เรื่อง/ภาพ : อภินันท์ บัวหภักดี
การแสดงมหากาพย์ รามายณะ อาเซียน
วารสารวัฒนธรรม ฉบับที่แล้ว เล่าให้ฟังเรื่องการแสดงรามายณะไทย กัมพูชา และ สปป. ลาว ไปแล้ว มารอบนี้จะมาว่าต่อกันให้ครบถึงรามายณะของดินแดนอาเชียน ซึ่งมีที่ควรรู้จักไว้อีกสามกลุ่มด้วยกัน คือ การแสดงรามายณะ ของ พม่า ที่เรียกว่า ยามะซ่ะต่อ การแสดงรามายณะอินโดนีเซีย และการแสดงรามายณะสายภารตนาฏยัม ของมาเลเซียและสิงคโปร์ ถ้าอย่างนั้นแล้วไม่รอช้าเรามาเข้าเรื่องกันเลยทีเดียวครับ
ยามะซ่ะต่อ เป็นภาษาพม่า แปลว่า พระรามชาดก เป็นรามายณะฉบับพม่า มีทั้งหมดเก้าบทชื่อ "ยามะ" คือ พระราม และ "ซ่ะต่อ" คือชาดก นั้นเอง
ยามะซ่ะต่อเป็นมุขปาฐะที่สืบมาแต่รัชสมัยพระเจ้าอโนรธา กษัตริย์แห่งพุกาม มีหลักฐานที่ วัดนะเลาน์ เทวสถานที่สร้างเพื่อบูชาพระวิษณุในกำแพงเมืองพุกาม ซึ่งมีประติมากรรมหินรูปพระรามชื่อว่า "รามจันทระ" (Ramachandra) แต่มิทราบว่ามีความเกี่ยวข้องอันใดกับรามายณะฉบับวาลมีกิ แต่อย่างน้อยหนุมานก็เป็นที่รู้จักในพม่าก่อน พ.ศ. ๒๐๗๐ เพราะพบรูปพระรามประทับบนหลังหนุมาน แต่หลังจากนั้นอีก ๖ ศตวรรษก็ไม่ปรากฏรามายณะในประวัติศาสตร์พม่าอีกเลย
โนเอล เอฟ ซิงเกอร์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะที่ศึกษาเรื่องรามเกียรติ์ในราชสำนักพม่า และเขียนบทความชื่อ "รามเกียรติ์ในราชสำนักพม่า” แปลโดย อ. สุเนตร ชุตินธรานนท์ เนื้อหาส่วนหนึ่งเล่าว่า วรรณกรรมของพม่าก่อนปี พ.ศ. ๒๓๑๓ ไม่มีกล่าวถึงเรื่องรามเกียรติ์แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหมู่นักปราชญ์น่าจะพอรู้จักเรื่องรามเกียรติ์กันแล้ว เนื่องจากช่วงเวลานั้นพบการแปลงานวรรณกรรมทั้งทางโลกและทางศาสนาจากประเทศเพื่อนบ้านรอบข้างเป็นภาษาพม่าแล้ว
กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ พม่าได้กวาดต้อนผู้คนจากกรุงศรีอยุธยาไปเป็นเชลย คนเหล่านี้มีทั้งเจ้านาย ช่างฝีมือ นักแสดง และนักดนตรีรวมอยู่ด้วย หลังจากนั้นเป็นต้นมา รามายณะพม่าจึงได้รับอิทธิพลจากรามเกียรติ์ของกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างสูง ผ่านเหล่าเชลยสงสงครามเหล่านี้ เหล่าเชลยได้ก่อตั้งคณะละครที่ยังแต่งกายตามประเพณี และการร่ายรำแบบอยุธยาดั้งเดิม เกิดโขนรามเกียรติ์ภาษาพม่าในราชสำนักอังวะจนได้รับความนิยม
ผู้เขียนบทความอธิบายว่า ผู้แสดงเป็นขุนนางตกยากจากสยามที่แต่งกายตามประเพณีและรำด้วยจังหวะเก่าแก่ของกรุงศรีอยุธยา การแสดงได้รับความนิยมในชนชั้นปกครองและกลุ่มศิลปินในกรุงรัตนปุระอังวะ กระทั่งในช่วงปลายรัชสมัยพระเจ้าปดุง (พ.ศ. ๒๓๒๕–๒๓๖๒) ที่ประชาชนทั่วไปเริ่มรับรู้ถึงความบันเทิงรูปแบบใหม่ โดยที่บรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่กระจายไปทั่วประเทศ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การแสดงแพร่ออกไปหลังจัดคณะละครจากเมืองหลวงติดตามไปแสดงระหว่างเดินทางไปต่างเมืองด้วย
