กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
ไฟฝันงานศิลป์ของ อินสนธิ์ วงค์สาม

วันที่ 19 พ.ย. 2562
 
นิทัศน์วัฒนธรรม เรื่อง : กุลธิดา สืบหล้า
ภาพ : วิศาล น้ำค้าง
 
 
ไฟฝันงานศิลป์
ของอินสนธิ์ วงค์สาม
 
 
     เมฆทึมเทาห่มคลุมท้องฟ้าเมืองลำพูนตั้งแต่เช้า กิ่งไม้ชุ่มฝนเมื่อคืนโน้มเอนเข้าหากันราวกับหลังคาใบไม้ ร่มและสบายคือความรื่นรมย์ยามได้เดินอยู่ท่ามกลางเรือนไม้หลายหลังกระจายอยู่ตรงนั้นตรงนี้ทั่วบริเวณกว่า ๒๘ ไร่ ของหอศิลป อุทยานธรรมะ ที่ซึ่งอินสนธิ์ วงค์สาม ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) พ.ศ. ๒๕๔๒ และเวนีเชีย วอลกี หรือป้าแหม่ม ประติมากรหญิงชาวอังกฤษ คู่ชีวิตที่จากไปเมื่อสองปีก่อน ร่วมกันบุกเบิกขึ้นมา
 
     เรือนไม้เก่าที่นำมาประกอบใหม่เหล่านี้คือที่จัดแสดงงานศิลปะ หลังที่กรุกระจกทางด้านในสุดติดป้ายเล็กๆ ว่า Boo Coffee ร้านกาแฟนี้ตกแต่งชวนมองยิ่งนัก ยังไม่ทันละสายตาจากบานประตูอินเดีย ชายวัย ๘๕ ปี ก็เดินถือไม้เท้าออกมาอย่างแช่มช้า ทว่าผึ่งผายภูมิฐาน ลุงอินสนธิ์นั่นเอง ผู้สวมหมวกสักหลาดและนาฬิกาสีเหลืองเรือนนั้น
 
     ลุงอินสนธิ์เกิดในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ที่จังหวัดลำพูน เป็นลูกชายคนโตของเจ้าหนานหมื่น วงค์สาม กับแม่เปาคำ วงค์ต๊ะ ซึ่งทั้งคู่เป็นชาวยอง พ่อของลุงมีเชื้อสายเจ้าจากเมืองยอง ส่วนแม่เป็นลูกพ่อค้าวัวต่าง พ่อของลุงอินสนธิ์ชำนาญทั้งการทำเงิน ทำทอง เจียระไนเพชรพลอย เพราะสืบทอดวิชาความรู้มาจากสายตระกูลเจ้ายอง โดยเน้นทำเครื่องประดับอย่างประณีตวิจิตรสำหรับชนชั้นสูง ไม่เพียงเท่านั้น พ่อยังมีทักษะด้านงานปูน งานปั้น และงานกระจก ซึ่งตั้งใจทำเพื่อรับใช้พระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า พ่อคือผู้จุดประกายความเป็นสล่า หรือ "นายช่าง” ในตัวของลุงอินสนธิ์ตั้งแต่เด็ก
 
     หลังจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่จังหวัดลำพูน ลุงอินสนธิ์เข้ากรุงเทพฯ มาเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมศิลปากร ก่อนจะเข้าเรียนต่อที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เป็นลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
 
     ระหว่างเรียนที่ศิลปากร มีช่วงหนึ่งศาสตราจารย์ศิลป์ต้องส่งลุงอินสนธิ์ ซึ่งตอนนั้นเกิดอาการ "ขบถต่อสังคม” ไปบวชที่วัดพระธาตุดอยสุเทพฯ เป็นเวลา ๑ เดือน ก่อนจะกลับมาเรียนต่อด้วยความสงบมากขึ้น "เด็กคนนี้ไม่มีอะไรหรอก เวลาดื้อมากๆ เขาไม่ต้องการใคร ให้จับเขาไปอยู่ป่าเงียบๆ สักระยะก็หาย” ศาสตราจารย์ศิลป์เคยพูดถึงลุงอินสนธิ์ไว้เช่นนี้
 

     หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ลุงอินสนธิ์มีโอกาสเดินทางไปทุกจังหวัดของประเทศไทยเพื่อเปิดรับสิ่งต่างๆ ที่ได้พบเจอสะสมเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานศิลปะ กระทั่งนำไปสู่ความคิดว่าอยากจะเดินทางรอบโลก โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ดินแดนแสนงดงามและอดีตศูนย์กลางเรอเนสซองซ์ในประวัติศาสตร์ศิลป์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของคอร์ราโด เฟโรจี หรือศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี นั่นเอง
 
