กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
font size small font size normal font size big
หน้าแรก
Search


ข่าวสาร >> บทความ >> วัฒนธรรมประเพณี
หาดสองแคว... แง่งามวัฒนธรรมลาวเวียง

วันที่ 11 พ.ย. 2562
 
เรื่อง : ฐากูร โกมารกุล ณ นคร
ภาพ : ทวี ศิริ,ชุมชนลาวเวียงหาดสองแคว อุตรดิตถ์
 
 
หาดสองแคว... แง่งามวัฒนธรรมลาวเวียง
 
 
     กลางโอบล้อมของทิวเขาสลับซับซ้อน หย่อมที่ราบเล็กๆ ปรากฏเป็นหมู่บ้านเล็ก ณ พิกัดบริเวณลำคลองตรอนไหลบรรจบสายน้ำน่าน กลายเป็นที่มาของบ้านหาดสองแคว หมู่บ้านกสิกรรมเรียบง่ายในเขตอำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ซึ่งหากนับย้อนกลับไป ชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีของพวกเขาเก่าแก่มาเคียงคู่กับประวัติศาสตร์ของบ้านเรือนถนนเล็กๆ สายดั้งเดิมทางฟากตะวันตกของแม่น้ำน่านก่อเกิดเป็นย่านที่อยู่อาศัย ผู้คนของบ้านหาดสองแควก็เช่นกัน พวกเขาเปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์ทั้งภาษาและการแต่งกาย รวมไปถึงรูปแบบชีวิตที่ผูกพันกับพระพุทธศาสนาเรื่อยมา
 
     คนบ้านหาดสองแควสืบเชื้อสายมาจากชาวลาวเวียงจันทน์ อันสืบเนื่องย้อนไปได้ถึงตอนต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เหตุผลทางศึกสงครามของสยามกับล้านช้างนำพาไปสู่การรบพุ่งครั้งสำคัญคือเหตุการณ์ปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ การศึกในแดนดินลาวแต่ครั้งอดีต ราวปี พ.ศ. ๒๓๗๑ ส่งผลถึงการกวาดต้อนผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์กลับมาในฐานะทรัพยากร เกิดการเทครัวและโยกย้ายอพยพข้ามขุนเขาและสายน้ำโขง ชาวลาวเวียง ทั้งจากเวียงจันทน์และหลวงพระบางคือหนึ่งในผู้คนเหล่านั้น ที่ต่างเดินเท้าข้ามพรมแดนมาปักหลักในแผ่นดินไทยเนิ่นนาน
 
     คนลาวเวียงกระจัดกระจายกันปักหลักอาศัยริมแม่น้ำสำคัญในเขตแดนไทย ตั้งแต่ตอนเหนือไล่เลยไปถึงที่ราบลุ่มภาคกลาง อย่างพิจิตร นครปฐม สระบุรี ราชบุรี แม้กระทั่งในเขตธนบุรีของกรุงเทพมหานคร
 
 
     สำหรับบ้านหาดสองแคว บรรพบุรุษของคนที่นี่เลือกปักหลักและอยู่กินอย่างสุขสงบที่หมู่บ้านกองโค ในเขตอำเภอพิชัยมาในยุคแรกเริ่ม ก่อนที่จะโยกย้ายมายังริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตกของอำเภอตรอน ชีวิตที่ผูกพันกับภูเขาไร่นาตกทอดเป็นหมู่บ้านสวยงามเรียบง่าย คนลาวเวียงบ้านรวมตัวกันอยู่ที่หาดสองแควเป็นจุดหนาแน่น ก่อนจะกระจายออกไปตามชุมชนอื่นๆ ในละแวกใกล้เคียงอย่างบ้านเด่นสำโรง บ้านวังแดง และบ้านสะโม
 