สมัยพระเจ้าจิงกูจา (พ.ศ. ๒๓๑๙–๒๓๒๔) เสด็จขึ้นครองราชย์ บรรยากาศในราชสำนักยังมีกลิ่นอายความหรูหราร่ำรวยทางวัฒนธรรม พระนางตเคง พระมเหสีเอกของพระเจ้าจิงกูจาทรงเป็นนักเขียน และกวีเอกที่ทรงพระปรีชาสามารถยิ่ง ทรงเป็นผู้สนับสนุนส่งเสริมการแสดงรามเกียรติ์ ซึ่งในภาษาพม่าเรียกกันว่า "ชาดก” (Yama Zatdaw) และยังเป็นผู้นำเพลงของพม่าที่แต่งขึ้นใหม่มาประกอบการแสดงแทนของเดิมของชาวกรุงศรีอยุธยาที่เริ่มเสื่อมความนิยม ไม่เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงในเพลง เชื่อว่าการแต่งกายก็เริ่มเปลี่ยนแปลงในสมัยนี้ด้วย
ในยุคพระเจ้ามินดง ถือเป็นยุคเสื่อมของยามะซ่ะต่อ เพราะพระเจ้าอยู่หัวทรงเคร่งครัดในพุทธศาสนา ทรงมองว่าละครเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ จึงไม่ค่อยปรากฏการแสดงรามเกียรติ์ทั้งเรื่อง หากเหลือเพียงการแสดงบางตอนที่ถูกใจข้าราชสำนักเท่านั้น
ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญช่วงสุดท้ายของการละครในราชสำนักพม่าคือสมัยพระเจ้าธีบอ (พ.ศ. ๒๔๒๑–๒๔๒๘) ทั้งพระองค์และพระนางศุภยลัต พระราชินีผู้ถูกบันทึกว่าเป็นผู้หยิ่งยโสและก้าวร้าว ทั้งสองพระองค์ทรงอยู่ในพระราชวังที่แวดล้อมด้วยความมั่งคั่ง จึงสนพระทัยเพียงการละครและพระราชพิธีในราชสำนักเท่านั้น
ปลายรัชสมัยพระเจ้าธีบอ มีการสร้างโรงละครหลวง และโรงละครชั่วคราวอีก ๒ โรง แสดงรามาชาดกทั้ง ๒ โรง ผู้ชมเป็นข้าราชสำนักชายของพระเจ้าธีบอ ส่วนฝั่งหญิงจะนิยมเรื่องอิเหนา
จุดเสื่อมของการแสดงตั้งต้นขึ้น เมื่อมีการรวมพม่าตอนเหนือของอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ คณะละครของราชสำนักแตกกระเซ็นกันไป บางคนออกไปตั้งวงของตัวเอง บางคนไปสมัครถวายงานในราชสำนักของเจ้าฟ้ารัฐฉาน
และในเวลาต่อมามีครูละครคนหนึ่งตัดสินใจไปตั้งคณะละครในพม่าส่วนที่ตกเป็นของอังกฤษ เพราะมิอาจทนสภาวะการเมืองที่ไม่ปกติในราชสำนักได้ และแสดงกันเองกลางพื้นดินเพราะไม่มีเวทีและฉากสวยงามดังก่อน
รามายณะพม่า จะแสดงร่วมกับวงดนตรี ซายวาย วงปี่พาทย์ที่มีเปิงมางคอกเป็นเครื่องดนตรีชิ้นเอก และอาจเรียกวงปี่พาทย์ชนิดนี้ว่า ปัตซาย ส่วนตัวเปิงมางคอกนั้น จะเรียกว่า ปัตวาย ซายวาย เป็นวงดนตรีประจำชาติของพม่า ที่ใช้ในงานพิธี และงานบันเทิง มีเล่นทั้งในงานหลวง งานวัด และงานราษฎร์ ปัจจุบันพม่ายังคงมีความนิยมนำวงซายวายมาเล่นในงานพิธีต่างๆ เช่น งานบวช งานเจาะหู งานทรงเจ้า งานรับปริญญา และงานต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง เสียงดนตรีที่บรรเลงจากวงซายวายนั้นมีลีลาที่เป็นตัวของตัวเองอย่างมากให้ทั้งอารมณ์สนุกสนาน เร้าใจ และโศกสลด ซายวายจึงนับเป็นวงดนตรีที่เล่นได้หลายรสและถือเป็นเอกลักษณ์ทางคีตศิลป์อย่างหนึ่งของพม่า
รามายณะอินโดนีเซีย