     หลังจากศาสตราจารย์ศิลป์เสียชีวิต ลุงอินสนธิ์ก็ออกเดินทาง ชีวิตช่วงนี้อย่างที่รู้กันว่าเต็มไปด้วยเรื่องราวโลดโผน เมื่อลุงอินสนธิ์กับสกูตเตอร์แลมเบรตตามุ่งหน้าสู่ภาคใต้ของประเทศไทยเข้าสู่เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย จากนั้นลงเรือไปยังเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย แล้วขี่แลมเบรตตาต่อไปยังกรุงนิวเดลี ผ่านเมืองต่างๆ ของอินเดียเข้าสู่ปากีสถาน อิหร่าน ตุรกี กรีซ เมื่อถึงอิตาลี ได้เดินทางไปจนถึงบ้านเกิดของศาสตราจารย์ศิลป์ และมีโอกาสจัดแสดงงานศิลปะในเมืองฟลอเรนซ์สมใจ ก่อนจะต้องนำเจ้าแลมเบรตตาที่ทรุดโทรมไปฝากไว้กับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโรม แล้วนั่งรถไฟต่อไปยังกรุงเวียนนา อยู่ที่นั่น ๔ เดือน จึงต่อไปยังซูริก ฝรั่งเศส และปักหลักอยู่อเมริกาในที่สุด
 
     ชีวิตศิลปินพลัดถิ่นนั้นช่างยากลำบาก เพราะต้องหาเงินเป็นค่าใช้จ่ายไปตลอดทาง "บางช่วงมี บางช่วงก็อดครับ” ลุงอินสนธิ์เล่าพลางยิ้ม "ขายรูปได้ก็มีกิน ช่วงที่ต้องซ่อมรถก็อาศัยเขียนรูปแลกค่าซ่อม เขียนรูปแลกที่พักบ้าง ตอนลำบากน่ะ ไม่เคยคิดถึงบ้านหรอก แต่ตอนสบายนี่สิ อยากกลับ” ลุงอินสนธิ์ว่า
 
     ลุงอินสนธิ์แต่งงานกับคุณบาร์บารา ผู้ให้กำเนิดบุตรชายคนเดียวชื่ออินสนธิ์วู้ด ซึ่งปัจจุบันยังคงอาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา (ปัจจุบันคุณบาร์บาราเสียชีวิตแล้ว) ลุงอินสนธิ์แต่งงานครั้งที่สองกับคุณลอร์รา สาวชาวอเมริกัน อย่างไรก็ตาม การใช้ชีวิตแบบชาวอเมริกันเต็มรูปแบบก็เริ่มทำให้ลุงอินสนธิ์เครียดและเริ่มตระหนักว่า นี่ไม่ใช่ชีวิตที่ศิลปินคนหนึ่งต้องการเสียแล้ว
 
 
     ลุงอินสนธิ์ปล่อยวางทุกอย่างที่อเมริกา เดินทางกลับมาจังหวัดลำพูนในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ อาศัยอยู่เพียงลำพังห่างไกลจากผู้คน ณ บ้านห้วยไฟ ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา วันๆ หนึ่งหมดไปกับการทำสวน ปลูกผักกินเอง และแน่นอน งานศิลปะคือสิ่งเดียวที่คอยเยียวยาปลอบประโลม
 
     ปี พ.ศ. ๒๕๑๗-๒๕๒๐ คือช่วงเวลา ๓ ปี อันสงบที่บ้านห้วยไฟ ระหว่างนั้นลุงอินสนธิ์สร้างงานศิลปะจากเครื่องไม้เครื่องมือเท่าที่มี ได้แก่ ตอไม้ ขวาน มีด และกระจก รวมถึงชิ้นมาสเตอร์พีซ "คู่เดียวในโลก” ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในเรือนไม้ที่ชื่อ "บ้านห้วยไฟ” หากขึ้นไปชั้นบนเราจะเห็นงานชิ้นนี้ตั้งอยู่อย่างโดดเด่น นี่คือสัญลักษณ์ของชายและหญิง สร้างสรรค์จากไม้ประดู่ ไม้สัก และความเพียร
 
     และแล้วศิลปินหนุ่มใหญ่ผู้ไม่ยี่หระกับสังคม ก็ได้รับการแนะนำให้รู้จักประติมากรหญิงชาวอังกฤษ ซึ่งกำลังจะเดินทางกลับอังกฤษในอีกไม่กี่วัน เธอคือเวนีเชีย วอลกี ผู้ซึ่งท้ายที่สุดก็ไม่ได้เดินทางกลับอังกฤษ แต่อยู่เป็นคู่ชีวิตลุงอินสนธิ์นานถึง ๔๒ ปี และเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๐
 