     ท่ามกลางชีวิตที่เปลี่ยนแปลงแผ่นผืนดิน คนบ้านหาดสองแควกลับเต็มไปด้วยเอกลักษณ์ต่างๆ ชัดเจนในวัฒนธรรมที่สืบทอดจากปู่ย่าตาทวด ทั้งการพูดจาด้วยภาษาลาวแบบดั้งเดิม โดยที่นักวิชาการทางภาษาศาสตร์บางท่านลงความเห็นว่า คนที่นี่มีสำเนียงเป็นเอกลักษณ์ ไม่เฉพาะกับคนต่างเชื้อชาติ แต่ยังมีสำเนียงต่างจากลาวเวียงในที่อื่นๆ ไม่น้อย
 
     ผู้หญิงในเสื้อผ้าฝ้ายขาวสะอ้าน นุ่งซิ่นสีพื้น ขณะผู้ชายที่นุ่งกางเกงขาก๊วยสีทึบทึม ตลอดจนรูปแบบชีวิตที่ผูกพันกับไร่นาและพระพุทธศาสนาตกทอดเป็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์เรื่อยมา ไม่เพียงเท่านั้น คนลาวเวียงบ้านหาดสองแควยังผสมผสานเรื่องราวความเป็นอยู่ของพวกเขาเข้ากับโลกของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในปัจจุบัน พวกเขาจัด "ถนนสายวัฒนธรรมชุมชนลาวเวียง” ขึ้นหน้าวัดหาดสองแคว ริมสายน้ำเก่าแก่ที่เป็นต้นทางของการปักหลักเติบโต
 
     รูปแบบชีวิตจากอดีตจวบปัจจุบันอันผสมผสานทั้งรากเหง้าเก่าแก่และการปรับเปลี่ยนพัฒนาถูกเล่าขานต่อผู้มาเยือนผ่านจุดท่องเที่ยวและกิจกรรมนานา ทั้งภาษา อาหารพื้นเมือง งานหัตถกรรม รวมไปถึงวัดวาอารามคู่บ้านคู่เมือง
 
     หากใครได้มาค้างคืนในรูปแบบโฮมสเตย์ ยามที่พระสงฆ์ตีเกราะเคาะไม้ไผ่เป็นเสียงสัญญาณถึงการออกบิณฑบาตเช่นในอดีต พวกเขา จะได้รู้จักการ "หาบจังหัน” ของคนลาวเวียงบ้านหาดสองแคว "จังหัน” นั้นหมายถึงนานาภัตตาหารที่ชาวบ้านถวายแด่พระสงฆ์ โดยที่พวกเขาจะใส่บาตรแต่เพียงข้าวเจ้าเท่านั้น จากนั้นจะมี "นายหาบ” หรือ "นางหาบ” เป็นตัวแทนผู้คนคอยหาบจังหันไปถวายพระที่วัดเองแยกออกไป
 
 
     บ้านหาดสองแควเต็มไปด้วยวัดเก่าแก่คู่ชุมชน อย่างวัดบ้านแก่งใต้ ที่เป็นที่ประดิษฐาน "หลวงพ่ออกแตก” เก่าแก่มาตั้งแต่ราวกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เล่ากันว่าครั้งพม่ายกทัพมาตีและยึดเมืองไว้ เหล่าชาวบ้านในอดีตช่วยกันก่อปูนปิดองค์พระพุทธรูปศิลาแลงไว้ด้านใน ขณะที่วัดคลึงคราช คือวัดโบราณที่เล่าขานตำนานที่ตั้งว่าอยู่ในเมืองของชูชก ตามพระเวสสันดรชาดก
 
     พิพิธภัณฑ์ชุมชนของวัดหาดสองแควเต็มไปด้วยรูปรอยอดีตที่เล่าขานผ่านโบราณวัตถุและข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่บอกเล่าชีวิตความเป็นอยู่ของคนลาวเวียงหาดสองแคว และวัดแห่งนี้ยังเกี่ยวเนื่องกับครูจันทร์ เจ้าอาวาสรูปแรกผู้ก่อตั้งวัดและเป็นผู้ศึกษารวบรวมเรื่องราวความเป็นอยู่ของผู้คนลาวเวียงไว้อย่างละเอียดสมบูรณ์จนทุกวันนี้
 