หลักฐานว่ามีการละเล่นสวมหน้ากากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เก่าที่สุดอยู่ในเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย พงศาวดารของราชวงศ์มัชปาหิต ในภาคตะวันออก ของเกาะชวา ที่ชื่อ "นาครเกียรตาคม" ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อราวๆ พ.ศ. ๑๘๐๐ ได้บันทึกไว้ว่า กษัตริย์องค์หนึ่งในราชวงศ์นี้ ที่ทรงพระนามว่า หะยัม วูรุค ทรงสวมหน้ากากทองคำ และร่ายรำโตเป็ง (Topeng)
ระบำหน้ากาก "โตเป็ง” บางทีก็เรียกว่า วายังหรือวายัง โตเป็ง (Wayang Gedok) ปัจจุบันในชวาก็ยังมีการละเล่นชนิดนี้อยู่ แต่เรื่องที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ ทำไมกษัตริย์ชวาถึงต้องมารำหน้ากาก
เรื่องนี้ชวนให้นึกถึงธรรมเนียมในสยามประเทศ อย่างการที่พระมหากษัตริย์จะทรงพระแสงของ้าว รำพัดชา บนกระพองช้างพระที่นั่ง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาต่อพระพุทธบาท (วัดพระพุทธบาท ราชวรมหาวิหาร จ.สระบุรี) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แต่ดั้งเดิมนั้นสิ่งที่เราเห็นในปัจจุบันเรียกว่า "การละเล่น” หรือ "การแสดง” นั้น แท้จริงเป็น "พิธีกรรม” ต่างหาก
ในอินโดนีเซีย รามายณะมาพร้อมกับอารยธรรมฮินดู เข้าสู่ดินแดนชวาตะวันออก และ ชวากลาง แล้วแพร่เข้าไปยังเกาะบาหลี เรื่องพระรามหรือ เสรัด รามา แต่งขึ้นเพื่อการแสดงหุ่น และ ละคร การแสดงในลักษณะเหมือนกับละครรำ มี ๒ แบบใหญ่ คือ แบบชวา และ แบบบาหลี
ในเกาะชวา การแสดงรามายณะเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงที่เรียกว่า "วายัง วอง” ในชวากลาง เช่นที่เทวสถาน บรัมมานัน และที่เมืองยกยาการ์ตา เป็นต้น ในเกาะบาหลี การแสดงรามายณะแบ่งได้อีก ๒ แบบ ได้แก่ Sendratari แสดงที่เมืองอูบุด และอีกแบบหนึ่งคือ Kecak แสดงที่ วัดอูลูวาดู ตอนที่นิยมแสดง เช่น ราวณะลักนางสีดา สุครีพรบพาลี ศึกกุมภกรรณ หนุมานเผาลงกา พระรามรบราวณะ การพิสูจน์ความบริสุทธ์ของนางสีดา เป็นต้น ชื่อตัวละคร และสถานที่ต่างๆ มีเค้ามาจากภาษาสันสกฤต แต่ออกเสียงตามแบบอินโดนีเซีย เช่น รามา เลสมานา ซินตา ซุกรีวา ซุบาลี คุมโบคาโน ฮาโนมาน เป็นต้น
การแสดงรามายณะแพร่หลายอย่างกว้างขวางในอินโดนีเซีย มีคณะการแสดงในหลายๆ เมือง ซึ่งมีศิลปะการแสดงและการแต่งกายเฉพาะถิ่น เช่น ในจาการ์ต้า ซุนดา สุราการ์ตา สุราบายา เป็นต้น แสดงความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่หล่อหลอมเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศอินโดนีเซีย
รามายณะมาเลเซีย และรามายณะสิงคโปร์ มีสถานภาพที่ใกล้เคียงกัน เนื่องจากรามายณะเป็นเรื่องราวในศาสนาพราหมณ์ ดังนั้น ผู้สนใจนำเรื่องรามายณะมาใช้แสดงจึงเป็นชาวฮินดูในทั้งสองประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่ และใช้ศิลปะการแสดงแบบอินเดียที่เรียกว่า ภารตนาฏยัม มาเป็นรูปแบบในการแสดงกับเครื่องดนตรีอินเดีย นั้นเอง