผลให้ภาษามอญที่ใช้ในการสื่อสารนั้นสูญหายไปตามกาลเวลา
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นพอที่จะสรุปได้ว่าการเล่นสะบ้าบ่อนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม อันชาญฉลาดที่บรรพชนชาวมอญได้สรรสร้างขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางในการพิจารณาเลือกคู่ครอง โดยอยู่ภายใต้สายตาของผู้ใหญ่ เนื่องจากในอดีตหนุ่มสาวชาวมอญไม่ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยเหมือนดังเช่นในปัจจุบัน ช่วงหลังการเก็บเกี่ยวเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่ทำให้หนุ่มสาวชาวมอญได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าการเล่นสะบ้าบ่อนในแต่ละช่วงเวลานั้นมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอยู่ตลอดเวลา จึงส่งผลให้องค์ความรู้บางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเล่นสะบ้าบ่อนค่อยๆ ลดน้อยถอยลงไปตามกาลเวลา และมีโอกาสเสี่ยงต่อการสูญหายได้ง่ายหากขาดการสืบทอดของคนในชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ชุมชนมอญในพื้นที่ต่างๆ จึงพยายามหาแนวทางและมาตรการต่างๆ ในการสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเหล่านี้ให้คงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความตระหนักรู้ และให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของตนมากยิ่งขึ้น ตราบใดที่มนุษย์หรือผู้ถือครองวัฒนธรรมไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเหล่านั้นแล้ว มรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเหล่านั้นก็คงจะหมดคุณค่าและความสำคัญลงไปในที่สุด