     บนถนนสายวัฒนธรรมชุมชนลาวเวียงที่จัดขึ้นในทุกวันศุกร์แรกของเดือนนั้น เต็มไปด้วยบรรยากาศที่พาผู้มาเยือนย้อนไปในอดีตของคนบ้านลาวเวียงหาดสองแคว ผ่านฉากบ้านไม้ริมแม่น้ำที่งดงาม และหลายอย่างที่สะท้อนถึงชีวิตตามท้องนาท้องไร่ในอดีต การทำข้าวเกรียบหลากรส กล้วยฉาบ น้ำพริก ขนมงาตัด คือของอร่อยคู่คนบ้านนี้ และเป็นอาชีพเสริมหลังหมดฤดูทำนา การร้องรำทำเพลงสื่อสารถึงการผ่อนคลายจากไร่นาและการสืบสานการร้องเล่นอันเป็นวัฒนธรรมติดตัวมาแต่โบร่ำโบราณ
 
     ของกินหลายหลากน่าลิ้มลองสามารถเล่าถึงอัตลักษณ์ของผู้คนหาดสองแควได้อย่างชัดเจน ขนมและอาหารท้องถิ่นอย่าง ขนมวงลาวเวียง ขนมเบื้องลาว ขนมเผือก อั่วบักเผ็ด (พริกยัดไส้) ปลาเกลือ แจ่วเอาะปลาแดก ขนมลูกตุย ขนมขี้หนู ทั้งหมดถูกรื้อฟื้นออกมาจากเรือนครัวคนลาวเวียง กลายเป็นอาหารถิ่นที่รอรับการมาเยือนและทำความรู้จักพวกเขาผ่านวัฒนธรรมอาหารอันมากด้วยเอกลักษณ์
 
 
     ทุกวันศุกร์แรกของเดือน ยามที่ถนนเล็กๆ ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตกในหมู่บ้านเล็กแห่งหนึ่งเต็มไปด้วยการประดับประดาจนงดงาม ขนมและอาหารเรียงรายตามแผง ขณะที่เสียงร้องรำทำเพลงในภาษาลาวอันมีเอกลักษณ์กังวานแว่วอยู่ตามบ้านเรือน ผู้คนตรงนั้นยิ่งเต็มไปด้วยอดีตเก่าแก่ที่พร้อมจะเล่าต่อสู่ผู้มาเยือนผ่านชีวิตตัวตนของพวกเขา ชีวิตของคนลาวเวียงกลุ่มหนึ่งที่งดงามและเต็มไปด้วยเรื่องราวน่าเรียนรู้สัมผัส ชีวิตที่รอนแรมข้ามขุนเขาและแผ่นดินเดิมมาปักหลัก ณ หมู่บ้านสุขสงบริมแม่น้ำน่านอย่างจีรังยั่งยืน
 
     สัมผัสวิถีชีวิตชาวลาวเวียง ใน ๒ วัน ๑ คืน
     วันที่ ๑
• สวมใส่ชุดลาวเวียง
• เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดหาดสองแคว
• รับประทานอาหารพื้นบ้าน
• เยี่ยมชมวัดบ้านแก่งใต้
• เดินเล่นถนนสายวัฒนธรรม รับประทานอาหารพื้นบ้าน
 
     วันที่ ๒
• สวมใส่ชุดลาวเวียง
• อะเมซิ่งตักบาตรหาบจังหัน
• ร่วมกิจกรรมปักเย็บกระเป๋าผ้าลาวเวียง
• เยี่ยมชมวัดคลึงคราช
• ร่วมกิจกรรมทำอาหารพื้นเมืองลาวเวียง
 
    สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กลุ่มโฮมสเตย์หาดสองแคว โทรศัพท์ ๐๘ ๔๕๐๕ ๔๖๗๒ และ ๐๘ ๑๙๗๒ ๑๗๑๔ องค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแคว โทรศัพท์ ๐ ๕๕๔๙ ๖๐๙๘ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ โทรศัพท์ ๐ ๕๕๔๐ ๓๐๙๓
 
ข้อมูล : วารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ ๓ ปี ๒๕๖๒
http://magazine.culture.go.th/2019/3/index.html 
ลิขสิทธิ์ของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์ | การปฏิเสธความรับผิด (Disclaimer)