     ลุงอินสนธิ์ชวนเราเดินไปทั่วบริเวณอย่างช้าๆ โดยมีอรัญญา กัณฑอุโมงค์-หลานสาว ช่วยประคองทั้งสองพาชมเรือนไม้หลายต่อหลายหลังที่ซื้อมาและประกอบขึ้นใหม่ ซึ่งด้านในจัดแสดงงานศิลปะที่แสนตรึงตรา
     ทุกวันนี้ลุงอินสนธิ์ตื่นตั้งแต่ตีสามตีสี่ จากนั้นจะนั่งสเก็ตช์ภาพสีน้ำ หรือจับงาน Drawing ที่โต๊ะทำงานในบ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ศาสตราจารย์ศิลป์เน้นย้ำให้ลูกศิษย์ทำทุกวัน เพื่อจะได้เกิดไอเดียใหม่ๆ มีช่วงพักผ่อนตอนกลางวัน ส่วนช่วงเย็นเป็นเวลาของงานภาพพิมพ์ในอาคารที่ชื่อ "โรงพิมพ์พ่อ”
 
 
     "ผมไม่อยากให้ตัวเองว่าง ไม่อย่างนั้นจะคิดแต่เรื่องของตัวเองว่าตัวเองแก่แล้วอย่างนั้นอย่างนี้ ผมให้ศิลปะบำบัด ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ผมบำบัดด้วยการทำงาน” ลุงอินสนธิ์พูดขณะพวกเราอยู่ในบ้าน "มาเอง” บ้านพักส่วนตัวชื่อเดียวกับแมวที่มาอยู่เอง เต็มไปด้วยงานศิลปะและรายละเอียดการตกแต่งที่ไม่อาจละสายตา
 
     "เราทุกคนล้วนทำงานศิลปะครับ” ลุงอินสนธิ์พูดขึ้นขณะเราเดินไปยังอาคารสุดท้าย "คนขายก๋วยเตี๋ยวทำงานศิลปะใส่ท้องคนอื่น ส่วนผมก็ทำงานศิลปะใส่ใจคนอื่นเหมือนกัน”
 
     อาคารหลังสุดท้ายที่พวกเราเข้าชมมีชื่อว่า "ส้นตีนอินสนธิ์” นี่คือที่จัดแสดงภาพนามธรรมจากการที่ลุงอินสนธิ์ใช้ส้นเท้าละเลงสีน้ำมันด้วยเทคนิคเฉพาะตัว เกิดเป็นสีผสมสวยแปลกตา น่าสนใจยิ่งนัก
 
     "เดินทางไกลมามากแล้ว ขอเดินใกล้ๆ บ้าง” เป็นเหตุผลว่าทำไมลุงอินสนธิ์ถึงคิดทำงานศิลปะรูปแบบแปลกๆ นี้ขึ้นมา เดินชมแล้วอดยิ้มไม่ได้
 
     ทุกวันนี้ศิลปินแห่งชาติวัย ๘๕ ปี ยังสนุกกับการทำภาพพิมพ์ และวางเป้าหมายต่อไป คือ จัดแสดงงานตอนอายุ ๙๐ ปี ตลอดจนการทำอนุสรณ์สถานของตนเองและป้าแหม่มขนาดสูง ๓ เมตร กว้าง ๓ เมตร ด้านในจัดแสดงงานศิลปะของทั้งสอง โดยอาจจะเริ่มทำในปีหน้า
 
     บ่ายคล้อยได้เวลาที่ลุงอินสนธิ์ควรต้องพักผ่อน ฝนพรำ เราล่ำลากันอย่างเรียบง่าย แต่ดิ่งลึกลงไปในความหลงใหลแห่งงานศิลป์ของผู้ชายคนหนึ่งที่อยู่กับสิ่งนี้มาทั้งชีวิต
 
 
     หอศิลป อุทยานธรรมะ
  •  เลขที่ ๑๐๙/๒ หมู่ ๑ บ้านป่าซางน้อย อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน (ใช้เส้นทางไปตามทางหลวง- หมายเลข ๑๐๖ และเข้าซอยป่าซางงาม ๑๑ ข้างตลาดปาซางไป ๕๐๐ เมตร)
  • ปิดให้เข้าชม วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา ๑๐.๐๐-๑๖.๐๐ น. และวันจันทร์-ศุกร์ ต้องนัดหมายล่วงหน้า
  • อบถามเพิ่มเติม โทร ๐ ๕๓๕๑ ๑๖๐๙, ๐ ๕๓๕๑ ๐๖๓๙
 
ข้อมูล : วารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ ๓ ปี ๒๕๖๒
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)